วันศุกร์, สิงหาคม 10, 2550

ระหว่างบรรทัดกับศรีดาวเรือง



เมื่อไม่นานมานี้ พวกเราชาวสื่อสร้างสรรค์ (Happy Media) ได้ถือโอกาสไปเยี่ยมนักเขียนหญิงรุ่นใหญ่ท่านหนึ่งที่หลายคนรู้จักกันทั่วไปในชื่อนามปากกา “ศรีดาวเรือง” (นามจริงคือ วรรณา ทรรปนานนท์)
มีคนเคยบอกว่า เธอคือนักเขียนตัวจริงที่นำประสบการณ์ชีวิตจริงๆ ที่แสนยากของตัวเธอเองมาถ่ายทอดให้เราอ่านในรูปของงานประพันธ์
ผมเชื่อว่า ระหว่างบรรทัดของบันทึกชีวิตนักเขียนท่านนี้ก็รันทดและงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องแต่งใดในบรรณพิภพนี้
คณะของเราตั้งใจไปเยี่ยมเธอถึงบ้านพักย่านรังสิต และเมื่อเราไปถึง บรรยากาศแมกไม้ที่เงียบสงัดก็สะกดหัวใจของเราจนรู้สึกผ่อนคลาย ใจลอยเลือนหายไปกับธรรมชาติรอบตัวโดยฉับพลัน
ด้วยพบกันครั้งแรก บทสนทนาเริ่มต้นจึงดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบ ไม่มุ่งตั้งประเด็น พูดคุยด้วยอัธยาศัยตามประสาเพื่อนมนุษย์ที่มีไมตรีจิตต่อกัน และถึงแม้ผู้ใหญ่ของเราในวันนั้นจะเป็นนักเขียน แต่เรากลับไม่คิดว่าต้องปักธง มุ่งถกเถียงเพียงเรื่องวรรณกรรมแต่อย่างใด
สื่อสร้างสรรค์ชวนเธอคุยสารทุกข์สุขดิบ ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ ความสุข ความใฝ่ฝัน และงานอื่นๆ นอกเหนือจากที่เราๆ ท่านๆ พอรู้กันแล้ว
“นักเขียนบางคนบอกว่า เขาต้องเขียน เขาหยุดไม่ได้ แต่ชีวิตเราไม่ใช่อย่างนั้น...” ภาพและเสียงสดๆ เบื้องหน้าจากนักเขียนหญิงเริ่มต้น “ชีวิตคนเราจะสุขได้ ไม่ใช่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียวหรอก เขียนหนังสือ มีความสุข ใช่! แต่ไม่ใช่อย่างเดียวหรอก และเราก็เป็นคนหนึ่งในโลกนี้ที่มีหน้าที่อย่างอื่น จากหน้าที่ในบ้าน นอกบ้านกับคนอื่นๆ กับเพื่อนบ้าน กับคนในชุมชนและสังคม แม้แต่กับผลหมากรากไม้...ถ้ามัวแต่เขียนหนังสืออย่างเดียว ไม่ได้หรอก เหมือนกินอาหารอย่างเดียว มันก็ไม่ได้”
เพียงคำสนทนาเบาๆ ในบรรยากาศสบายๆ พวกเราก็ได้เรียนรู้จากทัศนะดังกล่าวแล้วว่า ลำพังชีวิตของเราคนเดียว ไม่อาจดำรงอยู่ได้เลย หากปราศจากผู้อื่นและสิ่งอื่นๆ ความเป็นตัวเราจะไร้ความหมาย ถ้าไม่มีการปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้น คำของคุณวรรณาชี้ว่า คุณค่าของคนเราจะปรากฏก็ต่อเมื่อได้รับการประกอบสร้างจากสิ่งอื่นๆ จากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งของและคนรอบข้าง รวมทั้งสถานที่และบรรยากาศแวดล้อม อดีตและสถานการณ์ ฯลฯ
คุณค่าของนักเขียนรุ่นใหญ่อย่างศรีดาวเรืองก็เช่นกัน
ทุกวันนี้ หนังสือพิมพ์ชุมชนขนาดแท็บลอยด์ชื่อ “มือทำ” ที่เธอและลูกชาย (โมน สวัสดิ์ศรี) ช่วยกันลงมือทำแจกตามร้านค้าภายในละแวกบ้าน คืองานที่พวกเขาสมัครใจทำโดยหวังให้เป็นสื่อกลาง เป็นกระบอกเสียงของคนในชุมชน และรูปธรรมของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ากับตัวเองและผู้อื่นด้วยวิธีง่ายๆ
ถึงตรงนี้ รอยยิ้มของพวกเราก็ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง
หนังสือพิมพ์ “มือทำ” คือตัวอย่างการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าที่เชื่อมโยงกับผู้อื่น ตั้งแต่การวางแผนงานกับลูกชายในบ้าน เริ่มหาข้อมูลมาขีดเขียน จัดหน้า และพิมพ์แจกจ่ายภายในชุมชน
อีกบุคคลที่มีส่วนในความเป็นศรีดาวเรืองทุกวันนี้คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี คู่คิดเครางาม คู่ชีวิตของเธอ ศรีดาวเรืองเล่าว่า คุณสุชาติยังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการส่วนตัวของเธอ และผู้คัดกรองหนังสือให้เธออ่านในช่วงแรกๆ ของการฝึกฝนงานเขียนของตัวเอง
สุชาติ สวัสดิ์ศรี คือผู้นำ “ความมั่นใจ” มาให้เธอ คุณสมบัติสำคัญของนักเขียน
“คนที่ชอบเขียนหนังสือส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านก่อน” ซึ่งผมเดาว่าทุกคนก็เชื่อเช่นนั้น แต่ที่สำคัญคือ สำหรับงานเขียนที่ดีนั้นน่าจะมาจากแหล่งทรัพยากรหรือฐานข้อมูลที่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ชีวิต
บทสนทนาช่วงหนึ่ง เธอได้เปรียบตนเองเหมือนผู้กระหายในความรู้รอบตัว ด้วยมองตัวเองเป็น “เด็กบ้านนอก” ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่รักเรียน รักที่จะใฝ่หาความรู้
“สมัยก่อน ตนเองได้ไขว่คว้าหาความรู้ใส่ตัวสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิชาพิมพ์ดีด เย็บปักถักร้อย ขับขี่รถ เรียนภาษาอังกฤษเบื้องต้น แม้กระทั่งการยิงปืน และที่เรียนก็เพราะอยากรู้ โดยไม่กังวลว่าจะได้ใช้วิชาที่เรียนมาหรือไม่ ไม่สนใจว่าพฤติกรรมของตนเองจะถูกดูถูกจากเพื่อนร่วมงานด้วยกันมากน้อยเพียงใด”
สื่อสร้างสรรค์อย่างพวกเราก็พยายามทำเช่นนั้น คืออยากรู้อะไรก็ลงมือทำ ใช้เวลากับมัน หาความรู้จากประสบการณ์จริง เดินทางไปพูดคุยขอความรู้จากผู้หลักผู้ใหญ่
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า การหาความรู้ของคนเรามีได้หลากแบบหลายวิธี ทั้ง “ครูพักลักจำ” จากประสบการณ์ชีวิต ฝึกฝนการวิเคราะห์ข่าวสารจากสื่อสารมวลชน เก็บรับจากภาพยนตร์สารคดี บริโภควิทยุโทรทัศน์ อ่านสมุดบันทึกของนักเดินทาง นิตยสารและหนังสือเล่ม ตลอดจนดูแผนที่ ชมภาพร่าง ภาพถ่าย และภาพเขียน เรื่อยไปจนถึงการนั่งวิปัสสนา ภาวนาเพื่อหา “ความรู้ด้านใน”
นอกเหนือจากที่ยกมานี้ ความรู้จากบทสนทนาดีๆ มีสาระ ไม่ว่าจะพูดคุยกับมิตรสหาย ผู้คนผ่านทาง หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนก็ล้วนเป็นวิธีการหาความรู้ด้วยกันทั้งนั้น
แต่ดูเหมือนวิธีการอย่างหลังสุดกำลังจางหายไปจากความนึกคิดในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ โดยเฉพาะสังคมเมือง วิถีชีวิตสมัยใหม่ที่มีสื่อสารพัดแวดล้อมตัวเรามากมาย ทั้งที่ให้เราเลือกเสพและยัดเยียดให้เราบริโภค คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่เข้ามาเบียดขับการแสวงหาความรู้จากผู้สูงวัยออกไปจากเรา
โลกสมัยใหม่มักแยกผู้คนให้หนีห่างออกจากกัน เด็กรุ่นใหม่ไม่เคารพผู้อาวุโส วัยชราเข้าไม่ได้กับโลกของคนหนุ่มสาว อีกทั้ง การเรียนที่จำกัดนิยาม “ความรู้” ส่วนใหญ่แต่เฉพาะในรั้วสถานศึกษา หรือการงานที่แย่งเวลาของเราไปตลอดทั้งวัน ตลอดสัปดาห์ ก็ล้วนเป็นมูลเหตุให้การหาความรู้จากผู้ใหญ่หายไปจากสารบัญชีวิต
เสน่ห์ของวิธีการหาความรู้แต่ละแบบก็แตกต่างกัน เฉพาะการเดินทางไปหาความรู้ผ่านการพูดและฟังนั้น นอกจากความรู้แล้ว เรายังได้สร้างความคุ้นเคยกับคู่สนทนา และได้สัมผัสกับ “ความมีชีวิตชีวา” ของเขาตลอดช่วงเวลาที่การพูดคุยดำเนินไป เฉพาะอย่างยิ่ง การพูดคุยกับผู้สูงวัยกว่าจะทำให้เราได้รับข้อคิดสอนชีวิตดีๆ ระหว่างคนต่างวัยด้วย
จินตนาการของผู้คนในสังคมเมืองสมัยใหม่ทุกวันนี้เริ่มพร่อง ส่วนหนึ่งคงมาจากการพึ่งความรู้จากสื่อสารมวลชนมากเกินไป
หากพวกเราลองหันมามองผู้สูงวัย นึกถึงพวกเขา และพูดคุยด้วยความผ่อนคลายด้วยบรรยากาศคล้ายการเล่านิทานสู่กันในวงสนทนาเล็กๆ ของหมู่บ้าน บางทีก็อาจเป็นวิธีง่ายๆ ที่เรียกจินตนาการของพวกเรากลับคืนมาอีกครั้ง
คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ที่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง ลองเริ่มชวนท่านคุยก่อนสิครับ

หมายเหตุ
ที่มาของชื่อ “ศรีดาวเรือง” คุณวรรณากรุณาเล่าให้พวกเราฟังว่ามาจากคุณสุชาติ โดยนำคำว่า “ศรี” มาผสมกับคำว่า “ดาวเรือง” ซึ่งเป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งมีสีเหลือง แต่เหตุที่ทำไมต้องเป็นดอกนี้ก็เพราะรูปลักษณ์ของดอกดาวเรืองคล้ายคลึงกับดอกไม้สีเหลืองอีกชนิดที่คุณวรรณาเก็บได้และประทับใจ จดจำมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อของเธอตั้งชื่อให้ดอกสีเหลืองช่อนั้นว่า “yellow star” (แปลว่าดาวสีเหลือง)

ชีวิตรื่นรมย์ // 14 ส.ค. 50
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ไม่มีความคิดเห็น: