วันอังคาร, มกราคม 22, 2551

เด็กไทย พ.ศ.นี้

สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

คำขวัญวันเด็กแห่งชาติปีนี้ ยังคงเอกลักษณ์ความคล้องจองและวนเวียนอยู่กับคำที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นคำ สามัคคี ก็ดี วินัย ก็ดี รวมทั้งคำสุดท้าย คุณธรรม ซึ่งน่าสังเกตว่าเป็นคำที่เพิ่งได้รับความสำคัญในช่วงไม่กี่ปีมานี้

วลีอื่นๆ อย่าง ความรู้คู่คุณธรรมเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เราเห็นว่าสังคมไทยกำลังวิตกอะไรอยู่ ลำพังการเป็นบัณฑิตผู้รู้ เป็นผู้มีการศึกษาไม่เพียงพออีกต่อไป

ทำไมคนเก่งยุคนี้จำต้องมีคุณธรรมมากำกับ หากสังคมเต็มไปด้วยคนเก่งที่ปราศจากคุณธรรมในการดำเนินชีวิต สังคมจะเป็นเช่นไรต่อไป และลำพังการสอนคุณธรรมถ่ายเดียวจะเพียงพอไหมสำหรับการพัฒนาคนให้เท่าทันการพลิกผันของการเมืองไทย

(1)

ค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้ชมรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่เชิญเด็กๆ จากชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ มาออกรายการให้สัมภาษณ์ ซึ่งแขกรับเชิญตัวน้อยในรายการได้ตอบคำถามพิธีกรหญิงถึงอนาคตในชีวิต

เด็กชายตอบคำถามด้วยเสียงดังฟังชัดว่า เขาต้องการเป็นคนเก่งทางด้านเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร (ไอที) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อนำไปพัฒนาชุมชนของตน ขณะที่เด็กหญิงอีกรายตอบว่า เธอใฝ่ฝันจะเป็นคุณครูนักพัฒนา โดยปรารถนาที่จะเห็นความเจริญก้าวหน้าของชุมชนที่ตนพำนัก ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ชุมชนของตนน้อยหน้ากว่าชุมชนอื่นใด

ครั้นพิธีกรถามกลับไปยังเด็กชายรายแรกว่า เหตุใดจึงต้องการนำความรู้เรื่องไอทีเข้ามาในชุมชน เด็กชายเงียบเสียงและนิ่งคิดไปชั่วขณะก่อนจะออกมาตอบว่า เป็นเพราะตนไม่ต้องการเห็นชุมชนของตนน้อยหน้ากว่าที่อื่นๆ

กรณีตัวอย่างที่ผมยกมาพูดถึงนี้ คงไม่ใช่ความฝันของเด็กทุกคนเป็นแน่ แต่ถึงกระนั้น คำตอบของพวกเขาก็ชวนให้เราคิดต่ออีกนิดว่า โลก ของผู้คนวันข้างหน้าในจินตนาการของเด็กยุคนี้จะเป็นเช่นไร หรือภาพลักษณ์ของไอทีในชุมชนจะมีประโยชน์อะไรได้อีกนอกจาก หน้าตา ในสังคม

จะว่าไปแล้ว คำตอบของเด็กชายในรายการอาจเป็นคำตอบที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด ชุมชนและโรงเรียนไหนที่มีห้องคอมพิวเตอร์เป็นสัดส่วนโดยเฉพาะย่อมดูดีและดูทันสมัยกว่าชุมชนที่ไม่มี ด้วยเหตุนี้ ไอทีในนัยยะข้างต้นจึงไม่ได้มีความหมายใดอื่นนอกเสียจากการเป็นหน้าตาอาภรณ์ของชุมชน เป็นชุมชนที่เจริญ ทันสมัย และล้ำหน้ากว่าที่อื่นๆ

ในชั้นนี้ ความสนใจของเด็กทั้งสองจึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องคุณธรรมความดี หากแต่โน้มเอียงมาที่สัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าและรูปธรรมการพัฒนาสังคมร่วมสมัย ในที่นี้ก็คือไอที

ถ้าเช่นนั้น ใครกันที่สนใจคุณธรรม จริยธรรม

สำหรับผม คำขวัญวันเด็กเหล่านี้น่าจะสะท้อนความเป็นไปในสังคมร่วมสมัยอย่างมีนัยยะสำคัญ

บริบทของสถานการณ์การเมืองและสังคมน่าจะมีส่วนในการกำหนดคำขวัญวันเด็กในแต่ละปี ทั้งการจำลองความในใจของผู้ใหญ่อย่างนายกรัฐมนตรี ไม่ก็เป็นการย่นย่อความปรารถนาดีของรัฐที่มีต่อพลเมือง

หากเป็นเช่นนั้น นัยยะของคำขวัญวันเด็กเรื่องคุณธรรมน่าจะมุ่งสะกิดใจผู้ใหญ่มากกว่าที่จะหวังเพียงสอนสั่งกันในหมู่เด็ก เป็นคำขวัญวันเด็กที่อาจกระทบใจผู้ใหญ่หลายคนเข้าอย่างจัง

(2)

เด็กนักเรียนในโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี ล้วนได้รับการสั่งสอนให้เป็น คนดี ก่อนที่จะเป็น คนเก่ง ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เคยบรรยายความว่า หากเด็กๆ เรียนรู้ที่จะเป็นคนเก่งก่อน เขาอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นคนมีนิสัยเห็นแก่ตัว พวกเขาอาจกลายเป็นคนที่แล้งน้ำใจผู้ไม่รู้จักการแบ่งปัน มุ่งหวังเพื่อเป็นที่หนึ่งไม่สำคัญว่าจะต้องใช้วิธีการใดให้ได้มาก็ตาม

ในทางตรงกันข้าม หากฝึกให้พวกเขาเป็นคนดีที่รู้จักเอื้ออารีต่อผู้อื่นตั้งแต่เด็ก เขาก็จะรู้จักใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขและไม่เบียดเบียนใคร

ศ.ดร.อาจอง บอกว่า เมื่อเด็กๆ เป็นคนดีมีหัวใจและมีความสุข สติปัญญาของพวกเขาก็จะตามมาเองโดยปริยาย

ผู้คนทุกวันนี้ ต่างเล็งผลเลิศในชีวิต ต้องการเป็น ที่หนึ่ง เหนือใคร ซึ่งมีปรากฏให้เห็นในทุกสังคมและวงการ

หากพิจารณาคำตอบของเด็กน้อยในรายการโทรทัศน์ข้างต้นย่อมเห็นลำดับการจัดเรียงสิ่งสำคัญในชีวิตของพวกเขาอย่างชัดเจน นั่นคือ ลำดับแรก ความรู้ความสามารถย่อมสำคัญกว่าคุณธรรม

เด็กชายรักที่จะเรียนรู้เรื่องไอทีให้เก่งกาจ แต่กลับไม่รู้ว่าตนจะเรียนรู้ให้เก่งไปเพื่ออะไร ตอบคำถามพิธีกรรายการไม่ได้ว่าจะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับชุมชนของตนอย่างไรให้เกิดประโยชน์

ส่วนเด็กหญิงใฝ่ฝันที่จะเป็นครูนักพัฒนา แต่ยังไม่รู้ว่าควรพัฒนาอะไรก่อนหลัง คนหรืออาคาร ระบบการศึกษาหรือสาธารณูปโภค เธอคงตอบแต่เพียงภาพลักษณ์ภายนอกของการพัฒนา ผิวเผิน ปราศจากมิติการพัฒนาคนและจิตวิญญาณ ความสงบสุขภายในจิตใจ

(3)

การเมืองไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นวุฒิภาวะของคนไทยไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นฝากทหารหรือพลเรือน ชาวบ้านหรือชนชั้นกลาง ข้าราชการหรือนักการเมือง คนเหล่านี้ได้ชี้ให้เราเห็นว่า ความไม่แน่นอน เป็นเช่นไรในโลกแห่งความเป็นจริง

เริ่มต้นด้วยความไม่ไว้วางใจว่าประชาชนจะคลี่คลายปัญหาบ้านเมืองได้เอง และจบลงด้วยการตัดสินใจก่อรัฐประหารในพ.ศ.ที่พลโลกต่างส่ายหน้ากับการกระทำดังกล่าว

น่าถามคณะผู้ก่อการในวันนั้นว่า หากพวกเขารู้ว่าผลสุดท้ายจะลงเอยเช่นนี้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ พวกเขาจะก่อการดังกล่าวหรือไม่

นักการเมืองหลายรายที่ถูกปลดออกจากเวทีวันนั้น ได้หวนกลับมาสู่เวทีการเมืองนี้อีกครั้ง และการกลับมาครั้งนี้ก็เป็นการกลับมาอย่างงามสง่าด้วยการชนะคะแนนเสียงเลือกตั้งตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เป็นเสมือนการยืนยันความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่อีกครา ไม่ว่าจะโดยชอบหรือไม่ก็ตาม

คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยคงรู้สึกถึงสภาวะที่ไร้คำตอบ ไม่มีความคิดเห็น คงมีก็แต่ความเงียบงันเท่านั้นที่เริ่มคืบคลานเข้ามาในห้วงคำนึงเป็นระยะๆ

คำตอบของหนูน้อยทั้งสองน่าจะช่วยให้เราเข้าใจอะไรได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งสองไม่ผิดหรือถูก คำตอบของเขาได้กระซิบข้างหูเราให้ตระหนักว่า หลักไมล์ของการพัฒนาคน พลเมืองของรัฐ คืบหน้าไปไม่ถึงไหนนัก

ไม่ใช่เพราะเขาตอบคำถามไม่ตรงใจ ไม่ใช่เพราะเขาเบาปัญญา และไม่ใช่เพราะเขาไม่ตอกย้ำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมดั่งคำขวัญจากนายกฯ

แต่เป็นเพราะนักเรียนทั้งสองไม่ได้ถูกสอนให้มองเห็นการเชื่อมโยงระหว่างหลักคิดกับการปฏิบัติ ความฝันกับความเป็นจริง

พวกเขาอาจมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง การให้ กับความต้องการของผู้รับ ไม่เห็นคำตอบทางเลือกอื่นๆ ที่ก้าวพ้นไปจากภาษาและวิธีคิดเดิมๆ ของผู้ใหญ่

ที่สุด พวกเขาอาจเป็นคนเก่งในวันหน้า แต่อาจเป็นนักพัฒนาที่มองข้ามคนและหัวใจของพวกเขา

เด็กชายอาจเป็นนักไอทีชื่อดังที่นำนวัตกรรมที่ฟุ่มเฟือยเข้ามาในหมู่บ้าน

เด็กหญิงอาจเป็นครูนักพัฒนาที่ย้ำคิดย้ำทำ ย่ำรอยแนวทางการพัฒนาสังคมไทยแบบเดิมๆ พร้อมด้วยความเชื่อมั่นว่านั่นเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญ โดยไม่เคยเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่ต่างออกไป

วันนี้ยังไม่สายที่รัฐจะคิดให้ลึกไปกว่าคำขวัญวันเด็กประจำปี เรายังมีเวลาที่จะหันมาพิจารณาความก้าวหน้าของระบบการเรียนการสอน และสารัตถะของระบบการศึกษา

คุณธรรม เป็นคุณสมบัติสำคัญของบุคคล แต่สำหรับการพัฒนาคน เราคงต้องการองค์ประกอบหรือส่วนผสมมากกว่านี้

คุณคิดเห็นอย่างไร...


เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ

เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ แฮปปี้มีเดีย

media4joy@hotmail.com

www.happymedia.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น: