วันศุกร์, เมษายน 20, 2550

คนหลายใจ?


เมื่อพูดถึง คนหลายใจ ก่อนอื่นถ้าจะถามว่า หมายถึงอะไร? หากจะให้เดาใจ ผู้เขียนคิดว่าคนส่วนใหญ่คงตอบว่า หมายถึงผู้หญิงหรือผู้ชายก็แล้วแต่ที่มีคู่ครองหรือคนรักหลายคน ถ้าเป็นผู้ชายก็คงหมายถึงผู้ที่มีภรรยาหลายคน เช่นนี้ใช่หรือเปล่า?
ถ้าจะให้ผู้เขียนอธิบายความหมายเกี่ยวกับคำตอบที่กล่าวแล้ว มันน่าจะเป็นเพียงลักษณะหนึ่ง ภายในภาพรูปเรื่องนี้เท่านั้น แต่คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักสะท้อนความคิดให้เห็นว่ามีรากฐานจิตใจ ซึ่งตกอยู่ในสภาพตื้นเขิน
ไม่เช่นนั้นแล้ว หลายครั้งหลายหน หลังจากรับฟังผู้เขียนพูดหรือไม่ก็อ่านจากข้อเขียนคงไม่บ่นว่า มันลึกเกินไปสำหรับการรับฟังแล้ว คงเข้าใจได้ยาก บางคนก็บ่นว่า ผู้เขียนพูดเป็นนามธรรมเหตุไฉนจึงไม่บอกออกมาเป็นรูปธรรมเพื่อเขาจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจได้ไม่ยาก
คำปรารภที่ได้กล่าวมาแล้วทำให้ผู้เขียนมีโอกาสรู้และเข้าใจถึงความจริงภายในจิตใจของผู้พูดดังกล่าวแล้วว่า บุคคลเหล่านั้น มีความสับสนระหว่างความหมายของรูปธรรมกับรูปแบบ ทั้งนี้และทั้งนั้น ยังรู้ต่อไปอีกว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักตกอยู่ในสภาพยึดติดรูปแบบ ทำให้ก่อความเสียหายแก่การพัฒนาสังคมอย่างหนัก
ถ้าอย่างนั้น น่าจะมีคำถามใหม่ว่า หากเกิดปัญหาดังกล่าว เราควรปฏิบัติอย่างไร? หากผู้เขียนมีผู้คนถามหารูปแบบตนก็คงไม่ตอบ เนื่องจากอธิบายได้ว่า รูปธรรมซึ่งบุคคลผู้หนึ่งเป็นคนกำหนดจากรากฐานตัวเอง สำหรับการรับฟังจากอีกคนหนึ่ง ย่อมตกอยู่ในสภาพที่เป็นรูปแบบ
ส่วนความหมายของรูปธรรมควรคิดและกำหนดจากใจตนเอง ถ้าบุคคลใดนำมาบอกผู้อื่น น่าจะเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ก็เป็นเพราะผู้บอกมีนิสัยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่รู้สึกตัว ซึ่งสภาพดังกล่าว ย่อมมีผลสร้างความเสียหายให้แก่ตนเองและสังคมเป็นสัจธรรม
อนึ่ง ความหมายของ “คนหลายใจ”ถ้าสามารถมองเห็นได้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่ง น่าจะหมายถึงคนที่มีรากฐานจิตใจหยั่งลงไม่ถึงจุดซึ่งมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง รวมเป็นหนึ่งเดียวกันหมด
แม้ผลจากการจัดการศึกษาที่ควรจะทำให้แต่ละคน ซึ่งผ่านพ้นกระบวนการมาแล้ว ทุกวันนี้ส่วนใหญ่มองเห็นศาสตร์สาขาต่างๆ แยกออกจากกันเป็นคนละเรื่อง แต่ไม่สามารถมองหวนกลับมาถึงสภาพที่เชื่อมโยงระหว่างกันและกันอย่างมีเหตุมีผล แม้แต่ความจริงในขณะนี้ที่เราอ้างถึงคำว่า บูรณาการณ์ แต่ในทางปฏิบัติเท่าที่ปรากฏเห็นได้ชัดเจนก็ไม่เป็นไปตามนั้น เปรียบเสมือนปากว่าตาขยิบโดยไม่เจตนา หากเป็นไปเพราะความไม่รู้
มีตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันขณะนี้ สิ่งนั้นก็คือ การมองเห็นความหมายของ การอนุรักษ์กับพัฒนาว่าเป็นคนละเรื่อง แท้จริงแล้วทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นเรื่องที่อยู่ในวัฎจักรเดียวกันภายในรากฐานจิตใจของมนุษย์แต่ละคน
การอนุรักษ์ควรหมายถึงจิตใต้สำนึกที่หยั่งรู้คุณค่าของสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งปรากฏเป็นความจริงอยู่ในสภาพแวดล้อมของจิตใจแต่ละคน ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนควรใช้ประโยชน์ในด้านการรักษาความมั่นคงเอาไว้ให้เป็นที่พึงในการดำเนินชีวิตของเราแต่ละคนในระยะยาว
ส่วนการพัฒนาควรหมายถึง ความคิดในการกำหนดวิถีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำสิ่งต่างๆมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและรู้ซาบซึ้งถึงความหมายโดยใช้สิ่งนี้เป็นพื้นฐาน ไม่เช่นนั้นแล้วการพัฒนาสิ่งทั้งหลายทั้งมวลอาจมีผลนำไปสู่การทำลายปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นที่พึ่งพาในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เอง
หากสามารถมองเห็นได้ว่า การอนุรักษ์ร่วมกับการพัฒนา คือวิถีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมจักร โดยมีศูนย์รวมอยู่ในรากฐานจิตใจของมนุษย์แต่ละคนอย่างเป็นธรรมชาติ หากชีวิตใครเข้าถึงสภาพดังกล่าว วิถีการดำเนินชีวิตของผู้นั้น ย่อมนำไปสู่การสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์แก่จิตใจตนเองร่วมกับสังคมอย่างเป็นธรรมชาติ
คำว่า คนหลายใจ ถ้าสามารถมองเห็นความจริงได้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่ง ควรจะรู้ได้ว่า การจัดการศึกษา ซึ่งดำเนินมาแล้วจนถึงช่วงนี้มีผลทำลายรากฐานจิตใจคนให้ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอยิ่งขึ้นทุกวันจนกระทั่งไม่อาจสามารถพึ่งพาความจริงซึ่งอยู่ในใจของแต่ละคนอย่างเป็นธรรมชาติได้
จากประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนที่กล่าวเข้ามาสนใจอนุรักษ์และพัฒนากล้วยไม้ตนได้พบความจริงจากจุดดังกล่าวว่า ความเข้มแข็งภายในรากฐานจิตใจตนเองร่วมกับการปฏิบัติสามารถนำไปสู่การหยั่งรู้ความจริงของศาสตร์สาขาต่างๆที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้
แม้ในขณะนี้ ตนก็ยังสนใจที่จะค้นหาความจริงจากความแตกต่างระหว่างศาสนา ซึ่งผลจากการเรียนรู้เรื่องนี้ น่าจะช่วยให้ตนสามารถยืนหยัดขึ้นบนขาตัวเอง ซึ่งหมายถึงสัจธรรมในการดำเนินชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจ นอกจากนั้น ผลจากความจริงที่อยู่ในศูนย์รวมจากทุกสิ่งทุกอย่างสามารถทำให้กล้วยไม้ของไทย ซึ่งเริ่มต้นจากแทบไม่มีอะไรเลย นอกจากแรงต่อต้านของกลุ่มผู้มีอำนาจในช่วงเริ่มต้น กลับทำให้กล้วยไม้ของไทยเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งถึงนานาชาติ
อนึ่ง ผลจากการปฏิบัติเท่าที่ผ่านพ้นมาแล้ว มีบางคน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับพื้นดินอย่างเป็นธรรมชาติที่ชายแดนระหว่างไทยกับเขมรได้ปรารภว่า ผู้เขียนเป็นคนมีศาสตร์ทุกสาขาอยู่ภายในรากฐานจิตใจตนเอง ภาพสะท้อนดังกล่าวสอดคล้องกันกับปรัชญาของวิชาสถิติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปรัชญาธรรมชาติ ซึ่งชี้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ มีทิศทางของการหมุนวนเป็นวัฎจักร ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใดที่จะสูญเสียไปทั้งหมด อย่างน้อยย่อมมีหนึ่งเดียวที่ยังคงอยู่ได้ ซึ่งสัญลักษณ์ภายในวิชาสถิติเรียกว่า Degree of freedom (n-1)
ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้เขียนได้นำปรัชญานี้มาใช้ในการอนุรักษ์และพัฒนากล้วยไม้ของเมืองไทย ไม่เช่นนั้นวงการกล้วยไม้คงไม่สามารถก้าวมาได้จนกระทั่งถึงจุดนี้
ดังนั้น บุคคลผู้เห็นความจริงเรื่องนี้จากจิตใจผู้เขียน แม้จะเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง ย่อมมีผลสอนให้รู้ว่า เราไม่ควรดูถูกชีวิตและสิ่งต่างๆที่อยู่ต่ำกว่าเราเมื่อไม่คิดดุถูกก็ย่อมคิดยกย่องเป็นธรรมดา

๔ เมษายน ๒๕๕๐
ระพี สาคริก

ไม่มีความคิดเห็น: