“..............กรี๊งงงงงงง” เสียงโทรศัพท์บนโต๊ะทำงานดึงสมาธิของผู้เขียนจากการอ่านจดหมายกองพะเนินที่วางอยู่บนโต๊ะ เสียงจากปลายสายคือเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานฝ่ายการตลาดของบริษัทผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เธอขอให้ผู้เขียนช่วยหาเพลง “ใจจะขาด” ของศรเพชร ศรสุพรรณ เนื่องจากเห็นว่าผู้เขียนจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่งที่ FM 95 ลูกทุ่งมหานคร โดยขอให้ตัดเอาเฉพาะท่อนสำคัญของเพลง ดังนี้
“ใจจะขาด แล้วเอ๊ย ใจจะขาด แล้วเอย
นอนไม่หลับ จับใจ
เต้นไว เหมือนมีใครเฆี่ยนตี
มองอีกครั้ง เห็นเขานั่ง จู๋จี๋
โอ้ยใครกันนี่ ช้ำอย่างนี้มีบ้างไหม
ใจจะขาด แล้วเอ๊ย ใจจะขาด แล้วเอย”
คู่สนทนาแจ้งจุดประสงค์ของการใช้เพลงลูกทุ่งนี้ว่า ต้องการนำไปประกอบการทำ Presentation ทางด้านการตลาด!!!!
ใช่แล้วค่ะ ท่านผู้อ่านไม่ได้ตาฝาดและผู้เขียนไม่ได้พิมพ์ผิด แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักการตลาดคนนี้ สนใจใช้เพลงลูกทุ่งที่ชื่อ “ใจจะขาด” สำหรับ Presentation นำเสนอลูกค้า
คำตอบที่ได้รับก็คือ...
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปิดกิจการของบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด มูลค่า 300 กว่าล้านบาท ซึ่งเจ้าของบริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้เพื่อพยุงกิจการได้ และจำต้องต่อสู้กับผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้
เมื่อสายป่านขาด ว่าวที่เคยทะยานติดลมบนอย่างโรงงานไทยศิลป์ เป็นต้องหลุดลอยเคว้งคว้างกลางอากาศ ก่อนที่จะร่วงหัวปัก ตกลงสู่พื้นดินอย่างไม่มีจุดหมาย นั่นหมายถึงอนาคตของคนงานอีกราว 6,000 คน ที่ถูกลอยแพไปพร้อมกับว่าวตัวนี้
ข้อมูลที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เหตุการณ์นี้เป็นเพียงท่อน intro ของเพลง ยังไม่ถึงท่อน hook และ solo ที่จะกระหึ่มถล่มเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้
กรณีปิดโรงงานขนาดยักษ์ของบริษัทไทยศิลป์ฯ ว่าไปแล้วก็เป็นเสมือนสัญญาณอันตรายสำหรับธุรกิจอีกหลายประเภทที่กำลังจ่อคิวถูกตัดสายป่านให้ร่วงกราวอีกนับไม่ถ้วน จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที
เพื่อนนักการตลาดรายนี้เชื่อว่า ชั่วโมงนี้ ไม่มีเพลงไหนที่จะเข้าถึงหัวใจของลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจได้ดีกว่าเพลง “ใจจะขาด” อีกแล้ว
อีกเรื่องเกิดขึ้นขณะที่ผู้เขียนกำลังฟังคำอธิบายประกอบการขอรับความช่วยเหลือ ผู้เขียนได้กวาดสายตาอ่านจดหมายกองพะเนินบนโต๊ะทำงาน เป็นข้อความแสดงความรู้สึกของผู้ฟังคลื่นความคิด FM 96.5 ที่ได้ไปร่วมกิจกรรม “ตามรอยพ่อ พอเพียง ครั้งที่ 2” ซึ่งเดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของในหลวงที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ผู้ฟังแต่ละท่านบรรยายถึงความประทับใจต่อแนวความคิดและวิธีการที่ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอดีตผู้อำนวยการกองสำนักโครงการพระราชดำริ นำมาเผยแพร่และปฏิบัติให้เห็น
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว อาจารย์วิวัฒน์ทิ้งชีวิตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อกลับไปเป็นชาวนาที่บ้านเกิด (บ้านมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี)
ความตั้งใจของท่านที่ใหญ่คับหัวใจคือ การพิสูจน์ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันลอยๆ และทฤษฎีใหม่ของในหลวงนั้น เป็นความรู้ที่ยั่งยืนสำหรับชาวไทยและชาวโลก
ท่านเริ่มพลิกฟื้นผืนดินที่แตกระแหงจากการปลูกไร่มันสำปะหลังเป็นระยะเวลายาวนานจนกระทั่งทำลายความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินด้วยเงินบำนาญราชการที่มีอยู่จำกัด
เพียงจุดเริ่มต้นก็เห็นความต่างอย่างเด่นชัดแล้วว่า แนวทางการแก้ปัญหาของอาจารย์วิวัฒน์สวนทางกับแนวทางของบริษัทไทยศิลป์อย่างไร
หลักการทำธุรกิจสมัยใหม่มักเริ่มต้นด้วยการหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินตั้งแต่เริ่มประกอบการ เริ่มสะสมหนี้สินตั้งแต่ตั้งไข่ ฟูมฟักธุรกิจให้เติบโตบนกองหนี้ที่พอกพูนขึ้นตามการขยายตัวของกิจการ
กว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องได้กลายเป็นชุมชนของวิถีการเกษตรปลอดสารพิษที่มั่นคง พื้นที่กว่า 40 ไร่ของศูนย์ฯ กลายเปลี่ยนเป็นท้องทุ่งเขียวขจีทุกตารางนิ้ว เป็นไปตามทฤษฎีการปลูกพืชแบบผสมผสาน และชาวมาบเอื้องเองก็มั่นใจในตัวเองมากขึ้น พร้อมกล้าประกาศตัวต่อสาธารณะว่าเป็นชุมชน “คนรวย” ของประเทศนี้ โดยไม่เกรงต่อการตรวจสอบจาก คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ)
ความรวยที่ว่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่อาจารย์วิวัฒน์มักปล่อยมุกตลกด้วยการอวดสกุลเงินตราต่างประเทศที่ท่านพกไว้ในกระเป๋าสตางค์ราวกว่า 20 ล้าน (เช่น สกุลเงินพม่า และตุรกี) เรียกอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะเป็นที่โปกฮา
ความรวยที่ว่าเกิดจากคำว่า “พอ”
พอใจที่จะนอนกระต๊อบในสายตาคนอื่น แต่เป็นคฤหาสน์ในความรู้สึกของอาจารย์
พอใจที่จะเดินด้วยเท้าเปล่าบนพื้นดินภายในศูนย์ฯ เพราะดินที่นั่นปราศจากสารเคมีเจือปน
และพอใจที่จะทำงานด้วยความคึกคัก คล่องแคล่ว และครื้นเครง คาถาที่อาจารย์จดจำจนขึ้นใจเมื่อครั้งตามเสด็จถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำหน้าที่จดบันทึกพระราชดำริต่างๆ
การสนทนาทางโทรศัพท์ของผู้เขียนนั้นจบไปแล้ว แต่การอ่านข้อความในจดหมายจากผู้ฟังที่ซาบซึ้งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังคงทำให้ผู้เขียนยิ่งเข้าถึงความลึกซึ้งของคำว่า “พอ” มากขึ้นในเวลาต่อมา
เสร็จจากการอ่านจดหมาย ผู้เขียนจัดการทำธุระให้ตามที่เพื่อนนักการตลาดรายนี้ต้องการ โดยนอกจากจะจัดส่งเพลง “ใจจะขาด” ไปให้แล้ว ยังแถมเพลง “อย่า อยู่ อย่าง อยาก” ของ P2 Warship ไปให้ด้วย
ไม่รู้เหมือนกันว่า Presentation ของเขาจะได้ผลตอบรับเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ หากใครได้ฟังเพลงหลังก็น่าจะได้ข้อคิดบางอย่างกลับไปบ้าง ไม่มากก็น้อย
ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // 31 กรกฎาคม 2550
กนกวรรณ กนกวนาวงศ์
kanok44@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
วันศุกร์, สิงหาคม 03, 2550
ต่างกันตั้งแต่เริ่มต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น