วันอังคาร, มีนาคม 04, 2551

ศิลปะแห่งการให้

ในหนังเกาหลีเรื่อง อิมซังอ๊ก พ่อค้าหัวใจทรนง เมื่อเหม่ยหลิงสาวน้อยผู้ที่อิมซังอ๊กช่วยเหลือไถ่ตัวมาจากหอคณิกาได้ดิบได้ดี
ไปเป็นภรรยาเอกของพ่อค้าอันดับหนึ่งของเมืองจีนก็ระลึกถึงบุญคุณของอิมซังอ๊ก
อยากจะตอบแทนพระคุณ หากแต่อิมซังอ๊กกลับมิได้ร้องขอสิ่งตอบแทนใดใด แม้ยามนั้น เขาและเพื่อนพ้องกำลังตกอยู่ในภาวะถังแตกไม่รู้ว่าจะกอบกู้ฐานะเกียรติภูมิของกลุ่มการค้าตนอย่างไร

บางคนด่าว่าอิมซังอ๊กโง่เขลา ไม่รู้จักใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์กับตน
อิมซังอ๊กกล่าวสั้นๆ แต่เพียงว่า ในขณะที่เขาได้ให้ความช่วยเหลือ ก็ไม่เคยที่จะหวังสิ่งตอบแทนใดใด

ผลแห่งการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนนี้ มิได้นำอิมซังอ๊กไปสู่ความรุ่มรวยมากขึ้น ในนัยยะแห่งความสำเร็จของพ่อค้า หากแต่นำไปสู่การเป็นผู้มีเกียรติ ความเป็นผู้มีใจสูง ได้รับความเคารพนับถือและเป็นที่ไว้วางใจจากคนทั่วไป

แล้วการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนนั้นเพียงพอแล้วล่ะหรือ?

ก็ไม่แน่นัก กิ่งมะพร้าวนอกหน้าต่างส่ายไหวแทนคำตอบ

เพราะการให้ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของการกระทำที่ดีงาม ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ประกอบอีกด้วย ความเมตตากรุณาที่แท้จริงย่อมมีปัญญากำกับอยู่เสมอ

การให้ที่แท้จริงย่อมไม่ก่อให้เกิดความเบียดเบียนต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้รับ หรือตัวผู้ให้เอง

ลองนึกดูภาพที่มีการยัดเยียดให้กับคนที่ไม่พร้อมที่จะรับ ไม่ว่าจะเป็นการให้สิ่งของ แรงงาน ความรู้ คำแนะนำ ฯลฯ การให้นั้นก็คงเปล่าประโยชน์ไร้ความหมาย โดยนัยยะนี้ เราจำต้องคำนึงถึงวาระของผู้รับให้มาก ว่าเขาหรือเธอมีความพร้อมที่จะรับเพียงพอหรือไม่
ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นการให้ที่สนองความอยากให้ของเรามากกว่าความต้องการรับของเขาหรือเธอ

หรือหากผู้ให้หลังจากให้ไปแล้ว กลับมีความรู้สึกยะโสทะนงตน คิดว่าตนเองอยู่สูงกว่าเหนือกว่าผู้รับ การให้นั้นย่อมนำไปสู่ความโง่ เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ คนหนุ่มสาวมักจะตกหลุมพรางนี้
พอริหัดที่จะให้ คิ้วกลับเลิกสูงแทนอาการอ่อนน้อม หากทำจนติดอยู่ในนิสสัยสันดาน นอกจากจะเป็นเด็กไม่น่ารัก เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังไม่น่ารักอยู่นั่นเอง

จะว่าไปแล้วจุดมุ่งหมายของการให้จึงอยู่ที่การส่งเสริมขัดเกลาจิตใจของผู้ให้เป็นหลักใหญ่ใจความ รองลงไปก็เป็นเรื่องของสิ่งที่ให้ ว่ามีคุณประโยชน์มากน้อยเพียงไร

คนรุ่นเราทุกวันนี้เข้าใจว่าเรื่องของการให้หรือการทำทานเป็นเรื่องที่ต้องไปทำบุญกับพระที่วัด ไปปล่อยนกปล่อยปลา บริจาคเงินสร้างโบสถ์ ทำอะไรเพื่อพ่อ ทำอะไรให้แม่ ฯลฯ - การให้ในลักษณะนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะทำได้ถ้ามีเงิน ทำได้ถ้ามีเวลา ทำได้ถ้ามี...

ทำไมการให้จึงเป็นเรื่องแปลกแยกจากการดำเนินชีวิตของเรา? ทำไมเราต้องมีต้นทุนบางอย่างในการให้? ทำไมการให้จึงไม่ได้อยู่ในชีวิตการงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วัน?
ทำไมการให้จึงไม่ได้อยู่ในการกิน การนอน การเดินทาง และแม้กระทั่งการเข้าห้องน้ำ?

หากมองจากอีกมุมหนึ่ง การทำงานของเราทุกวันนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นล่ะหรือ? อาหารที่เรากิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานของ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนครัว แรงงานต่างชาติ และของคนอีกหลายๆ คน ล่ะหรือ? การกิน การนอน การเดินทาง ของเราไม่ได้เป็นไปเพื่อจะยังชีพอันเป็นประโยชน์ต่อโลกต่อคนอื่นล่ะหรือ? ฯลฯ

โดยเหตุนี้ การประกอบสัมมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการรับราชการ การทำงานเอกชน
หรือการรับจ้างทำงานส่วนตัว หากเป็นไปเพื่อเลี้ยงชีพด้วยงานอันเป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดความเกื้อกูลต่อตนเองและผู้อื่นแล้ว ก็ถือว่าเป็นการใหยังความสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างอีกเล่า การให้การยอมรับ การพร้อมที่จะเข้าใจ การรับฟังอย่างลึกซึ้งต่อความทุกข์ของเพื่อนร่วมงาน
เพื่อนฝูง และคนในครอบครัว หรือการให้อภัยต่อศัตรู ก็เป็นการให้ที่ละเอียดอ่อนโยนมาก

การรดน้ำต้นไม้ สิ่งมีชีวิตร่วมโลกที่แลกเปลี่ยนลมหายใจกับเรา ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่ทำงาน ก็ถือเป็นการให้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องยุ่งยากกับการวิ่งไปซื้อของทำบุญตักบาตรพระที่นิมนต์ขึ้นรถมาถึงที่ทำงานโดยเฉพาะด้วยซ้ำ

การประหยัดไฟฟ้า น้ำ กระดาษพิมพ์เอกสาร ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน ห้องอาหาร โรงแรม สปา ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ โดยคำนึงถึงความทุกข์ความเบียดเบียนอันเกิดกับป่าไม้ ระบบนิเวศน์ ชาวบ้าน ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นคนจ่ายค่าน้ำค่าไฟหรือมีเงินพอที่จะจ่ายก็ตามนั้นถือเป็นการให้ที่ต้องฝึกฝน
การใช้ปัญญาในการมองให้เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้งมากทีเดียว

จะเห็นว่า คุณประโยชน์ของสิ่งที่ให้นั้นมีความละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกันออกไป
แต่การให้อันเป็นธรรมชาติ เป็นของแท้ ก็คือการให้จากหัวใจ จากเนื้อจากตัวของผู้ให้ อยู่ในวิถีชีวิตของผู้ให้จริงๆ ไม่ได้อยู่เฉพาะนอกเวลาทำงาน หรือเฉพาะเวลาว่าง หรือเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น

ดังนั้นเองเมื่อจิตของผู้ให้เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และการทำให้ชีวิตของเราเป็นเรื่องราวเดียวกันกับการให้
นี้แหละ คือศิลปะของการให้อย่างแท้จริง


ชลนภา อนุกูล

ไม่มีความคิดเห็น: