วันพุธ, พฤศจิกายน 07, 2550

ดูนก ย้อนดูใจคน

ช่วงปลายฝนต้นหนาว สายลมเย็นโชยทุกยามเช้า ชวนให้ผมคิดถึงการเดินดูนกในป่าเขากับอาจารย์ผู้ใหญ่ใจดี “บัณฑิต ผดุงวิเชียร”
ท่านเป็นข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ครูผู้สอนผมดูนก หัดวาดเขียน และดูหัวใจตนเอง

ภาพของชายวัยเกษียณคล้องกล้องส่องทางไกลขนาดกระชับมือเดินย่างในป่าเขาในความสงัด สายตาที่มองทอดไกลบนยอดไม้ ลึกเข้าไปในพงพุ่ม พร้อมประทับกล้องคู่กายขึ้นส่องทุกวินาที ยังคงเป็นภาพที่ติดตรึงภายในใจ
เรามักเดินทางเป็นกลุ่มคณะที่ไม่ใหญ่นักเพื่อความคล่องตัวและไม่เป็นการรบกวนหมู่นกมากนัก ทุกคนมีจุดหมายร่วมกัน นั่นคือ การได้ทักทายเพื่อนร่วมโลก ทั้งผู้ผ่านทางและเจ้าบ้าน ได้ฟังเสียงใสๆ ไพเราะ ซึ่งบ่อยครั้งก็แปลกหู รวมทั้งยังได้ชมสีสันความงามของพวกมันใกล้ๆ รวมทั้งท่าทางและลีลาการโบยบินที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสายพันธุ์
คณะของพวกเรามีทั้งช่างภาพและจิตรกร คุณครูและนักเรียน มืออาชีพและสมัครเล่น ทุกเช้าก่อนอาหารมื้อแรก พวกเราจะออกกำลังเบาๆ ด้วยการเดินช้าๆ และเงียบเสียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากใครพบเห็นนกก็จะเรียกเพื่อนๆ ด้วยเสียงกระซิบ ด้วยอาการสงบ บอกตำแหน่งเทียบกับเข็มนาฬิกาแทนการชี้นิ้ว (ซึ่งมักทำไม่ได้ง่ายนัก ด้วยตื่นเต้นเมื่อได้พบเห็น)
อาจารย์สอนว่า หากเรายกแขนขึ้นชี้นิ้ว เพื่อนเราบนพุ่มไม้อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นลำกล้องปืนไฟ สัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายและการจากพราก
เวลาผ่านไปพอเหงื่อซึม แสงแดดเริ่มแผดกล้า นกน้อยเริ่มกลับรัง พวกเราจึงรู้ว่าได้เวลาอาหารมื้อเช้า
ช่วงเวลาดูนกที่ดีที่สุดคือ รุ่งเช้าและยามเย็น ที่เหลือคือ “บทสนทนา” และอื่นๆ
ที่จริง การดูนกคือเป้าหมายของเรา ไม่มีใครปฏิเสธ แต่บทสนทนาหลังจากกิจกรรมดูนกกับอาจารย์บัณฑิตและมิตรสหายร่วมคณะก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
หลังอาหารมื้อเช้า “อาจารย์ดูนก” เริ่มชวนคุยตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระ ข่าวสารบ้านเมือง ผสมคำคมและหยอกด้วยอารมณ์ขัน ช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อยของอาหารที่เพิ่งทานเข้าไปได้ไม่น้อย
หากหมดเรื่องคุย หมดมุข หรือหัวเราะจนพอใจแล้ว สมาชิกบางรายก็จะเริ่มปลีกตัว จับปากกา เหลาดินสอมาขีดเขียน ทั้งรูปนกและบรรยากาศรอบๆ ที่พัก ขณะที่บางรายขอตัวไปนอนต่ออีกนิด ด้วยอาการง่วงซึมยังคงรุมเร้าร่างกายไม่หาย
หันไปเห็นอีกรายเดินกลับไปที่เต้นของตัวเองเพื่อหยิบสมุดบันทึกประสบการณ์มาจดจารอย่างตั้งใจ คงเกรงว่าจะลืมถ้อยคำสอนและข้อคิดที่ผุดขึ้นภายในระหว่างการเดินทาง หนึ่งในนั้นก็คือตัวผมเอง
หรือบางรายที่อุตส่าห์แบกสัมภาระสะพายกล้องถ่ายภาพลำโตมาเต็มกระเป๋า กลุ่มช่างภาพเหล่านี้มักปลีกตัวแยกออกไปเข้าป่าลึก โดยหวังจะได้เก็บภาพถ่ายนกน่ารักๆ ไม่ก็ชนิดที่ใจหมายมั่นนำภาพกลับบ้านแทนความทรงจำ
การมาดูนกกับอาจารย์บัณฑิตและคนรักธรรมชาติเหล่านี้น่าสนใจ พวกเราไม่เกร็งกับการดูนก ไม่คาดหวังจนกังวล ไม่วิตกกับภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาในพงไพร หากไปไม่ถึงที่หมายด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ถนนเสียหาย และฝนตกหนักจนไปต่อไม่ได้ เราก็พอใจกับจุดที่เราอยู่ กับสถานการณ์และเงื่อนไขที่อำนวย ณ ขณะนั้น
ว่าไปแล้ว ผมเองเริ่มจับดินสอมาวาดเขียนอีกครั้งก็ได้แรงยุมาจากการดูนกกับผู้เฒ่าท่านนี้ ครูสอนวาดภาพให้วิทยาทานแก่ผมมากมาย อาทิเช่นบทเรียนที่ว่าการวาดเขียนจะทำให้เราฝึกฝนที่จะจดจำในรายละเอียดของสิ่งต่างๆ การดูนกก็เช่นกัน ทุกครั้งที่เห็น ขอให้เราฝึกสังเกตรูปร่างหน้าตา ขนาดลำตัว จงอยปาก สีขน จำนวนขา กิริยาอาการ ท่าทางการเดิน การกระโดด การเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งแต่ละตัวจะมีบุคลิกนิสัยเฉพาะไม่เหมือนกัน แม้ว่ามันจะเป็นชนิดหรือสายพันธุ์เดียวกัน
คำสอนดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงข้อคิดที่ใครบางคนเคยบอกไว้ว่า ความจริงแล้ว ศักยภาพความจำของคนเรามีอยู่สูงมาก เพียงแต่เราละเลย ไม่ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง หลายคนจึงสูญเสียศักยภาพในส่วนนี้ไป ซึ่งศิลปินหรือนักเขียนอาชีพมักมีคุณลักษณะข้อนี้เด่นชัดกว่าคนทั่วไป
อาจารย์บัณฑิตเองที่เติบโตมาในวัฒนธรรมการศึกษาจากรั้วศิลปากรก็เคยผ่านการเรียนรู้ทำนองนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งครูสอนศิลปะในดวงใจของท่านก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก “อาจารย์ศิลป” ของลูกศิษย์นั่นเอง
นกแต่ละชนิดจะมีแหล่งพักพิงต่างกันไป บางชนิดอาศัยอยู่บนยอดไม้ บางพันธุ์หากินตามพื้นดิน ริมน้ำ ในป่าชายเลน และทะเลสาบ กระจายแหล่งอาหารและที่พักพิง ไม่เบียดเบียนกันและกัน แต่พึ่งพิงกัน
คงเคยได้ยินเรื่องราวของนกเงือกใช่ไหมครับที่ว่า หากนกตัวผู้ที่ไปหาอาหารตายไป ลูกนกและแม่นกที่ทำรังอยู่ในโพรงไม้ยอดสูงก็จะต้องตายตาม เพราะขาดอาหารจากพ่อนก เรื่องราวของนกแพนกวินจักรพรรดิที่ขั้วโลกเหนือก็คล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ หัวหน้าคณะของเรายังบอกด้วยว่า ไม่ใช่คนเราเท่านั้นที่คิดว่าได้ดูนก บ่อยครั้งทีเดียวที่นกก็พากันมาดูพวกเราเช่นกัน ผมเองจำได้แม่น คราวไปพักที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อเราไปถึงที่พักในเวลาเย็น เราไม่เห็นอะไรเลย ซึ่งต่างจากเช้าวันต่อมาที่หมู่ปักษาพากันส่งเสียงเจื้อยแจ้วระงมหน้าเต้นที่พัก พวกมันต่างบินมาดูพวกเรา พวกมันคงสงสัยในพฤติกรรมแปลกๆ ของมนุษย์ แต่อย่างน้อย การมาปรากฏกายของฝูงนกสารพัดชนิดนับว่าไม่ได้ทำให้พวกเราเสียเที่ยวหรือผิดหวัง เพราะถือว่าได้เห็นพวกมันมาอวดโฉมความงามให้เราได้ชมสมปรารถนา เก็บภาพและบันทึกความทรงจำไว้แล้ว
การดูนกเพื่อย้อนดูใจตนจึงควรมองให้ไกลด้วยหัวใจเปิดกว้าง มองให้เห็นการดำรงอยู่ของสรรพชีวิตอย่างลึกซึ้ง สัมผัสธรรมชาติรอบข้างไปพร้อมๆ กับนกน้อยที่เราเห็น หากดูนกได้ดั่งนี้ จิตใจของเราจึงจะสงบ ได้นิ่งเงียบ เพื่อฟังเสียงภายในของใจเรา
ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตามุ่งหน้าแต่เพียงดูนก สิ่งที่เราเห็น อย่างมากก็เพียงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวิชาสัตว์ปีก พิสูจน์ความจริงที่ระบุไว้ในตำราที่มีคำบรรยายวงจรชีวิตและพฤติกรรมไว้เบ็ดเสร็จ โดยที่เราจะไม่ได้เรียนรู้ส่วนที่เหลือเพิ่มเติม ไม่เข้าใจบริบทและสภาพแวดล้อมของชีวิตนก ขาดญาณทัศน์ มองไม่เห็นองค์ประกอบแวดล้อมของชีวิตอื่นและตัวเราเอง
หากเราดูนก แต่เห็นมากกว่าตัวนก เราก็จะเห็นการเชื่อมโยงของชีวิต ไม่เขินอายหากต้องกลับมาย้อนถามเพื่อตรวจสอบความนึกคิดของตัวเราเอง
การพักผ่อนหย่อนใจไปกับกิจกรรมการดูนกและบทสนทนาอย่างผ่อนคลาย นอกจากจะได้พักกายแล้ว เรายังได้รับความรู้ความเข้าใจในชีวิตของสัตว์โลกตัวน้อย ได้รับประสบการณ์ที่แบ่งปันกัน ผ่านมุมมองและความคิดความเห็นระหว่างการเดินทาง
ผมนึกถึงคำของศาสตราจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิตและสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ท่านอาจารย์เคยรจนาไว้ทำนองว่า
ชีวิตนกต้องการแค่เพียงที่เกาะบนยอดไม้ แล้วทำไมมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ จึงต้องการอะไรมากกว่านั่น...


เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ

ไม่มีความคิดเห็น: