วันศุกร์, มิถุนายน 02, 2549

สุนทรียสนทนา : คุยให้สุข เมื่อเราฟังอย่างลึกซึ้ง ภาค 2

สุนทรียสนทนา : คุยให้สุข เมื่อเราฟังอย่างลึกซึ้ง
ภาค 2 ลองของ!
(หมายถึง ลองสุนทรียสนทนาจริงๆ ไงค่ะ ^^)

หลังจากกินข้าวจนอิ่มท้อง พุงป่อง แล้วเราก็เริ่มล้อมวงกันอีกรอบ

คราวนี้นำโดยพี่ณัฐและพี่น้อง กระบวนกรที่น่ารักนำการสุนทรียสนทนา

กิจกรรมมีเงื่อนไขง่ายๆ ให้เราจับคู่กันผลัดกันเล่าเรื่องราวในวัยเด็กให้อีกคนฟัง เงื่อนไขคือ เมื่อฝ่ายหนึ่งกำลังเล่า อีกฝ่ายต้องตั้งใจฟัง ไม่แทรกแซง ไม่ท้วงติง เมื่อระฆังส่งสัญญาณให้หยุด ฝ่ายที่ฟังต้องเล่าทวนเรื่องเพื่อน แล้วก็สลับฟังราวของอีกคน เมื่อเล่าจบ ฝ่ายที่ฟังก็ต้องสะท้อนเรื่องราววัยเด็กกลับไป


นั่งคุยกันพับเพียบเรียบร้อยเชียวละ


เมื่อกิจกรรมคู่จบลง พี่น้องก็ให้เราจับกลุ่มเป็น 4 คน แล้วลองสะท้อนว่า กิจกรรมจับคู่ที่ผ่านไปนั้นเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง พบว่าเราได้รู้อะไรมากมายเกี่ยวกับการสื่อสารของเรา

พี่วรรณ สะท้อนว่า สุนทรียสนทนาเป็นวิธีการที่เรียกได้ว่าสวนทางกับการทำงานสื่อเลยทีเดียว เพราะสื่อต้องฟังเพื่อจับประเด็น ฟังเพื่อนคิดตามและตั้งคำถาม แต่กติกาดังกล่าวนั้นกลับกันทำให้อึดอัดใจ แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้การเป็นผู้ฟัง จากการทำงานจัดรายการวิทยุ พบว่าคนในปัจจุบันนี้พอคิดไม่เหมือนกันจะโต้แย้งหรือตั้งคำถามทันที ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่พอเราฟังเพียงอย่างเดียว ฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่มีคำถาม ก็ทำพบวิธีการสื่อสารแบบใหม่

ด้านผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกท่าน ได้สะท้อนจากวงสนทนาว่า จากการคุยสุนทรียสนทนาพบว่าตัวเองมีความกังวลว่าจะเก็บรายละเอียดไม่ได้ กลัวจะถ่ายทอดไม่ได้ จึงจับคำต่อคำ ผลปรากฎว่าในขณะที่คนพูดไปไกลแล้วแต่เรายังช้าอยู่ ขณะเรายึดคำแรกไว้ คนพูดไปถึงคำที่ห้าแล้ว ส่วนอื่นหายหมด จึงหันมาใช้วิธีปล่อยวางลง เป็นภาวะของความเชื่อใจในตัวเองและเชื่อใจผู้อื่นว่าจะยอมรับเรื่องที่จะเล่าให้เขาฟัง ซึ่งครั้งแรกที่เล่ากลับ เรามีความกลัวว่า เขาจะตัดสินเรา แต่พอปล่อยแล้ว มันเป็นความงดงาม เราไว้ใจตัวเอง เราไว้ใจคู่สนทนา เขาเปิดใจและยอมรับเราอย่างที่เราเป็น เวลาที่เราฟังฟังอย่างผ่อนคลาย เราไม่ได้ฟังเป็นเรื่อง แต่ฟังเป็นภาพ ฟังด้วยใจ ทำให้สิ่งที่เขาพูด เรารู้สึกบางอย่างได้อย่างลึกซึ้ง และบางครั้งลงไปลึกมากจนอยากจะร้องให้ และรู้สึกได้ว่าความเศร้าของเขาและของเราไม่ต่างกัน เนื้อหาอาจจะไม่เหมือนกัน แต่เป็นความเศร้าอันเดียวกัน

พี่อ้วน บอกเล่าประสบการณ์การทำข่าวกับการฟังว่า การเป็นนักข่าวทำให้ต้องฟัง และเรื่องที่ทำเป็นเรื่องความขัดแย้ง ฉะนั้นเราต้องฟังด้วยใจ หัวใจที่จะฟังชาวบ้าน แต่ก็มันกลายเป็นว่าเรามีอารมณ์ร่วมมากไป จนบางครั้งเราก็ร้องไปด้วย สัมภาษณ์ไปด้วย พอไปคุยกับฝั่งราชการ เราก็ฟังหน่วยงานเหล่านี้ด้วยความโกรธ ตั้งคำถามรุนแรงด้วยน้ำเสียงขุ่นเคืองและไม่เก็บสีหน้า ทำให้เขาตอบโต้กลับมาแรงเช่นกัน ตอนหลังจึงเริ่มฟังเขามากขึ้น เราทำหน้าที่สื่อเพื่อให้เรื่องมัน balance มากขึ้น


พี่น้ำเย็น เล่าการทำหน้าที่ทั้งผู้ฟังและผู้พูดจากการทำงานมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวว่า สถานะแรกที่ทำคือเป็นผู้ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว เราต้องถือหูโทรศัพท์เป็นชั่วโมง ไม่ได้ทำอะไรนอกจากฟังๆๆ รู้สึกอึดอัด เมื่อหลุดพ้นจากหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาก็มาทำหน้าที่เป็นฝ่ายวิจัยซึ่งมีหน้าที่ถามอย่างเดียว รู้สึกอัดอัดอีกเพราะรู้สึกตัวเองถามมากไป แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วม วงสุนทรียสนทนากับกลุ่มจิตวิวัฒน์ รู้สึกมีความสุขมากขึ้น เพราะได้ฝึกการเป็นผู้ฟัง ฝึกในเรื่องของอารมณ์ ฝึกในเรื่องของความอดทน ฝึกเข้าใจธรรมชาติของคน เข้าใจธรรมชาติของตัวเอง ฝึกผ่อนคลายไม่ให้มีอารมณ์ร่วมค้างกับเรื่องราวที่รับฟัง เวลากลับไปบ้านจะไม่รู้สึกว่าเราหอบปัญหาอะไรกลับบ้านไปด้วย


ด้าน พี่มัณ กล่าวว่าพอได้ลองสุนทรียสนทนาดูแล้วทำให้กลับมาทบทวนตัวเองพบว่า ตัวเองมีคำพูดจะบอกเล่ามากเกินไป ประเด็นมีนิดเดียวยังไม่ทันเล่าจบก็หมดเวลาซะแล้ว ทำให้เรารู้ว่าเวลาที่เราคุยกับคนอื่น เราพูดมากไป ต้องปรับปรุงวิธีการพูดนิดหน่อย

พี่โก๋ แลกเปลี่ยนว่า จากการฟังวันนี้ได้ยินสาระและอารมณ์ที่ไม่ได้มาจากคำพูดเป็นคำ ๆ แววตา ความสั่นของเสียง ช่องว่างระหว่างคำพูด ล้วนเป็นข้อมูลที่ได้รับมีความหมายยิ่งขึ้น และการทวนสิ่งต่างๆ ที่เราได้ยินมา ทำให้รู้ว่าอย่าไปประเมินที่คำพูด เพราะสิ่งที่เราได้รับรู้มันมีคุณค่าและมีมิติมากเหลือเกิน จนคำพูดที่เราเล่าอาจไม่สามารถรองรับสิ่งที่เราได้ยินและได้เรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้นอย่าชิงตัดสินใจจากคำพูดเพราะบางครั้งคำพูดมีความจำกัด

นอกจากนี้ ยังรู้สึกชอบที่ได้คุยแบบนี้เพราะว่าถูกฝึกมาอีกแบบ เราถูกปลูกฝังความกลัวเรื่องความกลัวเป็นคนโง่ หากไม่จับประเด็นจะดูโง่ พูดไม่มีประเด็น ไม่มีสาระ ไม่ชัดเจน กำกวม ก็เลยพยายามที่จะถอดรหัสในใจว่ากลัวทำไม มีอยู่คำหนึ่งที่คิดถึง คือ ความเป็น “เจ้าตัวเล็ก” ที่ยังอยู่ในตัวเรา “ เจ้าตัวเล็ก” เป็นคุณภาพของจิตใจที่กล้าหาญ กล้าเผชิญ มีความเบิกบาน เมื่อเราได้ฝึกเรื่องการฟัง เราต้องกลับไปดูแล “เจ้าตัวเล็ก” มากขึ้น เพราะ “เจ้าตัวใหญ่“ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลกำลังกดทับ “เจ้าตัวเล็ก" อยู่ เราอาจไม่สามารถถอดถอนได้ทั้งหมดเพราะเจ้าตัวใหญ่ใช้ประโยชน์ได้ในการทำงาน แต่ก็พยายามมีพื้นที่ให้สำหรับ “เจ้าตัวเล็ก“ ได้มีมุมมองกว้างอย่างสร้างสรรค์

ในตอนท้าย พี่อุ๊ พูดถึงการกลับมาฟังเสียงของตัวเราเองว่า ทุกวันนี้เราฟังตัวเองบ้างหรือไม่? แค่ไหน? จากประสบการณ์การฝึกโยคะทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการฟังร่างกายของตัวเอง อวัยวะส่วนไหนกำลังบอกเราว่ากินอันนี้ไม่ดีนะ จากที่ผ่านมาเราไม่ได้ฟังกายเราเลยนั้น ทำให้เกิดการสะสมและกลายเป็นโรคต่างๆ หรือ การฟังความฝันก็เป็นฟังตัวเองเช่นกัน เพราะความฝันเป็นเรื่องของจิตที่ถูกเก็บกดไว้ มันกำลังเรียกร้องให้ฟังฉันหน่อย มีก้อนกรวดอยู่ในสมองในจิตสำนึกของเธอนะ มาดูแลหน่อย

หมดการลองของยกแรก จากสภาพนั่งพับเพียบเรียบร้อย เริ่มกลายเป็นแบบนี้



แผ่หลาสามสลึงกันเป็นแถวเลย

เราจึงกลับไปที่พักกินข้าว อาบน้ำ แล้วตกดึกก็ร้องเพลง ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีสองสาวเท้าไฟได้แก่ พี่อุ๊และพี่มัณ ลุกขึ้นมาเต้นจนสะโพกกระจุย ฟลอร์กระจาย ทำเอากองเชียร์ส่งเสียงกรี๊ดกร๊าดกันอย่างสนุกสนาน

แหม~ แสนเสียดายไม่มีภาพสาวร้อนมาโชว์ให้ใจเต้น

เอารูปอะคูสติกจากพี่ๆ กระบวนกรเสียงหวาน พร้อมกับเสียงกีต้าร์สุดพริ้ว (ฟังแล้วอดเคลิม ใจละลายไม่ได้) ดูให้คิดถึงเล่นก่อนนะคะ


แค่เห็นภาพ ก็อยากฟังเสียงเพลงนี้อีกจังเลยค่ะ ^_^

โอ๊ะ!! เดี๋ยวค่ะ ยังไม่จบ
บ่ายนี้เราได้รูปเด็ดจากสายข่าวเศรษฐกิจ ที่ได้ผันตัวเป็นปาปารัสซี่เป็นที่เรียบร้อย
ส่งภาพลับสุดยอดมาให้เรา (?)


ผ่างที่ 1 : พี่อุ๊ผ้าพริ้ว ติดชึ่ง ตะลิดติดชึ่ง
(สังเกตพี่น้องแอบทำหน้าตกกะใจอยู่ข้างหลัง)

ผ่างที่ 2 : พี่มัณม้วนตัวท่าราวดอฟ ทำเอา "พี่อุ๊ผ้าพริ้ว"
อึ้งคิดท่าไม่ออกไปเลย อิอิ

จบตอน 2 (?)
จริงๆ นะจะบอกให้

ไม่มีความคิดเห็น: