อุบายขจัดโกรธ
เรื่องโกรธนี้สำคัญ โดยเฉพาะในโลกยุคนี้
เหตุการณ์ 9/11 กับอาคารแฝดเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ หรือ 28 เมษายน การสูญเสียที่กรือเซะ หรือที่ใกล้ตัวเราเข้ามาอีกนิดคือ การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในบ้านเราต่างกรรมต่างวาระ แม้แต่เรื่องราวความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวอย่างเหตุแห่ง “ความโกรธร่วม” ได้ทั้งสิ้น
หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ และ องค์ทะไลลามะ ทั้งคู่ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ “การจัดการ” ความโกรธ เล่มของท่าน ติช นัท ฮันห์ ที่จัดพิมพ์หลังเหตุการณ์ 9/11 (11 กันยายน) เป็นอันขายดีโดยบังเอิญ ส่วนของท่าน ทะไลลามะ คือเล่ม Healing Anger: The Power of Patience from a Buddhist Perspective ซึ่งจัดพิมพ์ในภายหลัง เน้นย้ำถึง “ขันติธรรม” เป็นโอสถเจือจางและรักษาความโกรธ
ในที่นี้ ดิฉันจะขออนุญาตเล่าถึงเฉพาะเล่มหลัง ด้วยเห็นว่ามีกุศโลบายดีๆ ที่กำจัดโกรธได้หลายวิธี ที่เหลือคือความมานะฝึกฝน เพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทำซ้ำๆ และมีวินัย
ลำพังเพียงท่องจำคำ “โกรธนั้น ไม่ดี” ก็ยังไม่ช่วยอะไร การจะขจัดความโกรธในใจได้นั้น ต้องอาศัยความอดทนเป็นยาบรรเทา
อุบายขจัดโกรธในหนังสือเล่มนี้ ท่านทะไลลามะอ้างอิงจากงานเขียนของท่าน สันติเทวะ อีกชั้น ท่านผู้นี้เป็นปราชญ์ เป็นคุรุผู้ใหญ่สายพุทธมหายาน งานชิ้นนี้ประกอบด้วยโคลง 134 บท เขียนในเชิงแสดงเหตุและผล รวมทั้งยกสมมติฐานและข้อโต้แย้งขึ้นมาอรรถาธิบายได้อย่างเฉียบแหลม จับใจผู้อ่าน
ขันติต้องเริ่มจาก “การเห็นโทษ” ของความโกรธ ถ้าเราไม่เห็นโทษของมัน เราก็จะโกรธอยู่เรื่อยไป
หากเราลองนั่งนึกถึงสีหน้าของคนที่กำลังโมโห คนที่น่ารัก สดใส และอารมณ์ดีก็จะกลายเป็นคนไม่หน้ามองไปโดยปริยาย
ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องของคนที่โกรธกัน ปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็เป็นเรื่องของคนที่เกลียดกัน สงครามอิรักก็เป็นเรื่องโกรธเกลียดกัน ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองใส่อารมณ์โกรธากันในประเด็นปัญหาของประชาชนโดยลืมนึกถึงเด็กที่นั่งดูท่านเป็นตัวอย่างอยู่ที่บ้าน
ช่างน่าเศร้ายิ่งนัก เราเห็นตัวอย่างไม่ดีแล้วก็ต้องคอยตักเตือนตัวเอง บุญกุศลใดที่เคยทำมาเป็นอันสูญเปล่าเพียงชั่วพริบตาเพราะความโกรธ
นอกจากนั้น เรายังต้องเล็งเห็น “คุณประโยชน์” ของความทุกข์ที่เกิดขึ้น เป็นต้นว่า ประโยชน์จากการไม่ได้รับความเป็นธรรม นั่นคือ หากมีผู้ปฏิบัติไม่ดีต่อเรา เราเองก็ต้องคิดว่าความทุกข์เล็กน้อยเหล่านี้คือโอกาสที่เอื้อให้เราได้ฝึกฝนตนเอง โดยเฉพาะความอดทนข่มกลั้น และที่ว่าความทุกข์เหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็เพราะ จริงๆ แล้ว โลกนี้มีความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น นั่นคือ “การยึดติดอยู่ในวัฏสงสาร” การจะทนกับทุกข์ขนาดใหญ่เช่นนั้นได้ก็ต้องหัดคุ้นชินกับความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ก่อน และถ้าไม่มีใครทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด เราก็จะไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนตนเอง เพราะฉะนั้น ต้องมองให้เห็นข้อดีของความทุกข์เหล่านี้
และถ้ามองต่อไปว่าคนที่ทำร้ายเราก็มุ่งหวังให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเรายิ่งเป็นทุกข์เดือดร้อนก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีให้เขาสมความปรารถนา และหากเป็นเช่นนี้ ความโกรธและเกลียดนั้นก็จะเป็น “ศัตรูตัวฉกาจที่แท้จริง” เพราะไม่ว่าจะใครก็ตาม ล้วนตกเป็นเหยื่อของความโกรธ ตัวเราและกุศลของเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องระมัดระวังไม่ปล่อยให้ความโกรธเกลียดของเราผุดขึ้นในใจ
ศาสนาพุทธนั้นเชื่อเรื่อง “กรรม” ที่เกิดจาก “เหตุปัจจัย” กฏอิทัปปัจจัยยตาและปฏิจจสมุปบาทย้ำว่า “ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้เอง” สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัยอำนวยให้ปรากฏ การที่มีคนมาทำร้ายเราก็ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย ซึ่งบางครั้ง ตัวเราหรือคนที่ทำร้ายเราก็ไม่มีเจตนา
เช่นเดียวกับอาการเจ็บป่วยที่ไม่ได้มีเจตนาจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นแล้วเนื่องจากผลของเหตุปัจจัยต่างๆ เป็นต้นว่า ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากโมโหเชื้อโรคหรือร่างกายที่อ่อนแอก็ไม่ช่วยให้เราหายป่วยไข้แต่อย่างใด
ถ้าเขาทำร้ายเราก็เท่ากับเขาได้ทำอกุศลกรรมและเป็นเหตุปัจจัยของผลร้ายที่เขาจะได้รับในภายหลังอยู่แล้ว ในสถานการณ์เดียวกันนี้ ตัวเราเองต่างหากที่มีโอกาสประกอบกรรมดีด้วยการบำเพ็ญขันติบารมี และเราต่างหากที่ต้องเห็นใจเขาให้มาก เพราะเรามองเห็นผลกรรมในบั้นปลายของเขา
“ความเห็นอกเห็นใจ” คือ “ความกรุณา” ทั้งสองโอสถนี้จะช่วยเสริมความอดทนข่มกลั้นขจัดโกรธได้
และยิ่งหากเรายินดีที่ได้เห็นศัตรูมีความสุขหรือประสบความสำเร็จก็ยิ่งดี เฉกเช่นเป้าหมายของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
เนื่องจากมนุษย์ทุกชีวิตต้องการความสุข เขาย่อมมีสิทธิแสวงหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ตนเองได้ เช่น การที่เราให้การอุปถัมภ์การเงินแก่ญาติมิตร ถ้าเขาเหล่านั้นหาเลี้ยงชีพได้บนลำแข้งของตัวเอง เราก็ควรยินดี และการที่เขามีสุขเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นผลมาจากความดีของเรา แต่ถ้าเราคิดร้ายกับเขาสิ กลับจะทำให้กุศลของเราหม่นหมอง
อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ศัตรูของเราก็คือผู้มีพระคุณต่อเรา ทำให้เรามีโอกาสฝึกฝนตนเอง วิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นอุบายที่ช่วยในการฝึกฝนเพื่อให้เรามีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ การปฏิบัติธรรมนั้นไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ด้วยการใช้เพียง “ความคิด” หรือ “การคำนวณ” หรือ “การคิดเชิงเหตุและผล”
สุขภาพร่างกายแข็งแรง โภชนาการที่ดี การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจไม่พอ เราต้องพึ่งวินัยในกิจกรรมเหล่านี้ด้วย วินัยในการรับประทาน วินัยในการออกกำลังกาย การจะมีคุณภาพทางวิญญาณที่ดีต้องได้รับอาหารทางจิตวิญญาณและการบำเพ็ญญานไปพร้อมๆ กันด้วย
นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า “การออกกำลังทางจิต”
ท่านทะไลลามะยืนยันว่า มนุษย์แต่ละคนล้วนมีจริตแตกต่างกัน ศรัทธา ความคิด และความเชื่อย่อมขึ้นอยู่กับภูมิหลังทางวัฒนธรรม การศึกษา และวิถีการเรียนรู้
ที่เหลือคือ ความใจกว้าง ยอมรับความหลากหลายของทุกชีวิตและสรรพสิ่งในโลก หากเราเข้าใจดังนี้ ตัวตน และความโกรธของเราย่อมถูกขจัดให้ดับสูญไปโดยปริยาย
โพสต์ทูเดย์ // ชีวิตรื่นรมย์ // 23 ตค 50
ชลนภา อนุกูล
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
media4joy@hotmail.com
www.happymedia.blogspot.com
วันพุธ, ตุลาคม 24, 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น