วันพุธ, เมษายน 25, 2550

วิถีแห่งเป้าหมาย


พระอาจารย์เซน ติช นัท ฮันห์ แนะวิถีแห่งความเบิกบานและความสุขในชีวิตประจำวัน ว่าให้เราหัดที่จะ “ล้างจานเพื่อล้างจาน” และ “เดินเพื่อเดิน”
หลายคนที่ได้อ่านแนวทางนี้ในหนังสือ “ปาฏิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” อดฉงนสงสัยไม่ได้ว่า เราไม่ได้ล้างจานเพื่อให้จานสะอาด หรือเราไม่ได้เดินเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ใดที่หนึ่งหรอกหรือ
สำหรับพระอาจารย์เซน การล้างจานเป็นไปเพื่อการล้างจานเท่านั้น เป็นการใส่ใจอย่างเต็มที่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบัน
เมื่อเราทำสิ่งนั้นด้วยความใส่ใจ จิตใจเบิกบานแล้ว กระบวนการหรือการกระทำนั้นก็จะส่งผลตามเหตุที่กระทำเอง
เมื่อคราวที่ข้าพเจ้าไปฝึกปฏิบัติในสำนักของท่านที่ชื่อว่า หมู่บ้านพลัม (Plum Village) ประเทศฝรั่งเศส ท่านให้เราทำความรู้สึกขณะล้างจานเหมือนกับว่าเรากำลังสรงน้ำพระพุทธรูป เราประคองจานอย่างนุ่มนวล กวาดล้างเศษอาหารออกจากจานอย่างประณีต ชโลมน้ำ ใช้มือลูบล้างจานอย่างอ่อนโยน เนิ่นนาน และในน้ำสุดท้าย เราจะแช่ภาชนะในน้ำที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ท่านก็ให้เรานับลมหายใจสามรอบแทนการจับเวลาตามนาฬิกา
เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ จานที่ล้างก็สะอาด ไม่มีเสียงดังเนื่องจากจานชามกระทบกันขณะล้าง ไม่มีสิ่งใดตกแตก และที่สำคัญผู้ล้างจานก็มีความเบิกบานอยู่กับการล้างจานและลมหายใจ
ในชีวิตประจำวัน เราเคยล้างจานอย่างนี้กันหรือไม่ โดยมาก เราพูดว่าล้างจานเพื่อให้จานสะอาด และการล้างจานเป็นภารกิจเล็กๆ แสนน่าเบื่อ ที่ต้องรีบๆ ทำให้เสร็จๆ ไป แล้วจะได้ไปทำอย่างอื่นต่อ หรือในระหว่างล้างจาน เราก็ไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ
เมื่อลองสำรวจกิจกรรม การงานต่างๆ ในชีวิต เราคงพบแบบแผนเดียวกันนี้อยู่ไม่น้อย ข้าพเจ้าถูกตักเตือนเสมอว่า “ไม่ค่อยกินข้าว เอาแต่กินความคิด คำพูด และรายการโทรทัศน์ที่ดูไปด้วยระหว่างนั้น”
พระอาจารย์ยังบอกให้เราหัดเดินอย่างมีความสุขทุกย่างก้าว สัมผัสความหนักแน่นของผืนดินที่รองรับเรา ชื่นชมเส้นทางที่เราก้าวผ่าน คนที่ร่วมเดินทาง ต้นไม้ริมถนนที่ให้ร่มเงา อย่ามัวแต่เดินพุ่งไปข้างหน้า เพื่อไปให้ถึงที่ที่มุ่งหมายเท่านั้น
ส่วนใหญ่ เราไม่อาจเบิกบานกับการกระทำในปัจจุบันวิถีของเราได้ เพราะเราห่วงหน้า พะวงหลัง คิดล่วงไปถึงปลายทางของงาน ผล เป้าหมาย และเลื่อนลอยไปกับเรื่องอื่นๆ ในอดีต
นี่อาจเป็นผลพวงของการอยู่ในยุคสมัยทุนนิยมอุตสาหกรรม แนวคิดที่เป็นกลไกเครื่องจักร และการทำกำไรสูงสุดทางด้านเศรษฐกิจ เข้าครอบงำมิติอื่นๆ ในชีวิตและวิธีคิดของเรา
ในโครงการ แผนงาน หรือธุรกิจต่างๆ สิ่งสำคัญที่เราคำนึงถึงคือ “เป้าหมาย” ผลที่เราคาดว่าจะได้รับ และปลายทางที่เราปรารถนาจะไปถึง แต่เรากลับไม่ใส่ใจหรือไม่ให้ความสำคัญกับ “วิธีการ” วิถีแห่งการงานมากนัก
หลายคนคงคุ้นหูกับถ้อยคำทำนองว่า “จะทำอย่างไรก็ได้ที่ให้ผลออกมาตามเป้าหมาย”
เราเห็นคนเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย จึงเอา “งาน” และ “ผลงาน” เป็นตัวตั้ง โดยละเลย “ความสัมพันธ์ระหว่างคน” ด้วยกัน
หากใครไม่สามารถสร้างงานได้ดังคาด คนผู้นั้นก็จะถูกผลักออกนอกวงไป
เมื่อ “เป้าหมาย” คือ “ความสำเร็จ” หรือกำไรสูงสุด แรงกดดันก็ปรากฏ ผลักดันให้คนทำงานมากๆ งานล้นมือ มีการให้รางวัลแก่ผู้บรรลุเป้าหมาย และลงโทษผู้ที่ไปไม่ถึง
สุดท้าย คนก็เครียด เมื่อต้องแข่งขันกันทั้งในและนอกองค์กร
ยิ่งไปกว่านั้น หากจำต้องวัดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมด้วยแล้ว หน่วยวัดตัวเลขเชิงประจักษ์จับต้องได้ก็อาจถูกนำมาใช้ เช่น การวัดคุณภาพนักเรียนจากคะแนนเฉลี่ย หรือวัดฐานะความรวยจนจากตัวเลขในบัญชีทรัพย์สิน
บางองค์กรที่ดำรงอยู่เพื่อสร้างสรรค์ความสุข สร้างเสริมสุขภาพและความดีงาม ทว่าคนในองค์กรกลับเคร่งเครียด ไม่มีความสุข เนื่องจากกำลังทำให้เรื่องความสุข ความดี ความงาม กลายเป็น “ตัวงาน” ไม่ใช่วิถีแห่งการงานและชีวิตของผู้คน
การมีเป้าหมาย การคาดหมายผล ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าลืมว่าเราไม่อาจแยก “เป้าหมาย” ออกจาก “วิถี” ได้
เพื่อนคนหนึ่งให้แง่คิดแก่ข้าพเจ้าว่า เรามัวแต่เรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ¬หรือกฎหมายที่ดีที่สุด แต่กลับไม่ช่วยกันเสริมสร้างวิถีแห่งประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต
น่าตั้งคำถามต่ออีกนิดว่า ในครอบครัว บริษัท องค์กร ไปจนถึงภาคการเมืองนั้น เอาเข้าจริง เราเปิดพื้นที่ให้แก่คนเล็กคนน้อยในสังคมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นแค่ไหน หรือเราเรียนรู้ที่จะเคารพและยอมรับว่าพวกเขาคิดต่างจากเราได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ หากเราตั้งเป้าหมายที่จะมีวิถีแห่ง “ประชาธิปไตย” ในใจ แต่เรากลับมุ่งหน้าไปบนหนทางแห่งความไม่เสมอภาค หรือเผลอผูกขาดทางความคิด ต่อให้ไปถึงหลักชัย หมุดหายนั้นก็ไร้ความหมาย
พูดให้ชัดก็คือ หากเราปรารถนาที่จะสร้างสังคมอุดมปัญญา ผู้คนเรียนรู้ที่จะพอ แต่เรากลับส่งเสริมการผลิตเครื่องรางของขลังที่สร้างเม็ดเงินนับพันล้าน ปล่อยให้เมก้าช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ผุดขึ้นมากกว่าจำนวนห้องสมุด สนามกีฬา และสวนสาธารณะ เกิดการใช้งบประมาณมากมายเพื่อจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ผู้คนรู้จักความพอเพียง นั่นแสดงว่าเรายังเห็น “เป้าหมาย” แยกขาดจาก “วิถี”

ในกรณีนี้ แม้ผู้คนในสังคมจะสะกดคำ “ความพอเพียง” ได้ถูกหลักไวยกรณ์ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณภาพทางปัญญาของพวกเขาจะอุดม
“วิถี” จึงเป็น “เป้าหมาย” ในตัวเอง เป็นเป้าหมายที่อยู่ที่นี่ ตรงนี้แล้ว เราทำให้เกิดขึ้นในตัวได้ตลอดเวลา เป็นวิถีกำหนดชีวิตของผู้เดินไปในวิถีนั้น
แต่ละวิถีจะนำไปสู่หนทางและผลของมันเอง บางวิถี มีผลปรากฏในทันที ผลเกิดมากน้อย ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับเหตุที่ก่อ
บางวิถีใช้เวลานาน กว่าผลจะปรากฏ โดยมาก วิถีไหนที่ผลปรากฏช้าแบบนี้ ผลของมันก็มักมีพลัง ก่อเป็นกำลังค่อนข้างแรงทั้งในทางบวกและทางลบ
คนที่สูบบุหรี่มักไม่รู้สึกว่าวิถีแห่งการสูบบุหรี่จะก่อให้เกิดปัญ¬หาสุขภาพ กระทั่งสิบปีล่วงเลยจึงพบว่าตนเป็นโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ปอดเสื่อมเกินการเยียวยา
การเข้าถึงวิถีจึงหมายถึงการเข้าถึงหัวใจ แก่นแกน และจิตวิญญาณของสิ่งนั้นๆ เราจะเข้าถึงวิถีนั้นได้ก็ด้วยการใส่ใจกับการกระทำอย่างเต็มเปี่ยม หมั่นตรวจสอบวิถีว่าเรายังเดินอยู่บนวิถีนั้นหรือไม่ หลงทางหรือออกนอกเส้นทางแห่งวิถีนั้นไปไกลแล้วหรือยัง
หากนักเรียนเข้าถึงวิถีการเรียนรู้ เขาจะเรียนหนังสืออย่างไร ผลที่จะเกิดกับเขาคืออะไร
หากผู้สื่อข่าวเข้าถึงวิถีแห่งการทำข่าว เขาจะนำเสนอข่าวอะไร และวิธีการนำเสนอจะเป็นอย่างไร
ครูที่เข้าถึงวิถีแห่งการสอน จะสอนอย่างไร และปฏิบัติอย่างไรกับนักเรียนหรือลูกศิษย์ของเขา
ผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาสุขภาพจิต คุณภาพใจของผู้คน พวกเขาจะมีวิถีการทำงาน วิถีการปฏิบัติตนในงานและในชีวิตของตนอย่างไร

เราเห็นวิถีแห่งการกิน การเดิน วิถีแห่งการขับยวดยานพาหนะ วิถีแห่งการอ่านการเขียน วิถีการนอน การกวาดถนน วิถีแห่งการประกอบธุรกิจ การทำงานเพื่อสังคม และอื่นๆ แล้วเราจะมีวิถีชีวิตเช่นไร
หากย้อนกลับไปอ่านทบทวนคำสอนที่พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ ที่แนะเราข้างต้น ให้เข้าถึงวิถีของการล้างจานอีกครั้ง นั่นคือ การล้างจานเพื่อล้างจาน บางที เราอาจได้คำตอบ ซึ่งเป็นคำตอบเดิมๆ ที่เราเคยตระหนัก ทว่าหลงลืมหรือทำตกหล่นหายระหว่างทาง

กรรณจริยา สุขรุ่ง
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ media4joy@hotmail.com
www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ไม่มีความคิดเห็น: