วันอังคาร, พฤศจิกายน 27, 2550

ฟัง ‘คำขอ’ จากหัวใจ




หากเปรียบชีวิตมนุษย์เป็นเสมือนการเดินทาง ต่อให้พวกเขาไปไกลแค่ไหน ก็มิอาจห่างหายไปจากธรรมชาติได้ แม้เขาจะเดินมาใช้ชีวิตในสังคมเมือง มนุษย์ก็ต้องการธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นจุดแวะพักจิตใจ เป็นพื้นที่ผ่อนคลายอารมณ์และหามุมสงบระหว่างการเดินทาง

เหลียวมองไปรอบๆ ป่าคอนกรีต ทิวแถวต้นไม้ริมทางเท้า พุ่มไม้สีเขียวบนเกาะกลางถนน พร้อมช่อดอกสวยที่ต้องแสงแดด ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต


ช่อดอกไม้ธรรมดาๆ สักช่อในแจกัน หรือต้นไม้เล็กๆ สักต้นในกระถาง ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ข้างจอคอมพิวเตอร์หรือริมหน้าต่างกระจกใสบานโตในออฟฟิศ คือการปลูกที่พักใจด้วยวิธีง่ายๆ ทำได้ไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระให้หนักใจ

ต้นไม้คือสัญลักษณ์ของชีวิตและธรรมชาติ ข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ แม้ผู้ที่ต้องทำงานบนท้องถนน เช่น ขับรถประจำทางเพื่อบริการผู้คน พวกเขาก็รู้จักปลูกต้นไม้และดูแลที่พักใจของเขา พร้อมเผื่อแผ่ให้แก่ผู้โดยสารด้านหลัง พวงมาลัยสวยหน้ารถตู้โดยสารหรือรถบรรทุกทั่วไปก็อาจเป็นพื้นที่พักผ่อนคลายสบายอารมณ์ได้ในความหมายนี้

พระไพศาล วิสาโล ได้แสดงธรรมบรรยายไว้ตอนหนึ่งถึง “พลังของธรรมชาติ” ว่า ความงามของดอกไม้และต้นไม้นั้น มีส่วนช่วยขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ได้หลายประการ ประการแรกคือ การช่วยให้มนุษย์เกิด “ความชื่นบาน” อารมณ์เบิกบาน จิตแจ่มใส เป็นความรู้สึกยินดีที่ได้ชมดอกไม้สวย ประการที่สองคือ การดลใจของเราให้สงบ ก้าวพ้นความตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ได้พบเห็น เกิดความรู้สึกปล่อยวาง ลดความเร่งรีบของชีวิต แล้วเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของธรรมชาติ ช้าลงๆ

หลวงพี่เทศน์ไว้อีกว่า เนื่องจากธรรมชาติไม่เคยเรียกร้องให้ใครชม เราจึงไม่รู้สึกถูกเรียกร้องขณะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เมื่อไม่ถูกเรียกร้อง ความกังวลของเราจึงผ่อนคลาย กลายเป็นความรู้สึกที่ได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับ “การรู้” ตัว และหากพินิจให้ลึกซึ้งก็จะพบคุณูปการที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติอีกอย่าง นั่นคือ ธรรมชาติยังแสดง “สัจธรรม” แก่เราด้วย

“สัจธรรมเหล่านี้ ถ้าเรารู้จักมองหรือเปิดใจรับ เราจะเกิดปัญญา เห็นความไม่เที่ยงของฤดูกาล เห็นความไม่เที่ยงของวันเวลา เห็นความผันแปรของสิ่งต่างๆ รวมทั้งความไม่เที่ยงของตัวเราด้วย”

พลังธรรมชาติประการท้ายสุด สำหรับพระไพศาลจึงหมายถึง “ความจริง” ที่มนุษย์ควรเรียนรู้จากธรรมชาติ เมื่อเราตระหนักในสัจธรรมดังกล่าว ใจของเราก็จะวางเฉย ยอมรับกับทุกเหตุการณ์ทุกความรู้สึกด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่หยุดนิ่งหรือติดยึดกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ ไม่ว่านั่นจะทุกข์หรือสุข เพราะทุกสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนตามเหตุปัจจัย

ธรรมชาติและต้นไม้จึงเป็นแหล่งพลังที่มนุษย์ไม่อาจไกลห่าง ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในองค์กรที่ปฏิเสธความสดชื่นของสีเขียวในสำนักงาน หมกมุ่นแต่การงานและการแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่ง ย่อมเหินห่างจากโอกาสในการแสวงหาความหมายที่แท้จริงของ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งถึงที่สุด หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป หัวใจของมนุษย์ในอาคารคอนกรีตที่ปราศจากต้นไม้ย่อมเหี่ยวเฉา ไม่เห็นผู้อื่นนอกจากตัวเอง เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตใจหยาบและยโส เพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของสังคม ไม่เป็นเดือดเป็นร้อนตราบเท่าที่ตนยังคงเสพความสมบูรณ์พูนสุขทางเศรษฐกิจ

หากไม่ปรารถนาเป็นมนุษย์ที่ไร้หัวใจดังกล่าว เพียงการออกเดินพักผ่อนอย่างช้าๆ ในสวนอันร่มรื่นใกล้บ้าน หรือพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วมองไปยังมุมเล็กๆ สีเขียวข้างโต๊ะทำงาน หรือแม้แต่แขวนพวงดอกไม้แห้งที่เคยสดและส่งกลิ่นหอมหน้ารถ กิจกรรมที่แสนปกติธรรมดาและเรียบง่ายแบบนี้ก็เพียงพอที่จะช่วยให้เราเริ่มต้นเข้าถึงความจริงของชีวิต ขอเพียงต้องพิจารณา เล็งให้เห็นนัยของธรรมชาติรอบตัว และหมั่นฝึกฝนปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจิตใจภายใน ขจัดอัตตาให้พร่องหาย แทนที่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนในหัวใจ

นอกจากนี้ พระไพศาล ยังแนะนำให้เรารู้จักกล่าวคำขอบคุณแสดงความซาบซึ้งใจที่ผู้อื่นปฏิบัติแก่เรา และแสดงความชื่นชมกับสิ่งดีๆ ที่เขาทำ ขณะเดียวกันก็พร้อมให้อภัยในความพลั้งเผลอระหว่างเพื่อนมนุษย์

ที่สำคัญคือ “คำขอโทษ” ที่เราพึงเอ่ยเมื่อประพฤติผิด ทั้งนี้ มิใช่เป็นการแสดงความเสียหน้าหรืออ่อนแอ หากแต่เป็นวิถีแห่งการขัดเกลาจิตใจ มิให้สำคัญตนว่าเป็นผู้วิเศษแต่อย่างใด

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากล้าที่จะขอโทษ มันจะช่วยทำให้เรากลับกลายมาเป็นมนุษย์ หลุดพ้นจากหัวโขนเหล่านั้น เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับคนอื่น และตรงนี้แหละที่ทำให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้อื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคม และทำให้ใจของเราโปร่งโล่ง เบา อิสระ”

การใช้ชีวิตให้ช้าลง ปล่อยให้ความคิดและกิจกรรมประจำวันดำเนินไปพร้อมๆ กับจังหวะการลื่นไหลในธรรมชาติ ไม่รีบร้อน ไม่เร่งรีบ อยู่กับปัจจุบันขณะปราศจากความกังวล ฝึกการอ่อนน้อมถ่อมตนจากหัวใจ ไม่ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท เพียงเท่านี้ ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะเริ่มกลับมาอีกครั้ง

การปลูกและดูแลต้นไม้จึงเปรียบได้กับการปลูกธรรมะและรักษาไว้ให้อยู่ภายในใจเรา ธรรมะและต้นไม้ดอกไม้ต่างมีคุณูปการต่อเรา หากรู้จักเรียนรู้และพิจารณา แต่จะปฏิบัติดั่งนี้ได้ต้องเริ่มที่การให้โอกาสและเวลาแก่ตัวเอง ดังที่พระไพศาลได้ขอไว้ในหนังสือ “คำขอที่ยิ่งใหญ่”

“อยากให้เราได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง เพ่งพินิจความรู้สึกนึกคิดของตัวเองบ้าง เพราะว่าเวลานี้ เราไม่มีเวลากับสิ่งเหล่านี้เลย ชีวิตที่เร่งรีบและชีวิตที่พะรุงพะรัง ทำให้เราไม่มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเอง และสุดท้าย เราก็ไม่มีเวลาให้แก่คนอื่นด้วย

“...เร่งรีบจนไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อตัวเราเอง เราพะรุงพุรังไปด้วยงานการ สิ่งเสพ จนกระทั่งไม่มีเวลาให้แก่ตนเอง ไม่มีกำลังที่จะทำสิ่งดีงามให้แก่ผู้อื่น...

“อาตมาขอให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เพ่งพินิจตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อะไรคือความสุขที่แท้จริง หากทำได้มากกว่านั้น ขอให้เราพร้อมที่จะเรียนรู้ หาประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ไม่ใช่จากความสุขเท่านั้น แต่จากความทุกข์ด้วย

“ไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นกิเลสที่ทุกข์ เป็นการถือตัวหรือมานะที่ทุกข์ บางทีการมองความทุกข์ในแง่นี้กลายเป็นของดี ช่วยให้เราไม่ทุกข์ไปตามอำนาจของกิเลส ตามอำนาจของอัตตา เราควรทำให้อัตตาหรือมานะ หรือตัวกิเลสนี้อ่อนน้อมถ่อมตนลง”

ขอเชิญแวะอ่าน พิจารณาธรรมชาติและธรรมะร่วมสมัยในหนังสือ “คำขอที่ยิ่งใหญ่” โดย พระไพศาล วิสาโล และ “อาทิตย์ยามเช้า” (นามปากกา) ได้แล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือซีเอ็ด และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ media4joy@hotmail.com กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น: