ตั้งแต่ปลายปีกลาย หลายจังหวัดต่างสนุกสนานเพลิดเพลินกับเทศกาลฤดูหนาว ไม่ก็งานประเพณีรื่นเริงประจำจังหวัด เสมือนพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านแห่งฤดูกาลในใจเรา เป็นโอกาสให้เราได้ผ่อนพักเพื่อนิ่งสงบ และสรุปผลงานจากความพยายามในปีที่ผ่านมา
หากล้มเหลวก็เรียนรู้ สำเร็จก็ส่งยิ้ม ให้รางวัลแก่ตนเองและเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น
ตัวผมเองก็เช่นกัน ด้วยเกรงว่าลมหนาวจะจากไปเร็ว จึงรีบเก็บเสื้อผ้าบึ่งขึ้นเหนือ แวะพักระหว่างทางไม่บ่อยนัก เพื่อไปให้ถึงจังหวัดที่ไม่ใช่ทางผ่าน หากแต่ต้องตั้งใจมาเท่านั้น
และเรื่องราวที่ผมได้พบเจอที่จังหวัดน่านก็เป็นอีกบทเรียนชีวิตที่สอนให้ผมเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง จากกาแฟหอมกรุ่นเพียงถ้วยเดียวสำหรับคนเมืองก็อาจกระทบถึงวิถีชีวิตของผู้คนพื้นถิ่นโดยไม่ทันรู้ตัว
นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้บอกกล่าวกับผมว่า ความจริงแล้ว “กาแฟเด่นชัย” ที่ใครๆ ต่างพูดถึงในกลิ่นที่หอมหวล รสชาติก็ดีนั้น มีถิ่นกำเนิดมาจากน่าน เช่นที่บ้านสันต์เจริญ อำเภอท่าวังผา ซึ่งทางจังหวัดเล็งเห็นว่าหากมีการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้คนน่านนิยมดื่มกาแฟแทนสุรา ผลที่ได้รับจะเท่าทวี นั่นคือ การได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอันเกิดจากการดื่มแล้วขับ ทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดที่หันมาปลูกกาแฟป้อนตลาดแทนพืชผลที่ให้ผลตอบแทนต่ำ
“พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดน่านเป็นป่าไม้และภูเขาซึ่งปัจจุบันถูกชาวเขาและคนพื้นราบค่อยๆ รุกทำไร่เลื่อนลอย ทั้งปลูกข้าวไร่และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราว 3-4 แสนไร่ โดยเฉพาะช่วงนี้ขายได้ราคาดี ซึ่งการทำพืชไร่แบบนี้ทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ทำลายดิน ปัญหาสำคัญคือการลดลงของพื้นที่ต้นน้ำ ดังนั้น ทางจังหวัดจึงพยายามหาพืชชนิดอื่นที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ามาให้พวกเขาปลูกทดแทน เช่น ชา และกาแฟ ซึ่งปลูกกันมากที่บ้านสันต์เจริญ ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา” นายสมพงษ์ เท้าความถึงที่มาของการปลูกกาแฟเมืองน่าน
ว่าไปแล้ว สุรายาเมากับงานเลี้ยงหรืองานรื่นเริงนับว่าเป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะในสังคมไทยหรือชาติไหนๆ
หากนิ่งทบทวน หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง อาทิ “เหล้า” คือบทโหมโรงแห่งมิตรภาพ คือน้ำเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรม ยิ่งใครเคยเดินทางท่องเที่ยวยังพื้นที่ของ “คนไท” ตั้งแต่แหลมอินโดจีนข้ามไปถึงประเทศพม่า เรื่อยเลยไปถึงแคว้นอัสสัมของอินเดียย่อมนึกภาพทำนองนี้ออกเป็นแน่
ในแง่นี้ ความหมายของสุราจึงไม่ใช่น้ำพิษหรือน้ำอำมหิต ตรงกันข้าม กลับเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมลบเส้นแบ่งระหว่างคนพื้นถิ่นกับแขกผู้ผ่านทาง เป็นเสมือนน้ำมนต์ที่เริ่มอารัมภบทให้แก่วงสนทนา สร้างสรรค์รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ก่อนจะไปถึงบทตอนต่อไปในกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวัฒนธรรม
สำหรับสังคมไทยสมัยใหม่ โดยภาพรวม นัยยะที่ดีของสุราดังกล่าวได้ถูกกลบเกลื่อน เบียดบังจนเลือนหายไปแล้ว คงเหลือไว้เพียงภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เจ้าวายร้าย ต้นเรื่องของพิษภัยทางสังคม ต้นเหตุแห่งปัญหาสารพัด
อย่างไรก็ตาม ภาพเชิงลบของสุราย่อมเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติภัยบนท้องถนนจากการดื่มแล้วขับ หรือเหตุทะเลาะวิวาทหากดื่มเหล้าจนขาดสติ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมผลกระทบต่อเนื่องที่ตามมา ทั้งต่อสถาบันครอบครัว ความมั่นคงในชีวิตและจิตใจ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจในครัวเรือนและประเทศ
และน่าจะเป็นด้วยเหตุนี้ การรณรงค์ให้งดและเลิกการดื่มสุราในสังคมไทยจึงเริ่มแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่บทบาทภาคสังคมของมูลนิธิ “เมาไม่ขับ” ต่อด้วยโครงการเกี่ยวเนื่องอีกมากจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนงานเทศกาลประจำปี งานกาชาดจังหวัด ตลอดจนเทศกาลฤดูหนาวต่างๆ ในระยะนี้ ไม่เว้นแม้แต่งานเทศกาลกาแฟเมืองน่านและงานกาชาดประจำปีของจังหวัด
การจัดเทศกาลกาแฟเมืองน่านจึงเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีในกระบวนการสร้างกระแสให้คนน่านหันมาดื่มกาแฟแทนสุรา เป็นทางเลือกที่น่าลิ้มลอง เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักดื่ม เปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาในเรื่อง “ความสนุก” โดยไม่ต้องพึ่งสุรา ซึ่งเริ่มต้นกันตั้งแต่การห้ามนำเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์เข้ามาในบริเวณงานเลยทีเดียว
การคงรักษางานประเพณีท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับการช่วยลดปัญหาสังคมในเวลาเดียวกันจึงสมควรได้รับการส่งเสริมและชื่นชม
และถึงแม้จะมีเสียงบ่นจากพ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งแขกที่เข้ามาดูงานอยู่บ้างว่า บรรยากาศเทศกาลฤดูหนาวที่ขาดเหล้าย่อมไม่ครึกครื้น หนำซ้ำยังไม่อาจห้ามเหตุทะเลาะวิวาทได้ ด้วยบางรายแอบดื่มเหล้ามาก่อนที่จะเข้างาน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของงานที่ปลอดเหล้าในปีแรก เพียงยอดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ลดลงอย่างมากย่อมถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ไม่น้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี “การเปลี่ยนแปลง” ย่อมส่งผลกระทบเป็นธรรมดา เทศกาลกาแฟเมืองน่านก็เช่นกัน เมื่อทางจังหวัดและผลผลิตเมล็ดกาแฟถูกจับตามองว่ากำลังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของจังหวัดแทนส้มสีทอง ผลไม้ถิ่นน่านดั้งเดิม
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ เทศกาลฤดูหนาวประจำจังหวัดน่านเองก็ไม่ได้ใช้ชื่อนี้ หากแต่ใช้ชื่อว่า “งานส้มสีทองเมืองน่าน” ซึ่งทางจังหวัดตัดสินใจเปลี่ยน ด้วยต้องการส่งเสริมกาแฟดังเหตุผลนานับประการที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งส้มสีทองก็กำลังถูกลดความนิยมเมื่อตลาดหันมาบริโภคส้มสายน้ำผึ้งจากถิ่นอื่นแทน
เอกลักษณ์ของส้มสีทองที่ได้มาตรฐาน นอกจากมีรสหวานแล้ว สีผลก็ต้องมีสีเหลืองทองทั้งใบ ผิวเปลือกก็ต้องบาง ไม่เกาะติดกับกลีบส้มเมื่อแกะเปลือกออก รวมทั้งขนาดของกลีบส้มทุกกลีบก็ต้องเท่ากันเสมอ
แต่เนื่องจากการดูแลเพื่อให้ได้คุณภาพของผลส้มดังกล่าวนับว่าเป็นภาระที่ต้องอาศัยต้นทุนสูงในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ เกษตรกรสวนส้มรายย่อยจึงทยอยหันหลังให้กับอาชีพของตนเอง เมื่อเห็นว่าหนทางข้างหน้าย่อมได้ไม่คุ้มเสีย
ด้านนายนามโรจน์ ศรีวรรณนุสรณ์ นายกเทศมนตรีคนถิ่นน่านโดยกำเนิดเล่าว่า มูลเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อจากงานส้มสีทองเป็นงานเทศกาลกาแฟอาจเป็นเพราะทางจังหวัดเห็นทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของกาแฟสดใสกว่าอนาคตของส้ม ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ารสหวานของส้มน่านไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว ผู้บริโภคสมัยนี้นิยมรสหวานอมเปรี้ยวๆ ของส้มสายพันธุ์อื่นอย่างเช่นพันธุ์สายน้ำผึ้งจากเชียงใหม่และเชียงรายซึ่งมีรสชาติถูกปากผู้บริโภคมากกว่า
“ส้มสีทองที่ได้คุณภาพจะไม่มีสีเขียวปนบนเปลือกเลย เนื่องจากเติบโตบนที่สูง จึงได้รับความชื่นจากน้ำค้างเกาะนอกผิวส้มและแสงแดดอุ่นอบผิวให้สวยในช่วงสาย และจะหวานตอนฤดูหนาวเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น” นายนามโรจน์กล่าวย้ำถึงเอกลักษณ์ของส้มพันธุ์ท้องถิ่นที่กลับกลายมาเป็นข้อจำกัดสำหรับการแข่งขันในตลาด ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมปัญหาด้านเงินทุนในการทำเกษตรและการเคลื่อนย้ายขนส่งผลผลิตจากที่สูง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ส้มสีทองไม่อาจยันกระแสความนิยมที่มาแรงของส้มสายน้ำผึ้งได้
เกษตรกรสวนส้มเมืองน่านจึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปโดยปริยาย
ขณะที่เราๆ ท่านๆ กำลังนั่งดื่มกาแฟรสดีมีกลิ่นหอมที่บ้านหรือในร้านสวย เกษตรกรสวนส้มสีทองเมืองน่านกลับไม่รู้แน่ว่าจะทำอย่างไรต่อ เมื่อส้มจากไร่ขายไม่ออก ถึงขายออกก็ไม่ได้ราคา
คนติดกาแฟอาจดีกว่าติดเหล้าในทัศนะของใครหลายคน แต่สำหรับเกษตรกรสวนส้ม ยิ่งมีคนติดกาแฟมากเท่าไหร่ นั่นอาจหมายถึงดีกรีของความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น
เช้านี้ หากคุณดื่มกาแฟเสร็จแล้ว อย่าลืมนึกถึงส้มสีทองหวานอร่อยของคนน่าน เตรียมไว้ทานหลังอาหารด้วยนะครับ...
----------------------------//
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ – แฮปปี้มีเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น