วันศุกร์, พฤษภาคม 19, 2549

เก็บตกจากเสวนา "สื่อสร้างสรรค์ สร้างสุข สู่สังคมวิวัฒน์"

วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา สื่อสร้างสรรค์นำโดยคุณพี่อุ๊ได้จัดเสวนา ณ ห้องสมุดแสงอรุณในหัวข้อ

สื่อสร้างสรรค์ สร้างสุข สู่สังคมวิวัฒน์”

เริ่มช่วงเช้าด้วยการทำหนังสือทำมือกับพี่นุ้ย YIY

เข้มข้นช่วงบ่ายกับการเสวนา

นำการเสวนา พี่อุ๊ กรรณจริยา สุขรุ่ง

ร่วมพูดคุยกับวิทยากร พี่แวว ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวพิเศษ ช่อง 11 ผู้ประกาศข่าววิทยุ

รศ.ประภาภัทร นิยม
ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ

ฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการกลุ่มตาสับปะรดสำนักข่าวเด็กและเยาวชน

อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หน้า Outlook ผู้ติดตามและนำเสนอข่าวสารด้านการปฏิรูปสื่อและสื่อสารวัฒนธรรม อาจารย์พิเศษด้านสื่อสารมวลชน

พี่อุ๊บอกว่าการเสวนาครั้งนี้ไม่ใชแค่อิ่มใจ แต่อิ่มไปถึงสมอง จึงอยากแบ่งปันเนื้อหาการเสวนาร่วมกัน ดังนี้ค่ะ


- ข่าวดี ข่าวร้าย

ประเด็นแรกที่หยิบยกขึ้นมาพูดคือเรื่องข่าวดี-ข่าวร้ายในสังคมไทย อ.ประภาภัทร นิยม ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อทุกวันนี้ดูมุ่งไปที่ข่าวร้าย ข่าวดีขายไม่ได้ ในโรงเรียนรุ่งอรุณจึงทำหนังสือพิมพ์เล็กๆ ในโรงเรียนชื่อว่า “ข่าวดีรอบรั้วรุ่งอรุณ” เพื่อปรับทัศนะในการรับสื่อและสื่อข่าวที่ดี

"สิ่งที่ข่าวดีรอบรั้วเสนอคือ เรื่องราวเกี่ยวกับคนภายในว่าเขาทำอะไรบ้างในแง่มุมที่ดี คนอื่นไม่รู้ เพราะคนอยู่กันหมู่มาก บางทีไม่รู้ว่าอีกมุมหนึ่งมีเรื่องดีๆ เราขยายเสียงออกไป กรณีหนึ่งคือ มีนักเรียนชั้นม.4 ได้ไปธรรมยาตราที่ภูหลง เขาก็ไปเผชิญชีวิตที่ลำบากแสนสาหัส อยู่ดอย มีกินบ้าง ไม่มีกินบ้าง ร้อนมาก เมื่อเขาผ่านพ้นมาได้ก็เรียนรู้หลายอย่าง เราไปสัมภาษณ์เขา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือเขาได้คิดร่วมกันว่าเขาอยากจะช่วยเด็กนักเรียนชาวเขา เขาจับกลุ่มทำเสื้อขาย ทำนู้นทำนี้ เพื่อหาเงินส่งไปให้เด็กเรียนต่อตอนนี้ช่วยน้องได้ 6 คน 3 ปีแล้ว อาจารย์คิดว่าการไปสัมภาษณ์เป็นการช่วยทบทวนเขาว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาคืออะไร ทำให้เขาได้คิดว่าเขาจะทำอะไรได้เพื่อคนอื่น ฉะนั้นกระบวนการสื่อ เปิดโอกาสให้คนได้ถ่ายทอดและทบทวนสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ "

พี่อุ๊ ได้หยิบยกการสำรวจความเห็นเรื่องข่าวดี-ข่าวร้ายขึ้นมาเป็นข้อมูล จากการสำรวจว่าอะไรคือข่าวดี อะไรคือข่าวร้าย ข่าวดีหรือข่าวร้ายมีผลกระทบอะไรกับชีวิตเขาบ้าง ข่าวสารอะไรบ้างที่ต้องการให้มีมากขึ้น พบว่าข่าวดีในรอบปีคือ ข่าวที่คนไทยร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ อย่างที่สองคือความพยายามสร้างสันติสุขในภาคใต้ ส่วนข่าวร้าย เช่น ข่าวทำร้ายร่างกายในภาคใต้ คอรัปชั่น แต่ในแง่ผลกระทบแล้ว คนมองผลกระทบของตัวเองเป็นหลัก แต่ไม่เห็นผลเชิงโครงสร้าง เช่น นโยบายหรือคอรัปชั่น ส่วนข้อเสนอว่าต้องการสื่อแบบไหน เขาอยากให้สื่อเสนอเรื่องที่ดีๆ อ่านแล้วมีความสุข


พี่แวว แลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ว่า หากดูใน Mass media ก็ต้องยอมรับว่าข่าวร้ายขายได้เป็นความจริง เพราะทฤษฎีการเป็นข่าวคือต้องเป็นเรื่องที่ "หวาดเสียว แปลก ไม่เคยพบเห็น" พูดถึงประเด็นนี้ทีไรต้อง วกกลับมาที่คำพูดอมตะที่ว่า "สื่อเป็นตะเกียงหรือกระจกสะท้อนสังคม?" จะด้านไหนสื่อก็ลำบากใจ เพราะทำหน้าที่แค่เป็นกระจกก็ดูไม่เพียงพอ เป็นตะเกียงส่องนำไปก็ถูกตั้งคำถามว่าชี้นำ แต่หน้าที่ของสื่ออีกอย่าง นอกจากเป็นตะเกียงและกระจกแล้ว ต้องทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้านด้วย ต้องตามติด ตรวจสอบ มีประสบการณ์หนึ่งจากการทำงาน ITV ทำให้คิดว่าในข่าวร้ายที่ดูเลวร้าย แต่ ความจริงที่เลวร้าย ต้องถูก back up อีกมุมที่มีความสวยงาม เช่น การฆ่ากันตายรายวันในภาคใต้ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในการนำเสนอ แตสิ่งที่พบหลายครั้งคือคนไทยพุทธและมุสลิมให้กำลังใจกันและกันในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เราก็นำเสนอมุมเหล่านี้เข้าไปด้วย


แต่ในขณะเดียวกัน ในเรื่องการนำเสนอเรื่องภาคใต้ การนำเสนอข่าวดีก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่าเหมือนกัน เช่น เรื่องคนไทยพุทธกับไทยมุสลิมอยู่ด้วยกันได้เป็นความจริง แต่ในบางชุมชน เช่น ตันหยงลิมอ คนแตกแยกกันจากเหตุการณ์รุนแรงอย่างมาก จึงตั้งคำถามว่า “ข่าวดี” คืออะไร คืออะไรที่เราฟังแล้วนั่งยิ้ม หรือว่าเป็นข่าวที่สร้างคุณค่าได้ เช่น ข่าวทุจริตตามติดเรื่องคอรัปชั่น การค้าน FTA หรือที่คุณสนธิขึ้นเวทีพูด เอี้ยๆๆๆ แฉพฤติกรรมของทักษิณ ถือว่าเป็นข่าวดีหรือร้าย


ด้าน พี่หนุ่ม อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ มองมุมกลับว่า ข่าวเลวอาจจะสร้างสุขให้เราก็ได้เหมือนกัน เช่น มันทำให้เราจะได้รู้ว่าคนอื่นเขามีความทุกข์อย่างไร จะแบ่งปันกันอย่างไรดี หรืออาจเห็นว่าเราโชคดีกว่าบางคนเขาทุกข์มาทั้งชีวิต เป็นต้น

การสื่อสารมีข้อจำกัดในเรื่อง "เวลา พื้นที่และโครงสร้าง" อยู่ ฉะนั้นการนำเสนอเชิงบวกจึงเป็นไปเรื่องลำบาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ คนทำข่าวต้องใช้ศิลปะในการนำเสนอ พยายามสร้างคุณค่า ในเวลาและพื้นที่อันจำกัด อยู่ในโครงสร้างที่เป็นไปตามบรรณาธิการและนโยบายองค์กร

"ผมคิดว่าสื่อก็เหมือนกับคนที่มีหน้าที่หลายๆ แบบ บางทีก็ชี้ประเด็น สอนบ้าง บันเทิงบ้าง คงจะคาดหวังอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ บวกอย่างเดียวไม่ได้ ทำไมสื่อถึงไม่มองในแง่บวกล่ะ เพราะมันมีแง่อื่นที่ต้องมองด้วย ไม่ใช่มองเพียงแง่เดียว มันจะไม่เห็นภาพรวม ถ้าสื่อมีพื้นที่มากในการให้สมดุลย์ข้อมูล ผมคิดว่าสังคมเราต้องการข้อมูลที่ทำให้เกิดวุฒิภาวะและตัดสินได้ มากกว่าข้อมูลทางเดียว"


- สื่อกับทุน

พี่ไข่ หรือ ฉัตรชัย เชื้อรามัญ จากขบวนการตาสัปปะรด กลุ่มคนทำสื่อที่ใช้กำลังใจ กำลังคน มากกว่ากำลังเงิน ให้ความเห็นว่า สื่อปัจจุบันนี้ต้องพึ่งพาทุน ทำให้ไม่มีความอิสระในการจะทำงาน สื่ออยู่กับทุน นายทุนต้องการเงิน ฉะนั้นอย่างน้อยต้องเท่าทุน บก.ต้องตอบสนองทุนให้ได้ ฉะนั้นพี่ไข่จึงเลือกทำอีกขั้ว สื่อที่ไม่จำเป็นต้องมีเงิน แต่มีใจและมีคน

“ผมไม่สนใจใคร สื่อกันเอง ใช้ทุนใคร ใช้ทุนจากคนที่เราเจอ เด็กที่มีเงิน 30 บาท เขาอยากทำรายการทีวี จะทำเรื่องไหว้พระ 9 วัด 9 วัน ก็ทำได้เลยเพราะรู้สึกว่าเขาเป็นอิสระ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความงาม ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะถามนู้นนี่ เราอยากทำก็ทำ มันเป็นความงาม แต่เราปล่อยให้ความงามเหล่านี้อยู่ในมือของรัฐหมดเลย ของสื่อหมดเลย ทั้งๆ ที่ความงามมันเป็นของเรา มันเป็นความเชื่อของผมที่ทดลองมา 10 กว่าปี แต่สิ่งที่ผมทำผมก็คิดว่ามันไม่ใช่คำตอบนะ ผมคิดว่าเราจะหาจุดตรงกลางได้ ก็ต่อเมื่อเห็นซ้ายสุดโต่ง ขวาสุดขอบ สิ่งที่ผมทำคือทำอีกขั้วให้เห็นว่ามันทำได้ ตรงกลางคืออะไรมาร่วมกันหา”

นอกจากนี้เราในฐานะผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง พี่ไข่เชื่อว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ นี่แหละเป็นคนส่งสารเอง ได้ ตอนนี้เริ่มเห็นแนวโน้มที่ชัดขึ้น เช่น ตอนนี้ประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือส่งสื่อได้ หนังสือพิมพ์เริ่มเปิดคอลัมน์ให้ประชาชน สิ่งนี้เป็นการเปลี่ยนความเชื่อผู้บริโภคว่าเราเองมีสิทธิ ข้อสองที่ต้องช่วยกันในเรื่องทักษะและเทคโนโลยีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าถึง ประชาชนไม่จำเป็นต้องมีใบผู้ประกาศจัดรายการวิทยุแต่สามารถจัดได้เลย ไม่ต้องรอเรียกร้องสื่อ อยากสื่อสารเรื่องดีๆ ก็ทำได้เลย


ด้าน อ. ประภาภัทร นิยม ให้ความเห็นว่า ในบางครั้งเราก็หลงติดกับประเด็นสื่อมวลชนปัจจุบันมากเกินไป จนคิดว่าเราไม่มีทางเลือก ให้ลองกลับมามองพื้นฐานของตัวเอง จะพบว่าเรามีพื้นฐานการสื่อสารเองอยู่แล้ว แต่กระแสของสื่อมันครอบงำมาก ทำให้คนลืมว่ามีทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร ทำให้สื่อกันกระทอนกระแท่น ไม่สมบูรณ์ ต้องรอให้คนอื่นมาสื่อให้ ลองสังเกตง่ายๆ คือเด็กรุ่นนี้จะสื่อสารค่อนข้างกันฉาบฉวย ให้พูดอะไรเป็นเรื่องเป็นราวต้องตั้งคำถามกับเขาเยอะ คิดว่าสถาบันการศึกษาควรจะมาจับประเด็นนิ้ให้แน่นๆ แล้วการรู้เท่าทันสื่อจะมาเอง


พี่หนุ่ม อลงกรณ์
สรุปการพูดคุยเสวนาครั้งนี้ไว้เป็นสองประเด็นว่า

ประเด็นแรก ตอนนี้เรากำลังชั่งน้ำหนักว่าจะพึ่งใครดี สื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง หรือตัวเอง หรือว่า กสช.ที่ไม่รู้จะเกิดไหมดี ไม่อยากให้มองในเชิงสิ้นหวังซะทีเดียว เพราะเห็นการทำงานของแต่ละส่วนต่างหนุนเสริมกันและกัน การทำงานของของคุณฉัตรชัย กลุ่มเด็กๆ ที่ขึ้นมาพูดเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ กลุ่มอาจารย์ที่เป็นการศึกษาทางเลือก กลุ่มนักข่าวที่มีจิตสำนัก ในภาพใหญ่จะทำอย่างไรให้ network มันชัด เข้มแข็งขึ้น อยู่รอดเพื่อแย่งชิงพื้นที่

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเชื่อมกัน ทุกวันนี้มีสื่อใหม่ๆ เข้ามาแทนที่สื่อหลายอย่าง ในขณะที่สื่อเก่าๆ ก็ถูกดึงกลับมา เช่น งิ้ว กลายเป็นพื้นที่ในการพูดประเด็นการเมือง มีการใช้อินเตอร์เนต มือถือ ซึ่งความโยงใยระหว่างสื่อทางเลือกกับสื่อกระแสหลักนั้นแยกกันไม่ออก ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องแยกว่าสื่ออะไรทำส่วนไหน ถ้าเรารู้ว่าพันธะกิจของตัวเองคืออะไร พยายามตอบโจทย์มันให้ดี แล้วสื่อต่างๆ จะเอื้อกันและกัน เช่น สิ่งที่คุณฉัตรชัยทำสื่อโดยไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลัก เรื่องของตาสัปปะรดก็ถูกนำเสนอสู่สื่อกระแสหลัก มันมีลักษณะของโมเมมตัมที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ อย่างกรณีภาคใต้ก็ถูกหยิบมาพูดในรายการ แล้วก็เอาไปพูดต่อในอินเตอร์เนต บางกรณีเองก็หยิบเรื่องจากเวบบอร์ดไปพูดในสื่อกระแสหลัก ฉะนั้นผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นนักสื่อสารก็ได้ แต่เป็นคนที่สื่อสารเป็น

อีกประเด็นคือ ความจริงในสังคมนั้นมีหลายเฉด ซึ่งอาจจะดูขัดแย้ง ความจริงน่าจะมีชุดเดียว แต่ในสังคม ความจริงไม่ใช่สัจจะ แต่เป็นชุดความจริง สื่อก็หยิบชุดหนึ่งขึ้นมา การศึกษาก็เอาชุดความจริงเหล่านี้มาพูด ทำอย่างไรให้เราแกะรหัสให้ออก คือเท่าทันมัน

วิธีการมีหลายอย่าง สิ่งที่ตาสัปปะรดทำชัดเจนมาก คือ ลองทำเลย แล้วเราจะเห็นว่าในเรื่องเดียวกัน ทำไมสื่อกระแสหลักพูดไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกันระบบการศึกษาต้องช่วยดึงเอาบริบทเหล่านี้มาอภิปราย ผมคิดว่ารุ่งอรุณทำได้ดี คือให้เด็กเริ่มตั้งข้อสังเกต เรื่องเหล่านี้มันน่าจะมีการคุยกันในบ้านว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอมันมีซีรี่ มีหลายโทนความจริง เลือกว่าเฉดไหนเป็นของเรา ฉะนั้นคนควรได้รับการฝึกอบรมการมองสื่อ ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องเข้าอบรมนิเทศศาสตร์ คนธรรมดาอย่างเราสามารถเข้าใจได้เรื่องสื่อ เรื่องทุน เรื่องการประกอบสร้าง เทคนิค และเรื่องนโยบายได้

ผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำคือ พยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สังคมสาธารณะ” เกิดขึ้นได้ ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ แต่กำลังพัฒนาการอยู่ เหมือนหลายร้อยปีก่อนเราไม่คิดว่าจะเลิกทาสได้ ผู้หญิงจะออกมาทำงานได้ รัฐบาลจะถูกล้มได้โดยประชาชนได้ ตอนนี้เราเห็นความกังวลร่วมกันว่า ถ้าปล่อยให้มันเป็นไปจะกลายว่าเราร่วมมือให้มันเกิดขึ้น ผมคิดว่าสังคมเหมือนระบบนิเวศ มีพลังกลุ่มเล็ก พลังกลุ่มใหญ่ ฉะนั้นเราต้องใช้เวลาเพื่อไปสู่สังคมที่เราหวังไว้

ไม่มีความคิดเห็น: