วันอังคาร, พฤษภาคม 29, 2550

Not Always So


“It may be so. But not always so.”
“ก็อาจจะใช่ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป”
คำพูดสั้นๆ จากหนังสือ “Not Always So” ของท่านชุนเรียว ซูซูกิ โรชิ อาจารย์เซ็นชาวญี่ปุ่นที่ทำให้เซ็นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศอเมริกา ยังคงสดใหม่อยู่เสมอ
ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราจะยึดติดกับสิ่งที่เราเชื่อว่าใช่จนทำให้ตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมเดือดร้อน บ่อยครั้งที่เห็นคนโต้เถียงกันจนหน้าดำคร่ำเครียดในที่ประชุม บ้างก็โกรธเคืองกันแบบปล่อยวางไม่ลง ให้อภัยกันไม่ได้
เบื้องหลังฉากของละครชีวิตที่เราทุกคนกำลังร่วมแสดงกันอยู่นี้ มีผู้กำกับมือทองที่ชื่อว่า “คุณความเชื่อ” หรือ “คุณความคิดเห็น” อยู่ที่นั่นเสมอโดยไม่ต้องเชื้อเชิญ เพียงผู้กำกับกระซิบเบาๆ ผ่านความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น ใครต่อใครก็พร้อมตีบทให้แตกกระจุยได้ทันที โดยไม่เคยตั้งคำถามกับบทที่ได้รับ
มันคุ้มแค่ไหนที่พลีใจพลีกายให้กับ “คุณความเชื่อ” ในเมื่อสิ่งที่เราเชื่อหรือความเข้าใจของเรานั้นก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป
ท่านชุนเรียว ซูซูกิ กล่าวถึงการยึดติดในนิยาม ความรู้ และความหมายเดิมๆ ที่ทำให้เราไม่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง
ท่านยกตัวอย่างของน้ำ คนส่วนใหญ่ย่อมคิดว่า “น้ำก็คือน้ำ” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ทั้งถูกและไม่ถูกในขณะเดียวกัน
สิ่งๆ หนึ่งอาจมีความหมายที่แตกต่างกันได้มากเมื่อมองจากมุมที่แตกต่างกัน สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นน้ำนั้น คือบ้านของปลา คืออาหารของต้นไม้ และอาจจะหมายถึงชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งกันดาร
ผมยังจำได้ถึงความทุกข์ของเด็กหญิงชั้นประถม 4 ที่เกิดขึ้นจากความรักและความหวังดีของคุณแม่เธอเอง
ในการสัมภาษณ์แบบเป็นกันเองที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้มสดใสของเด็กนับสิบคน มีเด็กหญิงตัวจ้ำม่ำมากระซิบข้างหูผมว่า “พี่คะ... หนูอยากตาย”
ด้วยความไม่แน่ใจว่าเธอหมายความเช่นนั้นจริงๆ หรือแค่ล้อผมเล่น เมื่อสอบถามกับคุณครูก็ได้ความว่าเด็กกำลังเครียด และคงอยากระบายความในใจกับใครสักคน
เธอเล่าให้ผมฟังถึงตารางเรียนพิเศษในแต่ละวันที่หนักหนาเอาการสำหรับเด็กชั้นประถม 4 เธอเข้าใจถึงความจำเป็นเพราะคุณแม่จะบอกอยู่เสมอๆ ว่าสมัยนี้การแข่งขันสูง ต้องทุ่มเทให้มาก
ขณะที่ผมกำลังรู้สึกว่าตัวเองกำลังคุยอยู่กับผู้ใหญ่ตัวน้อยที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ เธอก็ร้องไห้โฮออกมาซะเฉยๆ เธอพูดด้วยเสียงสะอื้นแบบเด็กๆ “หนูไม่อยากเรียนเปียนโน หนูเหนื่อยจริงๆ” เธออยากบอกให้คุณแม่รู้แต่ก็ห่วงว่าจะทำให้คุณแม่เสียใจ แม่บอกเธออยู่เรื่อยว่าแม่รักเธอแค่ไหน ลำบากแค่ไหนก็ยอมเพื่อให้เธอได้มีโอกาสที่ดี
ความรักและหวังดีของเราอาจสร้างความทุกข์ให้คนที่เรารักได้เมื่อเราไม่รู้เท่าทัน จริงอยู่ว่าความรักนำมาซึ่งความสุข แต่ก็ไม่แน่เสมอไป
บางครั้งสิ่งที่ใช่ก็กลายเป็นไม่ใช่ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นน้ำในขณะนี้ อาจกลายเป็นไอ เป็นเมฆ ในวันพรุ่ง
น้ำอาจเป็นน้ำ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นน้ำเสมอไป สิ่งที่เราเห็นเป็นความสุขอาจแปลเปลี่ยนเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
บ่อยครั้งที่เห็นพ่อแม่จัดสรรความสะดวกต่างๆ ให้ลูกจนเกินงาม โดยไม่คิดว่าสิ่งๆ นั้นจะสร้างผลอะไรในระยะยาว ถ้าโชคดีเด็กเข้าใจก็แล้วไป ถ้าโชคดีเด็กโตขึ้นแล้วหาเงินได้มากเพียงพอโดยไม่ต้องเบียดเบียนใครก็แล้วไป
แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากลูกหลานของเราไม่โชคดีเช่นนั้น ความรักอาจกลายเป็นยาพิษหากเราไม่ตระหนักรู้ถึงผลระยะยาว
“It may be so. But not always so.”
“ก็อาจจะใช่ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป” ทำให้เราคลายความยึดติดกับความเชื่อต่างๆ จนเป็นทุกข์ หรือสร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น หากแต่พึงรักษาความสดใหม่ในใจเราไว้อยู่เสมอ ด้วยการมองโลกด้วยสายตาที่สดใสไร้อคติ ฟังเสียงด้วยหูที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ รับรู้ด้วยใจที่เปิดกว้างจากหลากหลายมุมมอง เพียงเท่านี้เราก็เริ่มมีจิตแบบเซ็นอย่างที่ท่านชุนเรียว ซูซูกิ มักกล่าวถึงอยู่เสมอว่า “Zen Mind, Beginner’s Mind” หรือ “จิตแบบเซ็น จิตที่ไม่ยึดติดกับความรู้เดิมๆ” แต่พร้อมเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ เสมอ
ในการขับรถเรายังต้องมองกระจกถึง 3 – 4 บาน เพื่อให้เห็นได้หลากทิศทาง ลองจินตนาการการขับรถที่ไม่มีกระจกส่องหลังและไม่มีกระจกส่องข้าง เราคงต้องขับไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ
แล้วทำไมเรากลับด่วนตัดสินเรื่องอื่นๆ ในชีวิตด้วยมุมมองเพียงด้านเดียว
การเปลี่ยนที่ยืนและมองดูสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองใหม่อาจให้อะไรมากกว่าที่เราคิด
เร็วๆ นี้ได้อ่านบทสัมภาษณ์นักบินอวกาศที่มีโอกาสเห็นโลกจากระยะไกล มีคำพูดที่น่าสนใจอยู่หลายชิ้น
จิม โลเวลล์ นักบินอวกาศในยานอพอลโล่ 8 และ 13 กล่าวว่า “ที่ระยะห่าง 240,000 ไมล์ (หรือ 384,000 กิโลเมตร) จากโลก ผมได้ตระหนักว่าเราโชคดีแค่ไหนที่มีร่างกายเพื่อชื่นชมท้องฟ้า ต้นไม้และน้ำ ... นี่เป็นอะไรที่เราส่วนใหญ่มักละเลย เพราะเราเกิดและโตบนโลก เราเลยไม่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เรามี ผมเองก็คิดเช่นนั้น จนถึงวันที่ผมได้เดินทางออกจากโลก”
อานูเช่ อันซารี นักท่องเที่ยวอวกาศลูกครึ่งอิหร่านอเมริกันที่เพิ่งเดินทางเมื่อปีที่แล้วได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน “โลกที่ฉันเห็นนั้น ไร้ซึ่งเขตชายแดน ไร้ซึ่งความแบ่งแยกทางเผ่าพันธุ์และศาสนา เธอจะไม่แบ่งแยกว่านี่คือบ้านฉันหรือประเทศของฉัน เพราะสิ่งที่เธอเห็นคือภาพของโลกที่เป็นหนึ่งเดียว”
จริงอยู่ที่ความรู้และความเชื่อต่างๆ ทำให้รู้สึกหนักแน่น มั่นคง ไม่เคว้งคว้าง แต่ “ก็ไม่แน่เสมอไป” เมื่อเราปล่อยวางและไม่ยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ จนเกินไป จิตใจเราก็สดใสเป็นอิสระ พร้อมที่จะเห็นโลกในมุมใหม่ๆ แม้จะไม่มีโอกาสได้ออกไปไกลถึงนอกโลกก็ตาม

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 8 พ.ค. 2550
จิตร์ ตัณฑเสถียร media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ไม่มีความคิดเห็น: