วันพุธ, พฤศจิกายน 07, 2550
ศิลปะสร้างสุขในชีวิตประจำวัน
เย็นวันหนึ่งขณะกำลังนั่งๆนอนๆในห้องคอนโดชั้น ๔ ข้าพเจ้าเหลือบมองออกไปนอกห้องผ่านประตูกระจกบานใหญ่ เห็นท้องฟ้ายามเย็นงามจับใจ แสงส้มขลิบขอบเมฆเป็นเส้นสายดูบางเบา บางที่แสงสีแสดป้ายระบายเมฆเป็นคลื่นบนฟ้า ข้าพเจ้าไม่อาจละสายตาจากความงามเบื้องหน้าได้ ต้องวางภาระกิจการงานทุกอย่างลง เปิดประตูออกไปนั่งแช่ตรงระเบียงเพื่อชื่นชมสีสันของสนทยายามเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆจนความมืดเข้าครอบคลุม
ความงามและสุนทรีภาพสะกดตาและใจมนุษย์ได้เสมอ ความงามในธรรมชาติทำให้ใจสงบสุขโดยง่ายไร้การบังคับ ข้าพเจ้านึกถึงคำของวิปัสสนาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเคยกล่าวว่า “ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ” ธรรมชาติมีกลวิธีเชื้อเชิญเราเข้าสู่สภาวะสมาธิได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพยายามให้มากเลย เพียงแต่เราต้องหยุดตัวเองบ้าง ช้าลงหน่อยเพื่อชื่นชมความงามเล็กๆน้อยๆในชีวิต
เมื่อมองความงามภายนอกแล้วหันกลับมาดูใจนิดหนึ่งว่าเรารู้สึกอย่างไร ใจของเราเป็นอย่างไร เราคิดอะไรอยู่หรือไม่ สำรวจกายและใจว่าสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่เรากำลังชื่นชมอยู่อย่างไร บางทีเราอาจจะเห็นภาพอันสวยงามนั้นปรากฏในใจเราเหมือนภาพถ่ายและภาพวีดีโอ
ข้าพเจ้าคิดเล่นๆว่า การเฝ้าสังเกตธรรมชาติอย่างเนิ่นนานนี้เป็นกระบวนการทางศิลปะอย่างหนึ่งด้วย คือ งานถ่ายภาพด้วยเลนส์ใจนั่นเอง
ในแต่ละวัน เราน่าจะให้เวลา“ตื่นตาตื่นใจ”กับธรรมชาติอย่างน้อยวันละหนึ่งอย่าง เมื่อเห็นดอกไม้เราอาจจะหยุดและใส่ใจมองดอกไม้นั้นอย่างเต็มที่สักระยะ ลอกสีสันดอกไม้ไว้ในใจ หรือเมื่อเห็นเม็ดฝนตกกระทบบานหน้าต่าง เราจะนั่งมองลายเส้นใสๆที่ไหลย้อยลงมาเป็นลายที่มิอาจคาดเดา เพื่อนคนหนึ่งเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยว่า เขาเคยเฝ้ามองใบไม้ที่ปลิดปลิวจากกิ่ง ค่อยๆลิ้วลู่ตามลม แฉลบไปมาอย่างช้าๆจนกระทบพื้น ในขณะนั้นเอง เวลาดูเหมือนจะหยุดนิ่งและทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง
เปิดตา เปิดใจแล้วเราจะสัมผัสศิลปะแห่งความสุขเช่นนี้ได้ทุกที่ทุกเวลา ยิ่งทำบ่อยยิ่งเกิดสุข สุนทรียภาพ และสมาธิในใจ
กระบวนการศิลปะแบบนี้คงกระตุ้นให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาลองรังสรรค์ “ศิลปะในใจ” ดูบ้าง อันนี้เหมาะกับหลายคนที่คิดว่าตนไม่มีพรสวรรค์หรือทักษะทางศิลปะที่ทางโรงเรียนโดยมากให้คุณค่า แต่กระนั้น การสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อการพัฒนาความสุขและคุณภาพของจิตใจก็ใช่เป็นสิ่งยากเกินเอื้อม โดยเฉพาะหากเราให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานมากกว่าผลงานที่แล้วเสร็จ
แค่การลากเส้นก็ทำให้เกิดความสุขได้แล้ว
วันหนึ่งข้าพเจ้าพบกับนักศิลปะบำบัดจากประเทศฮอลแลนด์ชื่อ ซาบีน่า เธอบอกให้ข้าพเจ้าหยิบสีเครยอนขึ้นมาหนึ่งแท่ง ลากเส้นเป็นรูปตัวยูประมาณกึ่งหนึ่งของหน้ากระดาษ ส่วนเพื่อนของข้าพเจ้าซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามก็ทำเช่นเดียวกันแต่บนพื้นที่อีกครึ่งของกระดาษที่เหลือ จากนั้นเราลากเส้นซ้ำรูปตัวยูทวนเข็มนาฬิกาในขณะที่เพื่อนซึ่งอยู่ตรงกันข้ามก็ทำเช่นเดียวกัน เราต้องขยายเส้นวาดรูปตัวยูของเราไปจนถึงอีกฝั่งของกระดาษ และต้องระวังไม่ให้มือของเราชนกัน
ภาพที่เห็นไม่มีอะไรมากไปกว่ารูปตัวยูเป็นวงชั้นๆ ไม่ได้วิจิตรพิศดาลอะไร แต่ที่สำคัญคือช่วงที่เราลากเส้นไปมานั้น เรารู้สึกอย่างไร สำหรับคู่ของข้าพเจ้า เราสามารถวาดเส้นตัวยูไปตามมือ ตามใจของเราโดยไม่ชนกัน สำหรับข้าพเจ้ายิ่งลากเส้นยาวขึ้น ยิ่งรู้สึกสนุก อิสระและผ่อนคลาย ความเครียดกังวลที่มีอยู่สลายไปเลย ข้าพเจ้าค้นพบว่าบางทีในเวลาเครียดกังวล หยิบดินสอหรือสีมาสักแท่งแล้วลากไปเรื่อยๆ หรือลากยาวจากปลายกระดาษหนึ่งถึงอีกฝั่ง ก็อาจช่วยคลายเกลียวความวิตกได้บ้าง
กิจกรรมลากเส้นนี้ยังทำให้เราได้รู้จักตัวตนภายในอีกด้วย ชายคนหนึ่งที่ร่วมกิจกรรมนี้สะท้อนว่า “ผมลากเส้นไปโดยไม่ดูเลยว่าอีกฝ่ายอยู่ตรงไหนแล้ว ผมนำไปก่อนเลยเพราะต้องการทำให้ได้ตามที่ได้รับคำสั่ง อีกฝ่ายดูเหมือนต้องตามผมเอง แต่พอแขนเราชนกัน ติดขัดบ่อยขึ้น ผมเรียนรู้ที่จะช้าลง และดูจังหวะของคู่ทำงานของผมด้วย”
ภาพที่ปรากฏบนบนกระดาษบวกกับการหวนระลึกถึงความรู้สึกในขณะที่ทำ สะท้อนความโน้มเอียงของบุคลิกภาพภายในและพฤติกรรมที่เราอาจไม่เคยรับรู้หรือตระหนักชัดมาก่อน และการรู้จักตัวเองเช่นนี้เองที่จะนำเราไปสู่หนทางแห่งการแปรเปลี่ยน
ในการทำงานศิลปะแบบเน้นกระบวนการนี้ มือเป็นจุดเชื่อมไปถึงใจ ข้าพเจ้านึกถึงการทำงานปั้นครั้งหนึ่ง นักศิลปะบำบัดบอกให้ข้าพเจ้าปั้นดินน้ำมันในมือให้เป็นลูกกลมๆ จากนั้นบิออกเป็นเม็ดกลมเล็กๆ แล้วเอาเม็ดกลมเล็กๆนั้นมาแปะ ปะ เชื่อมเป็นอะไรก็ได้ที่มือและใจพาไป ทำไปเรื่อยๆจนกว่าดินน้ำมันลูกกลมใหญ่จะหายไปหมด ที่สำคัญห้ามใช้การวางแผน ขบคิด วาดภาพไว้ก่อนในการทำงาน
“การปั้นโดยไม่ใช้สมอง” ในครั้งนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเห็นก้อนทุกข์ที่ข้าพเจ้าฝังกลบอย่างมิดชิดในใจ ระหว่างนั่งบิดินน้ำมันและปะติดปะต่อเป็นรูปร่างอื่น ข้าพเจ้าหยุดชะงักเมื่อเห็นก้อนงานคล้ายลูกน้อยหน่า ตาของข้าพเจ้าเปียกแฉะ ก้อนที่จิตสำนึกดาดๆในสังคมทั่วไปต้องตัดสินว่าเป็นงานโง่งมไร้ความงามอย่างสิ้นเชิง ทำให้ข้าพเจ้านึกถึง “ก้อนมะเร็ง” ในเสี้ยววินาทีนั้นข้าพเจ้ารู้ทันทีว่าความเครียด ความหดหู่โดยไม่รู้สาเหตุในระยะสองอาทิตย์นั้นมาจากไหน เพื่อนของข้าพเจ้ากำลังป่วยด้วยมะเร็งระยะสุดท้ายและเธอชื่อน้อยหน่า
อีกคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ได้โจทย์ให้ปั้นดินไปเรื่อยๆ โดยไม่คิด ให้ใจขึ้นรูปดินไปเรื่อยๆ สักพักดินที่อยู่ในมือข้าพเจ้าดูละม้ายคล้ายมดลูก สำหรับนักศิลปะบำบัดแล้ว รูปร่างที่ปรากฏไม่สำคัญเท่ากับว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้น งานที่ปรากฏนำประสบการณ์ ความทรงจำ เรื่องราวและความรู้สึกอะไรมาให้ข้าพเจ้า สำหรับก้อนมดลูกนี้สะท้อนความกังวลของตนเองต่ออวัยวะที่เป็นปัญหาสุขภาพของข้าพเจ้าในเวลานั้น
การปั้นโดยไม่คิดหรือวางแผนผลงานไว้ก่อนทำให้บางอย่างที่เราเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึกผุดปรากฏออกมา เมื่อเห็นปัญหา เราก็หาทางแก้ได้ตรงจุด
การทำงานทางศิลปะในลักษณะนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่อยู่ในภาวะไม่สบายกาย ไม่สบายใจ นักศิลปะบำบัดนำเอาการทำงานทางศิลปะให้ผู้ป่วยและเด็กที่ป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความเพลิดเพลินและเยียวยาความทุกข์บางอย่าง อีกทั้งเราจะทราบถึงปมปัญหาบางอย่างที่เด็กหรือผู้ป่วยไม่บอกเรา
หญิงคนหนึ่งเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวและหดหู่ซึ่งอาจจะมาจากการที่เธอเป็นมะเร็ง เมื่อแรกที่มาเข้าร่วมกระบวนการศิลปะบำบัด เธอระบายสีน้ำด้วยสีสดใสแต่รูปทรงทุกอย่างมีเส้นกรอบชัดเจน นักศิลปะบำบัดช่วยแนะให้เธอผสมสีและป้ายสีผสมกันบ้าง เช่นท้องฟ้าก็ใช้สีหลายเฉดที่เกลื่อนๆกลืนๆกันก็ได้ หลายครั้งผ่านไป ภาพของเธอเปลี่ยน เส้นกรอบวางเขตแดนของสิ่งต่างๆเริ่มจางลง มีสีผสมมากขึ้น บุคลิกภาพเธอก็เปลี่ยนเช่นกัน เธอเริ่มเปิดตัวเองและสดชื่นมากขึ้น
ถ้าเรามองศิลปะเป็นเรื่องของวิธีการและกระบวนการหนึ่งเพื่อการพัฒนาจิตใจ สติ สมาธิ สรรสร้างความสุขและบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ หรือเยียวยาความเจ็บปวดทางกายและใจ เราสามารถเลือกกลวิธีทางศิลปะได้หลากหลาย ไม่ว่าจะลากเส้น ทำจุด ปั้น แปะกระดาษ ระบายสี แต้มพู่กัน คัดตัวอักษร เป็นต้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การปล่อยให้ใจและมือนำพาการสร้างสรรค์ไป ใช้การคิดวางแผนให้น้อย และในขณะสร้างสรรค์งานหมั่นสำรวจใจว่า รู้สึกอย่างไร งานนั้นกำลังบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราเอง
กรรณจริยา สุขรุ่ง
จากสารเพื่อนเสม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น