สังคมใด หากคนในสังคมนั้นตกอยู่ในความประมาท หายนภัยย่อมบังเกิดแก่สังคม และคนในสังคมนั้นๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ความจริง ปัญหาดังกล่าวเราจะพบได้จากชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นเป็นความจริงมาแล้วแทบทุกแห่งหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในสังคม หากเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย มักทำให้รู้สึกเพิกเฉย ทั้งนี้และทั้งนั้นเพราะความประมาท จึงไม่ให้ความสนใจ จนกระทั่งบานปลายออกไปกลายเป็นเรื่องใหญ่แล้วจึงรู้สึกเดือดร้อนหนัก
ตัวอย่างแรกได้แก่ ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ก็ได้มีบันทึกเอาไว้ให้รู้ว่า มีการอพยพคนพื้นบ้านกลุ่มหนึ่งจากบริเวณสามจังหวัดดังกล่าว เพื่อเอามาอยู่ในจังหวัดภาคกลาง ทำให้สันนิษฐานว่า คงต้องการแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคนท้องถิ่นกับคนภาคกลางนับตั้งแต่บัดนั้น
หลังจากนั้นมา คนรุ่นหลังซึ่งควรแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ ในการสืบทอดการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง กลับสะท้อนให้เห็นอาการเพิกเฉย โดยไม่ติดตามงานที่คนรุ่นก่อนเคยคิดและปฏิบัติมาแล้วอย่างจริงจัง จึงทำให้ปัญหาท้องถิ่นหยั่งรากลงสู่ระดับล่างอย่างลึกซึ้งต่อมาอีก จนกระทั่ง มาถึงช่วงนี้สังคมได้สะท้อนเหตุการณ์ให้รู้สึกว่า มีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนิสัยอันเป็นธรรมชาติของคนไทยส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน เราจึงเห็นว่าในยุคนี้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่ขึ้นไปถืออำนาจในระดับสูง มักมีนิสัยทำอะไรๆ ตามอำเภอใจตัวเอง นอกจากนั้น คนในกลุ่มนี้ยังมีอำนาจอยู่ในมือ จึงต้องการแก้ไขปัญหาให้เร็วทันใจ จึงตัดสินใจใช้อำนาจปราบปรามเพื่อแก้ปัญหาด้านเดียว ซึ่งสภาวะดังกล่าวปรากฏผลว่า “เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” ดังนั้น ในอนาคตก็คงต้องเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้รับสภาพของปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่สอง นับตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งมีการใช้กำลังทหารติดอาวุธยึดอำนาจจากราชบัลลังค์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยอ้างว่า ต้องการให้ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตย
แต่ผู้ดำเนินการได้กระทำไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็มีผลทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อโดยไม่คิดว่า กาลเวลา เท่าที่มีโอกาสผ่านพ้นมาแล้ว ย่อมเป็นบทพิสูจน์ความจริงให้คนทั่วไปสามารถรู้เห็นได้เองอย่างอิสระว่า เป็นการเปลี่ยนแปลง ที่สืบเนื่องมาจาก คนต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย หรือบุคคลกลุ่มหนึ่งต้องการอำนาจกันแน่? แต่เท่าที่ได้ปฏิบัติไปแล้วสะท้อนผลให้เราท่านหยั่งรู้ความจริงอันเป็นสัจธรรมได้จาก ความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากปัญหาติดตามมา ซึ่งแก้ไขได้ยากที่สุด
ทั้งนี้และทั้งนั้น หลักธรรมะได้สอนเอาไว้ว่า ถ้าไม่มีสิ่งนั้นก็ย่อมมีสิ่งนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวว่า เพราะคนต้องการประชาธิปไตยบนพื้นฐานความไม่รู้ จึงจำต้องได้รับผลทำให้เกิดความเดือดร้อน จนกระทั่งถึงยกพวกฆ่ากันเองเพราะกระทำไปโดยไม่รู้สึกตัว
ดังจะพบกับคำปรารภที่ออกมาอย่างตรงไปตรงมา แม้จากหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นช่วง ๆ ว่า เรากำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นประชาธิปไตยมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถก้าวหน้า หากยังคงวนเวียนอยู่ในสภาพที่เหมือนเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากแต่คนท้องถิ่นกลับแสดงอาการเหมือนกับทองไม่รู้ร้อนเรื่อยมา
ทั้งนี้และทั้งนั้น แม้คนไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการถูกครอบงำโดยอิทธิพลวัฒนธรรมทางวัตถุและกระแสการเงินข้ามชาติ แต่ก็ยังไม่รู้สึกสังหรณ์ใจเพื่อหวนกลับมาค้นหาความจริงหรืออีกนัยหนึ่งทำให้รู้สึกว่า คนในชาติถูกครอบงำโดยอิทธิพลสิ่งเสพติดจึงทำให้สติปัญญามืดบอด
หรืออีกนัยหนึ่ง สติปัญญามืดบอดของคนท้องถิ่น มีผลสืบเนื่องมาจากการหลงอยู่กับความสะดวกสบาย ทำให้สมองคนตกอยู่ในสภาพหลับใน จนกระทั่งแทบไม่อยากคิดและนำปฏิบัติ ไม่ว่าจะกระทำการใด ๆ เพื่อหวังผลปลุกจิตสำนึกให้คนในชาติตื่นขึ้นมา ช่วยกันคิดที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาความเจริญก้าวหน้าบนพื้นฐานความกระตือรือร้นให้เป็นความหวัง
นอกจากนั้น ยังพบกับคำปรามาสโดยสื่อเป็นครั้งคราวว่า คนไทยรวมกันไม่ติด ดังเช่น การทำงานที่ปราศจากการรวมตัวกันเป็นทีม หากรวมกันก็มักพบกับความล้มเหลว
ตัวอย่างที่สาม ได้แก่ ผลจากการพัฒนาชนบท ซึ่งแต่ก่อนเรายังไม่เห็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนมากนัก แต่ขณะนี้กาลเวลาได้พิสูจน์ความจริงออกมาให้หลายคนจำต้องยอมรับ
เมื่อไม่นานมานี้ สภาพแวดล้อมในจังหวัดภาคเหนือได้ก่อปัญหาเรื่องหมอกควันที่เกิดจากไฟไหม้ป่าในฤดูแล้ง ซึ่งกระจายไปอย่างทั่วถึง จนกระทั่งเครื่องบินไม่อาจขึ้นและลงสนาม ทำให้ต้องงดการเดินทางเอาไว้เป็นช่วง ๆ
ความจริงแล้ว หมอกควันที่เกิดจากคนเผาป่า ผู้เขียนยังจำได้ดีว่า ช่วงที่ตนไปเรียนเกษตรอยู่ที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๕ ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อมีนาคม มักได้เห็นภาพไฟไหม้ป่าอยู่ตามเชิงเขาในระยะไกล แต่หมอกควันและไอร้อน ซึ่งลมร้อนพัดมา มันก็ทำให้รู้สึกร้อนผ่าวแทบทุกวันในช่วงเวลาค่ำลง จนกระทั่งเป็นภาพที่เคยชิน
ครั้นต่อมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ทรงเริ่มต้นโครงการเกษตรที่สูงที่ดอยอ่างขาง ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ผู้เขียนมีโอกาสตามเสด็จโดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์
ในขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบิน ระหว่างการเดินทางเหนือร่องเขา เราได้พบกับหมอกควัน ซึ่งเป็นผลจากการเผาป่าของชาวบ้าน จนกระทั่งเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงเพียรพยายามขจัดไฟป่า โดยโปรดเกล้าฯให้คนท้องถิ่นหารายได้เลี้ยงชีพตัวเองจากการปลูกพืชทดแทนฝิ่น
แต่ข้าราชประจำจากหลายหน่วยงาน ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่รู้สึกเดือดร้อน นอกจากมีความเคยชิน จนกระทั่ง ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๐ มีหมอกควันหนาทึบเกิดขึ้นอีกในช่วงเวลาเดียวกัน จนกระทั่ง ทำให้การสัญจรไปมาของยานพาหนะทั้งทางบกและทางอากาศเป็นไปได้ยากลำบาก ซึ่งเราก็ตื่นตระหนกกันไปพักใหญ่ แล้วก็เริ่มต้นเคยชินอีกเช่นเคย
อนึ่ง ผู้เขียนพยายามค้นคว้าหาเหตุและผล แต่ยังก่อน ก่อนที่จะหาเหตุแห่งหมอกควัน ควรจะเริ่มต้นจากผู้คนทั่วไปว่า เหตุใดคนไทยจึงตกอยู่ในความประมาทง่ายเกินไป โดยที่นิสัยลักษณะนี้ทำให้สังคมเสี่ยงต่อความหายนะได้ไม่ยาก
นิสัยดังกล่าว น่าจะเกิดจากคนในสังคมไทยถูกมอมเมาด้วยอิทธิพลวัตถุ ซึ่งมีผลทำให้คนท้องถิ่นส่วนใหญ่หลงอยู่กับความสบาย เปิดโอกาสให้รากฐานจิตใจถูกแทรกซึมด้วยอิทธิพลที่มีผลทำให้คนท้องถิ่นขาดการตื่นตัว แม้แต่นิสัยนอนหลับทับสิทธิ์ ซึ่งควรจะทำให้ตนมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงสร้างเพื่อการบริหารประเทศตามแนวทางใหม่ที่หวังว่าควรจะนำไปสู่ทิศทางที่สร้างสรรค์
แต่คนยุคนี้กลับทำตัวเสมือน “ทองไม่รู้ร้อน” บางครั้งก็สะท้อนอุปนิสัยที่คนยุคก่อนเรียกกันว่า “เห็นช้างตัวเท่าหมู”
ทั้งนี้และทั้งนั้น ทุกวันนี้เหตุการณ์ที่สะท้อนออกมาปรากฏให้ผู้คนที่เดินทางไปมารู้สึกเดือดร้อน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ตกอยู่ในความประมาท ดังเช่นเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งมีผู้คนเดินทางจากกรุงเทพออกไปสู่ต่างจังหวัด ก็ยังสะท้อนให้เห็นคนบาดเจ็บล้มตายเพราะอุบัติเหตุ จนกระทั่ง แม้ทางราชการก็ยังตั้งเป้าคนตายเอาไว้ด้วยตัวเลข เปรียบเสมือนการยอมจำนนต่อปัญหา หรืออีกนัยหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึง การทำงานแบบขอไปที แทนที่จะมีสติปัญญาแตกฉานยิ่งกว่านี้
ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากสิ่งที่กล่าวมาแล้วเปรียบเสมือนสะท้อนให้เห็นความจริงว่า มีการแก้ปัญหาแบบขอไปทีอย่างปราศจากความหวังที่มุ่งทิศทางลงสู่ระดับลึก
สภาพการณ์เช่นนี้ ประชาชนคนไทยจะมีความสุขอยู่ได้อย่างไร?
อนึ่ง ตัวอย่างที่สี่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่เราประกาศการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและแนวคิดมาสู่ประชาธิปไตย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักนำไปผูกติดเอาไว้กับคำว่า ต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของประชาชน ในการพิจารณาออกกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อนำออกมาใช้ในการบริหารสังคมและประเทศชาติ
ซึ่งเราพบกับปัญหาความหวาดระแวงต่อกัน อีกทั้ง การปฏิบัติตนของกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า เป็นผู้แทนราษฎร เนื่องจากหลังการได้รับเลือกตั้งแล้ว ส่วนใหญ่มักหันหลังให้ชาวบ้าน หลายคนอยากขึ้นไปมีอำนาจ ซึ่งในทางปฏิบัติมักพูดกันว่า เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวก
ดังเช่นรัฐบาลชุดที่ผ่านพ้นมาแล้ว มีบุคคลจากกลุ่มผู้มีอุปนิสัยดังกล่าว ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็นผู้บริหารประเทศในสาขาต่าง ๆ ทำให้ตนและบริวารเหล่านี้ นำประชาชนซึ่งโดยปกติถูกปล่อยไว้อย่างปราศจากการร่วมมือร่วมใจกันคิดแก้ไขปัญหาด้วยใจจริง การที่คนระดับล่างไม่สามารถรู้เท่าทันต่อสภาพแวดล้อมจากผลการปฏิบัติของคนระดับบน นอกจากนั้น ยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยพยายามใช้บุคคลระดับล่างที่ไม่สามารถรู้เท่าทันการกระทำของตนและพรรคพวก จึงทำให้จำต้องตกเป็นพรรคพวกในการหาผลประโยชน์ร่วมด้วย
หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวว่า ปล่อยคนระดับล่างเอาไว้ให้รากฐานจิตใจอ่อนแอ เพื่อหวังใช้ผู้คนเหล่านี้เป็นเครื่องมือสนองประโยชน์แห่งตน ดังนั้น สังคมไทย จึงได้รับการปรับเปลี่ยนสภาพ ซึ่งเปรียบเสมือนอาการจากยาเสพติด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
แต่เป็นเพราะความประมาทในอดีตที่ผ่านพ้นมา ทำให้คนระดับชาวบ้านตกเป็นพรรคพวกของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งบริหารประเทศอย่างขาดความบริสุทธิ์ใจจนกระทั่ง อาจเกิดการนองเลือดโดยที่มีคนไทยยกพวกฆ่ากันเอง
ซึ่งสิ่งที่หยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่าง สำหรับบุคคลผู้ถือนโยบาย รวมทั้งคิดจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งควรสนใจเรียนรู้และนำไปพิจารณาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แต่จากกรณีตัวอย่างที่นำมาเสนอให้ทุกคนทบทวน เพื่อค้นหาความจริง อีกทั้ง นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ความจริงแล้ว ปัญหาที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์เจาะลึก หากภายในรากฐานจิตใจตนเอง หยั่งรู้ได้ว่า เราผ่านพ้นสภาพที่เป็นปัญหา ซึ่งมีมาแต่อดีตเพียงเล็กน้อย แต่ก็นำมาปฏิบัติเสมือนเป็น ทองไม่รู้ร้อน จนกระทั่งปัญหาต่าง ๆ เติบโตยิ่งขึ้นจนเป็นเรื่องใหญ่ถึงได้รู้สึกและรีบร้อนแก้ไขแบบเอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่ หากมองเห็นว่า เป็นเพราะเราเกียจคร้าน จึงทำให้ตัวเองนำปฏิบัติแบบสุกเอาเผากิน จนกระทั่งเกิดปัญหาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของสังคมอย่างลึกซึ้ง
ทำให้คิดถึงภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เขียนไว้ในอดีตว่า “สัญชาติคางคก ถ้ายางหัวไม่ตกก็คงยังไม่คิดแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการนำปฏิบัติของตนและพรรคพวก”
3 เมษายน 2550
ระพี สาคริก
วันพุธ, มิถุนายน 27, 2550
หายนะกับภัยของชาติ ที่เกิดจากความประมาทของคนท้องถิ่น!
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น