...
การอบรม "เผชิญความตายอย่างสงบ" วันที่ ๕ – ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙
ณ แสนปาร์มเทรนนิ่ง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม จัดโดย เครือข่ายพุทธิกา และเสมสิกขาลัย
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ณ แสนปาร์มเทรนนิ่ง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม จัดโดย เครือข่ายพุทธิกา และเสมสิกขาลัย
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
วิทยากรหลัก
- พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต อ.แก้งเคร้อ จ.ชัยภูมิ
- นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี หน่วยรังสีรักษา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
- คุณกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ หน่วยรังสีรักษา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
- คุณปรีดา เรืองวิชาธร เสมสิกขาลัย
ทีมสนับสนุน
- นงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ เครือข่ายพุทธิกา
- นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ เครือข่ายพุทธิกา
- กิติพร พรหมเทศน์ เสมสิกขาลัย
- เจนจิรา โลชา เสมสิกขาลัย
เกริ่นนำ โดย พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา
“ชาติหน้ามาก่อนวันพรุ่งนี้” เป็นคำกล่าวของครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่ให้ข้อคิดว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ใกล้ยิ่งกว่าวันพรุ่งนี้เสียอีก คนเราต้องตายแน่อยู่แล้ว และที่แย่กว่านั้นก็คือความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน เราเลือกไม่ได้ เราอาจตายด้วยโรคร้าย เอดส์ มะเร็ง เขาอาจจะตายเพราะการถูกทำร้ายก็ได้ ไม่มีความแน่นอน เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการต้อนรับเสียเลย เช่นเดียวกับสิ่งที่เราทำให้ศัตรูหมดไปคิดการทำให้เป็นเพื่อนเสียเลย
เพราะฉะนั้นการอบรมเพื่อช่วยเราเข้าใจความตาย และไม่ใช่วิกฤตเดียว แต่เป็นการค้นพบมิติทางใจ คนจำนวนไม่น้อยพบว่าร่างกายแตกสลายไม่ใช่เพราะการใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญคือจิตใจ สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ แม้แต่คนตัวเล็กๆ แม้แต่คนที่ไม่เคยเข้าวัดก็พบได้ ทั้งหมดเขามาจากการได้เตรียม ทุกคนสามารถเข้าถึงศักยภาพตรงนี้ได้ ถ้าความตายเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกคนก็มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบได้ เราจึงจัดอบรม เราจึงยืนยันว่าการเผชิญความตายอย่างสงบ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ต้องทนได้ เราต้องสามารถทำให้คุ้นเคย เราสามารถพูดได้อย่างไม่สั่นสะท้าน ความตายเป็นเรื่องที่เราก็สามารถพบได้อย่างยินดี ไม่สั่นสะเทือน ไม่ใช่ยังไม่ทันพบ ก็อ่อนเปลี้ย ยอมแพ้เสียแล้ว ได้ยินความตายแล้วก็รับไม่ได้ ต้องขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงคำว่ามรณะ เราต้องกลับมาดู ต้องกล้าที่จะท้าทาย เช่นเดียวกับที่ทำให้ศัตรูเป็นเพื่อนเราให้ได้
การอบรมจึงเน้นการปฏิบัติทั้งในการอบรมในห้องและสถานการณ์ที่เป็นจริง แต่จะดีอย่างไร พบได้หรือไม่ อยู่ที่พวกเราผู้ร่วมอบรมทุกท่านไม่ใช่ผู้เป็นวิทยากร ทุกคนต้องเรียนรู้ร่วมกัน วิทยากรก็เรียนรู้จากผู้เข้าร่วม และมักพบว่าผู้เข้าอบรมจะได้จากเพื่อนที่ร่วมอบรมด้วยกันมากกว่าวิทยากรเสียอีก บ่อยครั้งที่จะพบว่าเวลาที่เพื่อน ๆ พูดกลับให้อะไรมากกว่าที่วิทยากรพูดเสียอีก ดังนั้นขอให้เรารับฟังจากเพื่อน ๆ ด้วย
กิจกรรมการแนะนำตัว
ผู้เข้าร่วมจำนวน ๔๕ คน กลุ่มวิชาชีพที่มาเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลมาจาก รพ.นครปฐม และอีกกลุ่มหนึ่งคือ สื่อมวลชน
ชี้แจงกระบวนการอบรม โดย ปรีดา เรืองวิชาธร วิทยากร จากเสมสิกขาลัย
กระบวนการอบรมจะเน้นการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการระดมแลกเปลี่ยนความนึกคิดความรู้สึก ร่วมกิจกรรมที่ทำให้นอกจากได้ความรู้แล้ว ยังได้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเพราะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการสัมผัสด้านในของตน และเกื้อกูลแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน สิ่งที่เรียนรู้ร่วมกันของการอบรมนี้ ประกอบด้วย
๑) ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับความตาย
๒) สภาพความตาย ที่พึงปรารถนา
๓) ภาวะใกล้ตายและความตายในทางการแพทย์และพุทธศาสนา
๔) การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทางการแพทย์ และศาสนา
๕) การเตรียมตัวตาย
- เขียนความในใจถึงผู้ล่วงลับ
- พินัยกรรมชีวิต
- มรณสติ
๖) บทบาทสมมติเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย
๗) การภาวนา แบบที่ช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น ทำทองเลน ทำโพวะ เพื่อช่วยนำทางการตายอย่างสงบ
๘) กิจกรรม ที่เกี่ยวกับพิธีกรรม “การทำบุญ” (การทำสังฆทาน)
ตารางกิจกรรม (กระบวนการ)
๐๗.๓๐ – ๐๘.๓๐ น. อาหารเช้า
๐๘.๔๕ – ๐๙.๐๕ น. สมาธิภาวนา
๐๙.๐๕ – ๑๒.๐๐ น. กิจกรรมเช้า
๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. อาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ – ๑๓.๔๕ น. นอนภาวนา
๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. กิจกรรมบ่าย
๑๘.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. อาหารเย็น
๑๙.๐๐ - ๑๙.๒๐ น. สมาธิภาวนา
๑๙.๒๐ – ๒๑.๓๐ น. กิจกรรมค่ำ
กิจกรรมสำรวจความคิดความเข้าใจเรื่องความตาย
กระบวนการ
๑. วิทยากรให้ทุกคนตอบคำถาม ๕ ข้อ กิจกรรมนี้วิทยากรจะบอกให้ทุกคนนึกคิดความรู้สึกประสบการณ์ของตนแล้วมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่มตน ซึ่งจะทำเป็นข้อ ๆ ไม่ได้ทำทีเดียวจบครบ ๕ ข้อ แต่จะทำทีละข้อ และมาร่วมระดมในกลุ่มย่อยใช้เวลาประมาณ ๒-๓ นาทีจากนั้นจึงนำเสนอกลุ่มใหญ่ แต่ละข้อในกลุ่มใหญ่ใช้เวลา๕๐ นาที
๑. วิทยากรให้ทุกคนตอบคำถาม ๕ ข้อ กิจกรรมนี้วิทยากรจะบอกให้ทุกคนนึกคิดความรู้สึกประสบการณ์ของตนแล้วมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่มตน ซึ่งจะทำเป็นข้อ ๆ ไม่ได้ทำทีเดียวจบครบ ๕ ข้อ แต่จะทำทีละข้อ และมาร่วมระดมในกลุ่มย่อยใช้เวลาประมาณ ๒-๓ นาทีจากนั้นจึงนำเสนอกลุ่มใหญ่ แต่ละข้อในกลุ่มใหญ่ใช้เวลา๕๐ นาที
๒. แบ่งกลุ่มย่อยเป็น ๗ กลุ่ม แต่ละกลุ่มคุยทั้ง ๕ ประเด็น วิธีการแบ่งกลุ่ม ใช้วิธีนับเรียงอันดับเลข ๑-๗
๓. วิธีการในกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างทั่วถึง ให้สมาชิกสังเกตกันว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนกันหมด แล้วนำเสนอต่อกลุ่มใหญ่การนำเสนอเล่าสู่กันฟังในกลุ่มใหญ่ โดยให้มีกลุ่มหนึ่งเริ่ม แล้วที่เหลือเสริมข้อที่อยากจะเพิ่มเติม
แลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึก ในประเด็นต่อไปนี้
๑) คนส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงความตาย เขารู้สึกอย่างไร และปฏิบัติหรือมีท่าทีอย่างไรต่อความตาย
๒) ความรู้สึกนึกคิดในข้อแรก เพราะอะไรจึงรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น
๓) ภาพที่คุ้นตาของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นอย่างไร เขาถูกปฏิบัติอย่างไร
๔) ภาพที่คุ้นตาเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง
๕) ถ้าเราต้องตาย สภาพการตายที่เราปรารถนาควรเป็นอย่างไร หรืออย่างไรที่เรียกว่า “ตายดี”
๑. คนส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงความตาย เขารู้สึกอย่างไร และปฏิบัติหรือมีท่าทีอย่างไรต่อความตาย
- เป็นเรื่องไกลตัว พยายามไม่คิด
- หลีกเลี่ยง กลัวตาย ปฏิเสธ
- คนที่คิดเรื่องนี้เป็นคนแปลก
- หาหนทางที่จะห่างไกลความตาย(ลืมตาย)
- ความตายคือการสูญเสีย
- เป็นเรื่องอัปมงคล มีทัศนคติเชิงลบ
- ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รัก
- ความตายเป็นสิ่งใกล้ตัวเมื่อเกิดกับคนที่เรารักหรือมีประสบการณ์ที่จะใกล้จะสูญเสียเกิดขึ้นกับตนเองเช่น ต้องผ่าตัดอวัยวะส่วนใดของเรา
- ยอมรับความตายไม่ได้เพราะไม่ได้เตรียมตัว
- พยายามยื้อยุดชีวิต อยากมีชีวิตอยู่ยืนนานที่สุด
- เปรียบเสมือนเครื่องหมายความพ่ายแพ้หรือล้มเหลว
- สังคมหรือแนวคิดที่กำหนดเราไว้ด้วยคำพูดเช่น คนที่ตายแต่อายุยังน้อย เมื่อตายไป คนรอบข้างก็บอกว่าเขาตายก่อนวัยอันควร หรือบางกรณีก็ถูกพูดว่าคนนี้สมควรตายแล้ว
ทีมวิทยากรเสริม
พระไพศาล :
- คนเรามักลืมเรื่องการตาย โดยมักตั้งใจลืม เรายังคงดำเนินชีวิตมุ่งไปกับการเสพ ทั้งที่เราก็มีการรับรู้เกี่ยวข้องกับความตายอยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน จากข่าวหนังสือพิมพ์ ทีวี สื่อ คนใกล้ตัว แต่เราพยายามหนี ใช้ชีวิตตักตวงกับการบริโภค ในที่สุดก็ลืมตาย ต่อมาเมื่อต้องตาย ก็หลงตาย(ลืมตายหลงตาย เป็นคำโบราณที่พูดกัน) คนเป็นเอดส์พอพบว่าตนเป็น คิดกับตนเองเสมอว่าไม่เกิดกับตนเองหรอก มักมองไม่ถึงตนเอง ห่างจากตัว ถ้าเปรียบกับซื้อหวยก็จะบอกกับตนเองว่าต้องถูกเสมอ อีกอย่างหนึ่ง การตายมักไปตายที่โรงพยาบาล ตั้งแต่ป่วยก็พรากออกจากคนใกล้ชิด ผู้คนจึงไม่มีทั้งการรับรู้ เห็น หากเปรียบกับสมัยก่อน พบเห็นอย่างสัมผัส รู้สึก แม้จะเห็นตามข่าว เราก็รับรู้แบบข้อมูล เราไปให้ความสำคัญเพียงแค่นั้น เราจะต้องรับรู้ในระดับถึงความรู้สึก ไม่ใช่แค่ข้อมูล ระดับการรับรู้ พระพุทธเจ้าเคยสอนไว้ เปรียบได้กับคน ๔ ประเภท ประเภทแรกแค่ได้ยินก็จะเตรียมตัว ประเภทที่ ๒ ต้องเห็นคนตาย ประเภททที่ ๓ ต้องเกิดกับคนรัก ประเภทที่ ๔ เกิดกับตนเอง ประเภทหลังนี้เรียกว่าไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา คนเรามักจะอยู่ในระดับที่ ๔ ไปจนถึง ๒ แต่ไม่ไปถึง ๑
๒. ความรู้สึกนึกคิดในข้อแรก เพราะอะไรจึงรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น
- ในชีวิตรุ่นปู่ย่าเป็นเรื่องปกติพบเห็นที่บ้าน แต่การเสียชีวิตในรุ่นต่อมาขึ้นอยู่กับฝีมือหมอ
- ภาพในละครมีอิทธิพล หรือภาพที่แสดงในสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ล้วนมีอิทธิพล เช่น การแสดงในละครทีวี การแสดงผีก็กลายเป็นสร้างภาพให้เกิดความน่ากลัวมากกว่า
- สื่อนำเสนอความตายที่ไม่ปกติ จึงกลายเป็นว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่ตัวเรา
- วิถีชีวิตปัจจุบันห่างไกลจากความตาย ทำให้มองไม่เห็น ไม่รู้สึก จึงไม่คิดจะต้องเตรียมตัวกับตนเอง
- คิดว่าน่าจะขึ้นอยู่กับหลักธรรมมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรามักไม่ได้น้อมนำมาใส่ตัว
- เราไม่พร้อมที่จะตาย จำยอม เลือกไม่ได้ ไม่มองแบบการใคร่ครวญ ไม่เข้าใจในหลักศาสนา
- เรื่องการตายที่ทำให้เราเห็นเป็นเรื่องน่ากลัว ทำให้ไม่อยากเห็น และเห็นว่าเป็นเรื่องของคนที่เป็นวัยอันควร
- ค่านิยมของเพื่อน ถ้าเราพูดความตายขึ้นมา จะถูกมองว่าเราพูดไม่ดี เรื่องอัปมงคล ห้ามพูด ในทางกลับกันหากเราหันมาให้กลุ่มเพื่อนเห็นว่าการตายเป็นเรื่องธรรมดา เราพูดถึงได้ เราก็จะใคร่ครวญ
- ชีวิตสมัยใหม่ที่มีผลต่อเรา ที่ส่งผลต่อการมองความตายเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ยิ่งระบบการแพทย์ เทคโนโลยีทันสมัย การตลาด เกือบทุกอย่างที่ให้เราสะดวกสบายเห็นดี จนเห็นว่าเรามีความสุขด้วยสิ่งเหล่านี้ การตลาดเสนอว่าสิ่งนั้นให้คุณค่า แต่สิ่งเหล่านั้นกลับทำให้เราไกลจากธรรมชาติ
- คนโบราณพูดอะไรก็มีคำว่าตายพ่วงจนเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ตายละวา สิ่งเหล่านี้เป็นกุศโลบายหรือเปล่าที่ทำให้เราไม่ละเลยความตาย
- สังคมทับถมซ้ำเติมเราว่า อย่ารู้มันเลย ถ้าพูดถึงจะกลายเป็นสิ่งผิดปกติ หน่วยงานสื่อหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพูดในสิ่งที่เป็นจริงแต่กลับไม่ได้ทำหน้าที่นี้ รวมทั้งบทบาทพระซึ่งเป็นบทบาทสำคัญมาก แต่สมัยนี้ห่างไปแล้ว
- ไม่มีองค์กรหรือสังคมไม่ได้ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิต ให้บทเรียนสะท้อนความจริง เรียนรู้ทางจิตวิญญาณ
- แม้พระสงฆ์เองก็ยังต้องการผู้นำทางจิตวิญญาณมาให้กำลังใจยามป่วยไข้
- เหตุปัจจัยที่ทำให้คนเราหลงลืมความตาย มาจากกระแสทุนนิยม อันเป็นที่มาที่ให้เราเข้าใจว่าเราต้องการอยู่เหนือธรรมชาติ และมีเรื่องของการตลาด งานศพไม่ได้ทำให้เรามาสนใจชีวิต
- การประกันชีวิต ทำให้เรามองในแง่ที่ว่าเราจะมีหลักประกันที่จะมีชีวิต สร้างเราให้เป็นลูกค้า
- มนุษย์มีสัญชาตญาณที่จะต้องการมีชีวิต
- คนที่ผ่านเฉียดตายหรือมีประสบการณ์เจ็บป่วย ก็จะทำให้ชีวิตไม่ประมาท และเปลี่ยนชีวิต เช่น ให้พรกับคนอื่นว่า ขอให้มีสุขภาพดี
- อาจจะสรุปได้ว่า ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการมองความตายที่เราไม่พึงปรารถนาก็คือ วัฒนธรรม การแพทย์ การสาธารณสุข บริโภคนิยม เทคโนโลยี สื่อ การตลาด ที่มุ่งกระตุ้นกิเลส การศึกษา สิ่งทีททำให้เราเกิดตัวตน และยึดตัวตนมาก เกิดสัญชาติการสืบเนื่องของตัวตนต่อไป
ทีมวิทยากรเสริม
กานดาวศรี:
- อยากให้สื่อช่วยเสนอภาพที่ช่วยนำความรู้สึกที่ดี เห็นภาพที่เกี่ยวกับความตายที่เป็นจริง ไม่ใช่อย่างที่สวยงามเกินไปหรือน่าเกลียดน่ากลัวไป
พระไพศาล :
- เป็นเรื่องของความเชื่อของคนเรา เมื่อร้อยปีก่อนเราสามารถชนะเชื้อโรค เราก็คิดว่าจะชนะความตายได้ เราจึงไม่ยอมรับความตาย คนส่วนใหญ่สนใจความสุขในโลกนี้
- เราคิดว่าสามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง perfect สมบูรณ์ จัดการได้ แม้ใต้วงแขน ทุกอย่างทำได้เป็นไปตามใจหวังได้ ความคิดนี้ทำให้ไม่ยอมรับการผิดหวัง จะยิ่งไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งไม่สมบูรณ์ ไม่รู้จักการผิดหวัง เด็กถูกปลูกฝังทางคอมพิวเตอร์ ทุกอย่างสามารถควบคุมตามใจหวัง จึงไม่รู้จักผิดหวัง แม้แต่เรื่องการมาสายก็ผิดหวัง เช่น ที่ญี่ปุ่น รถไฟฟ้าต้องมาตรงเวลา ทำให้ต้องตรงเวลา เมื่อพบสิ่งผิดพลาดก็ผิดหวัง ฆ่าตัวตายมาก
- เวลานี้ความตายทำให้กลายเป็นสินค้า เช่น วีดิโอเกม หนังต้องมีการไล่ล่าฆ่า จึงจะสนุก สื่อมวลชนทำให้ข่าวตื่นเต้น การตายทำให้เป็นเรื่องตื่นเต้น น่าติดตาม เช่น ข่าววิกฤต อุบัติเหตุมีการฆ่า หรือตายอย่างไร ทำไมหน้านสพ.ต้องมีข่าวอาชญากรรม เพราะมันตื่นเต้น โฆษณาที่เสนอการตายเป็นความไม่แน่นอนมีน้อยมาก เดี๋ยวนี้เราสนใจแต่ อายุ วรรณะ สุขะ พล ไม่สนใจโลกหน้า ดูแต่โลกนี้
- มีสุขภาพดี ก็ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์ แต่คนไม่สนใจตรงนี้ ไม่สนใจมิติจิตใจเลย สนใจแต่เรื่องทางกายภาพ
- สัญชาตญาณการอยู่รอดเป็นธรรมดา แต่ของมนุษย์บางครั้งยอมตายได้ ไม่เฉพาะเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ได้ เพราะมีมากกว่านั้น มันคือสัญชาตญาณที่ต้องการสืบต่อของตัวตน คนสมัยก่อนไม่กลัวความตายเพราะคิดว่ามีชาติหน้า ความคิดเช่นนี้อยมรับความตายของพ่อแม่ได้ เพราะอาจจะเจอพ่อแม่ในชาติหน้าก็ได้ อย่างน้อยเป็นการคิดถึงจะไปเกิดใหม่ แต่การติดตัวตนสืบเนื่อง กลัวตายแล้วตัวตนจะขาดสูญ นอกจากนี้ยังมีสิ่งหลอกล่อ เช่น ตัวตายแต่ชื่อยัง จึงต้องมีชื่อที่อนุสาวรีย์ คุณตายแต่ชื่อยัง หรือเอาตัวตนไปผูกกับชาติ หรือคนญี่ปุ่นไปผูกกับบริษัท ศาสนาของณี่ปุ่นคือมิตซูมิบิชิ ชื่อยังอยู่เป็นตัวตนที่ต้องการไม่ขาดสูญ หรือความเป็นชาตินิยมบอกว่าคุณตายเถิด ชื่อของคุณจะปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ นี้คือสัญชาตญาณของมนุษย์มีมากไปกว่านั้น ดังนั้นตัวตนเป็นเรื่องที่การตลาดต้องการตรงนี้
- และการมีครอบครัวเดี่ยว ทำให้การดูแลไม่พร้อม
๓. ภาพที่คุ้นตาของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นอย่างไร เขาถูกปฏิบัติอย่างไร
- คนไข้ที่เป็นผัก เราก็กลับไม่สนใจชีวิต แต่สนใจให้หายใจได้
- คนไข้บางคนที่จะต้องตายจริง ๆ แต่คนที่เป็นคนดูแลเป็นญาติ มีแต่จะให้หาย ปลอดภัย โดยไม่ยอมรับความจริง คนไข้จึงไม่ได้รับรู้ความจริงและไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ
- สภาพการดำเนินชีวิตของผู้ดูแล ที่ไม่มีเวลา ทำให้ปล่อยให้เป็นบทบาทของแพทย์พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วย
- พยาบาลเล่าว่ามักพบว่าญาติต้องการให้ใช้การแพทย์ทุกวิถีทางในการเยียวยารักษาคนไข้ แต่พอมาถึงจุดๆหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาแล้ว ก็กลับปล่อยปละละเลย
- ทุนทรัพย์เป็นต้นทุนสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจจะยื้อหรือไม่
- พยาบาลได้ปรับปรุงวิธีการให้มีมิติจิตใจเข้ามาเยียวยาคนไข้ เช่น เปิดอนุญาตให้ทำพิธีกรรมต่อคนไข้ได้ ให้คนมาทำพิธีข้างเตียงได้
- พยาบาลพบว่าการทอดทิ้งคนไข้เกิดจากการเบื่อของคนดูแล เมื่อต้องอยู่ดูแลรักษานาน ก็ปล่อย ทำให้เกิดการทิ้งเป็นภาระให้กับโรงพยาบาลแทน
- ความเชื่อที่มีพิธีกรรม หรืออะไรที่ยึดเหนี่ยวมาใช้ในช่วงกำลังใกล้ตาย เป็นสิ่งที่ดี ยังมีการใช้ซึ่งเป็นสิ่งดี เช่น การอโหสิกรรม
- พยาบาลสงสัย คนไข้มีปัญหาการหายใจ คนไข้ต้องการให้ดึงท่อหายใจออกซึ่งก็หมายถึงการให้ตาย อย่างนี้จะเป็นบาปกับพยาบาลไหม
- มีคำถามว่า แม้แต่หมอยังบอกว่าคนไข้คนนี้รักษาไม่หาย ถ้าจะรักษาไปก็ไม่มีประโยชน์ เราจะตัดสินใจอย่างไรดี
- หรือกรณีหนึ่งว่า คนนี้จะจากไปอยู่แล้ว เราก็บอกให้เขาปล่อยวาง วันต่อมาก็จากไป เราบาปไหม ตรงนี้พระไพศาลบอกว่า การให้กำลังใจคือการให้เขาทำความดี ไม่ใช่ให้แบบมีความยั่งยืนทางชีวิต ความดีเป็นสิ่งค้ำจุนที่ให้เขาพร้อมที่จะก้าวข้ามธรณีประตูที่สงบและเกิดความมั่นใจ
- การแพทย์ใช้เครื่องมือการรักษาทุกอย่างกระทำต่อคนไข้ แต่เครื่อมือเหล่านั้นทำให้คนไข้ไม่เกิดความสงบ
- การแพทย์มักจะทำให้การตัดสินใจอยู่กับคนอื่น มีตัวอย่างแม่ ภาพของแม่ที่ป่วยคือ มีเครื่องมือทุกอย่างใส่เข้าไป เช่น เครื่องหรือท่อช่วยหายใจ เรารู้สึกรับไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะตัดสินใจตรงนั้น สิ่งที่คิดตอนนั้นคือ เราจะตัดสินใจอย่างไร คือถ้ารอดก็ดี แต่ถ้ายื้อมันเจ้บก็แย่ ก็ถามพ่อ มันสับสนว่าจะปล่อยหรืออย่างไรดี จะหาพระเพื่อช่วยตัดสินใจ แต่ก็ช่วยให้เกิดกำลังใจมีคนช่วยตัดสินใจมากกว่าเรา คืออย่างน้อยมี ๓ คนแล้ว คำถามที่เรารู้สึกถึงความรู้สึกแม่ เพราะรู้สึกสัมผัสกับแม่ได้ ต่อมาได้ตัดสินใจพาแม่ไปที่ รพ.อื่น ก็ยังพบว่าเจอแบบเดี๋ยวดีเดี๋ยวไม่ดีจากการรักษา ต่อมาเราได้พบกับกัลยาณมิตรแนะนำให้คำนึงถึงความรู้สึกของเรา เรารู้ว่าแม่ต้องการกำลังใจจากเรามากกว่า หลังจากนั้นแม่ดีขึ้นๆอย่างน่าประหลาดใจ อาจจะเป็นเพราะการได้กำลังใจ น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่ได้ ซึ่งไม่ได้จากแพทย์ที่เราไปหวังเพื่อการรักษา ตรงนี้สรุปได้ว่า ไม่ใช่เพียงการได้เทคโนโลยีชั้นสูงเท่านั้น หรือการตัดสินใจไปไว้ที่แพทย์ ซึ่งเรากลับพบว่าเราตอบหมอไปว่าแล้วแต่หมอก็แล้วกัน ทำไมกลายเป็นเช่นนี้
- บางกรณี ก็เห็นว่าหมอก็มีปัญหา หมอบางคนรักษาได้ แต่บางคนรักษาไม่หายกับคนไข้คนเดียวกัน นี่ก็คือความไม่แน่นอนของการรักษาของหมอ แล้วทำไมเราไปฝากชีวิตกับหมอ แต่คนไข้ก็กลับไขว่คว้า หาหมอที่เก่งขึ้นไป แทนที่จะเปลี่ยนวิธีการมองของตนเอง หรือญาติมีบทบาทในการตัดสินใจพยายามยื้อชีวิตแทนที่จะดูใจของคนไข้จริง ๆ ว่ารู้สึกหรือต้องการอย่างไร
ทีมวิทยากรเสริม
กานดาวศรี :
- การช่วยหรือพูดอะไรกับคนไข้หรือใกล้ตาย คือการให้คนไข้ได้บอกอะไรที่จะปล่อยวาง ส่วนท่าทีเราคือการให้ความจริงใจ เรามักพบว่าคนไข้ใกล้ตายไม่สามารถพูดได้ ได้แค่การยกมือขึ้น เราก็ต้องเตรียมที่จะสื่อกับคนไข้ มีหลายวิธีตามความเหมาะสมกับสภาพคนไข้ เขาช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ละคนไม่เหมือนกัน สภาพเขาไม่มีแรง หลายกรณีที่พบว่าหมอ พยาบาลก็มีปัญหาในการสื่อสาร
พระไพศาล:
- อยากให้มองความเจ็บความป่วยในเรื่องที่กว้างไกล มากกว่ามิติทางกาย การที่เราปล่อยให้หมอดูแลเพราะเราคิดว่าเป็นเรื่องความเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ปวดหัวนึกว่าเป็นการปวดปกติ มาหาหมอทุกทีก็นึกว่าเป็นเรื่องของทางกาย แต่รักษาไม่หาย จนในที่สุดจึงถามคนไข้ว่าเขามีอะไร ติดอะไร ก็พบว่าสาเหตุที่เขาติดมีปมเป็นเรื่องที่มีปัญหากับญาติ เขามีปัญหาของเขา หมอจึงแนะนำว่าให้เขาปล่อยวาง อย่าไปติดกับเรื่องนั้นมากนัก ในที่สุดเขาก็สามารถคลายความวิตกกังวล แล้วแก้ปัญหาของเขาได้ ตัวอย่างคนไข้รายหนึ่งของอาจารย์ประเวศ วะสี นศ.แพทย์จะเดินตามดูการซักถามของอาจารย์ เมื่ออาจารย์ประเวศถามคนไข้ ฟังเรื่องราวของเขา อาจารย์ก็เลยบอกนศ.ว่าให้เหล็ก เขาไม่ได้เป็นอะไรหรอก เมื่อคนไข้ได้ยินจากอาจารย์ประเวศพูดกับนักศึกษาอย่างนั้นก็ลุกขึ้นเพื่อจะกลับบ้านเลย นี่คือปัญหาของเขาคือความทุกข์ในใจที่เราไม่ได้มองนัก
๔.ภาพที่คุ้นตาเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง (เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดภาพการดูแลผู้ป่วยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน)
- ไม่ได้เตรียมตัว ลืมตาย
- ความคาดหวังทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
- มีวิธีคิดที่ยื้อ ไม่อยากสูญเสีย
- ไม่ยอมรับความจริง
- ไม่กล้าพูดความจริงกับผู้ป่วย
- ทุนทรัพย์
- มีความหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ ช่วยชีวิตได้
- ไม่มีใครอยากเป็นผู้จบชีวิตผู้ป่วย
- ไม่ได้ถามความต้องการ ความคิดเห็นของผู้ป่วย
- เป็นความต้องการของญาติเอง ต้องการให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ด้วยได้นาน ๆ
- วิถีชีวิตที่เหินห่างความสัมพันธ์กัน เนื่องจากการเร่งรีบ หาเงิน
- การแพทย์ที่มุ่งเป้าหมายยืดชีวิต
- ทัศนะแพทย์ที่หากเกิดการตายขึ้นจากการรักษาหมายถึงความพ่ายแพ้ของแพทย์ (ขึ้นอยู่การสอนแพทย์ในแต่ละยุค ยุคนี้เป็นผลพวงการสอนให้แพทย์มีมุมมองให้ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยหาย จนกระทั่งสอนให้คิดว่าการรักษาไม่หายก็จะเป็นความพ่ายแพ้ของแพทย์)
- แพทย์ไม่ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างองค์รวม กระบวนการรักษาเป็นแบบแยกส่วน
- เทคโนโลยีทางการแพทย์กับแพทย์มีผลสืบเนื่องต่อกัน ต่างก็มีผลผลักดันต่อกัน ในที่สุดก็กระทบมาที่ผู้ป่วยและการรักษา
- ทั้งแพทย์เองและปัจจัยรอบข้างหลายอย่าง ให้การตัดสินใจการรักษาไปอยู่ที่แพทย์
- ความคาดหวังของสังคมต้องการยื้อยุดชีวิต
ทีมวิทยากรเสริม
พระไพศาล :
- ในการรักษาจะมีเหตุปัจจัยยื้อยุดเวลาอายุผู้ป่วยนอกจากต้องการช่วยแล้ว ยังมีอีกปัจจัยคือคนรอบข้างตั้งแต่ญาติพี่น้องไปจนกระทั่งสังคมที่จะมากดดันให้เราต้องทำต้องตัดสินใจตามนั้น เช่น ต้องยื้อ ต้องเข็น นี้คือส่วนของสังคมที่ต้องทำ เพราะฉะนั้นการรักษาให้คำนึงผู้ป่วยนั้นก็ยาก เพราะมีคนรอบข้างเข้ามาเกี่ยวด้วย ยิ่งสังคมของคนมีเงิน ยิ่งได้รับผลกระทบ เข้ามากดดันในการตัดสินใจ
- ในการดูแลผู้ป่วย คนส่วนใหญ่มักมองในแง่วัตถุ เช่น เวลาดูแลผู้ป่วย เอาจำนวนวัน จำนวนเงินเป็นตัวตั้ง แทนที่จะดูว่าเขาต้องการอย่างไร มีคุณภาพชีวิตอย่างไร นั่นเพราะเราเอาเหตุผลทางวัตถุ
- การยื้อยุดชีวิตคนป่วย มองได้ ๒ มุมมอง คือ ในแง่ของการสร้างปัญหา แต่อีกมุมมองในทางประโยชน์ คือการใช้เป็นโอกาส ของคนที่มีสิ่งที่ค้างคา เช่น ญาติใช้ในการทำความดี จากที่ไม่เคยดูแลแม่ จนกระทั่งวันดีคืนดีแม่ป่วย แม่เป็นผัก ลูกก็ได้มาดู และแสดงความดีในโอกาสสุดท้าย หรือคนป่วยเอง ได้โอกาสในการปลดปล่อยหรือปล่อยวางสิ่งค้างคาในใจ ของคนไข้ เช่น ก็กลับกลายมาเป็นโอกาสทำความดี ก็ได้ยืดความสัมพันธ์ นี้คือการใช้เป็นโอกาส
๕. ถ้าเราต้องตาย สภาพการตายที่เราปรารถนาควรเป็นอย่างไร หรืออย่างไรที่เรียกว่า “ตายดี”ที่เราอยากจะเลือก (สภาพการตายที่พึงปรารถนา)
- อยากให้ขณะสุดท้าย จิตอยู่ในสภาพที่ไม่โกรธ ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว หมดห่วงกังวล อยากให้ที่มีความโกรธหายไป ช่วงเวลานั้นแม้ร่างกายจะอยู่ในสภาพรุนแรง เจ็บปวดอย่างไร ก็ขอให้ใจสงบไปได้ ไม่โกรธ จิตไม่ทุรนทุราย กายเจ็บแต่ใจไม่ป่วย
- สภาพการตายอย่างไรก็ได้ แต่จิตสงบ
- อยากให้ตายอย่างมีสติ แม้หายใจเฮือกสุดท้ายก็สามารถตัด ปล่อยวางสิ่งยึดมั่นถือมั่นได้ แม้ยังมีสิ่งค้าง ยังจัดการไม่หมด ขณะที่ตาย ก็ขอให้ตายไปได้อย่างสงบจริง
- อยากได้โอกาสอโหสิกรรม รู้ตัวอย่างมีสติด้วย ก่อนตาย
- ถ้าเลือกได้ อยากตายไปแบบไม่เจ็บปวด แต่ก็มีคนเสริมว่า ต้องการทำความเข้าใจว่าถ้าเลือกได้ อยากได้ความชัดเจนมากขึ้นคือการรู้ตัวก่อนเป็นเรื่องสำคัญ
- กลัวกระบวนการตาย แต่ไม่กลัวตาย
- ตายขณะจิตเป็นกุศล
- ณ ขณะตาย อยากให้มีคนรับรู้ มีคนรอบข้างที่เป็นคนรักมีความอบอุ่น ต่างก็จะได้ดูใจกัน
- ค่อย ๆ ปล่อยวาง นิ่งสงบ
ทีมวิทยากรเสริม
พระไพศาล :
- ความตายที่ท่านพึงปรารถนาคือ การตายในลักษณะที่เกิดปัญญา สว่าง ปล่อยวางได้ ถ้าได้ตรงนี้ก็จะสู่นิพพานได้
- การตายอย่างสบายขึ้นอยู่กับว่า เราอยู่ในสภาพไหน เพราะจะเกิดอะไรขึ้น แม้เราตายอย่างสบาย พอพบว่าหลังตาย เรามารู้ว่าเราตายแล้ว เราอาจจะมีสภาวะอะไรบ้าง เช่น อาจจะตกใจเพราะมาคิดว่า เรายังมีภาระที่ทิ้งไว้อยู่ เพราะฉะนั้นการตายอย่างสงบยังไม่เพียงพอถ้าไปไม่ถึงการสว่างทางปัญญา
สรุป การตายดีที่พึงปรารถนา
๑) สภาพทางกาย ตายอย่างสบาย ทุกข์ทรมานน้อย ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฉับพลัน
๒) ความสัมพันธ์ ไม่มีเรื่องคั่งค้าง อยู่ท่ามกลางญาติมิตร คนรัก ไม่เป็นภาระ ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ ญาติมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ดี
๓) จิต สงบ มั่นคง มีสติระลึกรู้
๔) ปัญญา มองถึงความไม่น่ายึดติดกับอะไร ละวางความยึดติด ยึดมั่นถือมั่น เข้าถึงนิพพานได้ ดับไม่เหลือ รู้และเข้าใจความจริง
สิ่งที่ควบคุมยาก
- สภาพการตาย
- เวลาตาย สถานที่ตาย
- ความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี
- ขึ้นอยู่กับการฝึกจิต
--- จบตอนที่ 1 ---
ตอนที่สองเตรียมพบกับคำถามเกี่ยวกับ "ความตาย"
เรียบเรียงโดย พี่อุ๊
โพสต์โดย นิ้ง
1 ความคิดเห็น:
หลักสูตร เผชิญความตายอย่างสงบ
เปิดอบรมเดือนไหนบ้างค่ะ
ขอบคุณค่ะ
แตน
แสดงความคิดเห็น