เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสไปร่วมงานอบรม “กระบวนการหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมประชาธิปไตย” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบผู้คนจากนานาประเทศ หลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรม ในจำนวนนี้ ผู้ที่ให้แง่มุมวัฒนธรรมแห่งความเคารพ การให้เกียรติกันคือ เพื่อนที่มาจากวัฒนธรรมชนเผ่าเมารี (ชื่อกลุ่ม whale rider) จากประเทศนิวซีแลนด์ และชนเผ่าอินเดียนแดงในอเมริกา
พวกเขาทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่า “ประชาธิไตย” ไม่ใช่กระดาษ ไม่ใช่ระบบ แต่เป็นจิตสำนึก และวิถีการดำเนินชีวิต
แลรี่ หมอยาผู้นำชนเผ่าอินเดียนแดงกล่าวว่า โลกทั้งใบคือสายใยแห่งความสัมพันธ์ เชี่อมโยงกัน วิธีคิดนี้แสดงออกมาทางพิธีกรรม ภาษา และ วัฒนธรรมที่ให้ความเคารพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกับธรรมชาติ สัตว์ ต้นไม้ และมนุษย์
ก่อนเริ่มการประชุม ชาวอินเดียนแดงจะเอ่ยเชิญจิตวิญญาณจากธรรมชาติที่พวกเขาสัมพันธ์ บรรบุรุษ สรรพชีวิต และเพื่อนร่วมโลก มาอยู่ในที่ประชุมด้วย เพื่อหลอมจิตให้เป็นหนึ่ง และเมื่อจบการประชุม พวกเขาก็จะกล่าวให้พลังความสุข การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวงประชุมนั้น กลับไปให้แก่สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ และสรรพวิญญาณทั้งหลาย
“พิธีกรรม” และ “ภาษา” ที่พวกเขาใช้ในการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ทำให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งกับความรู้สึกเชื่อมโยงที่เขามีต่อสรรพสิ่ง และตระหนักรู้ว่า ตนเองเป็นคนล่องลอยหรือไร้รากขึ้นมาทันที
ข้าพเจ้ารู้สึกถึงชีวิตตนเองที่ตัดขาดจากสิ่งรอบตัวมาตลอด
ความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่างๆ มีความสำคัญมาก สำหรับวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ ทัศนะนี้กำหนดรูปแบบและวิถีชีวิตของพวกเขา ในภาษาของชาวอินเดียนแดง ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กัน โยงใยด้วยระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
แลรี่ ยกตัวอย่างว่า หากใจเราเห็นโต๊ะและเก้าอี้เป็นเพียงวัตถุ วิถีความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งนั้นก็จะเป็นในลักษณะวัตถุ ไม่มีความหมายอะไร ไม่ต้องรักษาดูแล เก่าหรือพังก็เปลี่ยนใหม่ ไม่มีความผูกพัน ไม่มีการเชื่อมโยง ปราศจากความเคารพต่อสิ่งนั้นๆ
แต่หากเราปรับใจ เลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับโต๊ะและเก้าอี้เล่า? อาจจะฟังดูแปลกๆ แต่ลองดูว่า หากเราเลือกที่จะมองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องความสัมพันธ์แล้ว ใจของเรา มุมมองของเราจะเปลี่ยนไปหรือไม่
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ทัศนะนี้เป็นโลกทัศน์ใหม่ก็ว่าได้
ในระดับความสัมพันธ์ โต๊ะและเก้าอี้ต่างเป็นอุปกรณ์ที่เอื้อประโยชน์กับการใช้ชีวิตของเรา เรารู้สึกขอบคุณที่ได้รับความสะดวกสบายจากสิ่งเหล่านี้ นี่คือการสร้างความสัมพันธ์ และเมื่อเราสัมพันธ์กับสิ่งใดแล้ว เรามักมีแนวโน้มที่จะดูแลรักษาสิ่งนั้นมากขึ้น
สำหรับวิถีชนเผ่า ทุกชีวิตคือความสัมพันธ์ ดังนั้น แนวคิดการจับจองเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดถือเป็นเรื่องที่เกินไปจากจินตนาการ
“แผ่นดิน ไม่ใช่สิ่งที่เราจะครอบครองหรือจับจองเป็นเจ้าของได้ มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็น “ทรัพย์ของแผ่นดิน” แลรี่ กล่าว
ด้วยทัศนะเช่นนี้ ชาวชนเผ่าจะรักษาความสัมพันธ์กับผืนดินที่โอบอุ้มชีวิตของเขา รักษาสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตและสรรพสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก
ชาวตะวันตกและตะวันออกที่เปลี่ยนวิถีจิตไปรับเอาทุนนิยม มองเห็นทุกอย่างเป็นวัตถุไร้วิญญาณ เป็นสมบัติที่อาจครอบครอง เราขายภูเขา ระเบิดทิ้งเพื่อทำถนน ทิ้งของเสียลงน้ำ ทำลายผืนดิน ตัดต้นไม้รุ่นปู่ทวดของเราไปอย่างไม่ใยดี
วิบากจากการตัดขาดความสัมพันธ์นี้คือภาวะโลกร้อนที่เราทั้งหลายกำลังเผชิญอยู่ และมีแนวโน้มว่า ภัยธรรมชาติจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต
นอกจากธรรมชาติแล้ว มนุษย์ซึ่งถือเป็นสัตว์สังคมยังตัดขาดความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเอง ยิ่งชีวิตในเมืองแล้ว ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เราใส่ใจน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครอบครัว เพื่อน และชุมชน
ในสภาพตัดขาดไร้รากเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจหากเราหลายคนจะรู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว และหาทางออกจากการพึ่งพาสิ่งที่ไม่ช่วยอะไรเราเลย เช่น ยาเสพติด จับจ่ายใช้สอยอย่างไร้จุดหมาย
เราคุยกันอย่างธุรกิจ ทำงานอย่างมืออาชีพ คำถามคือ มนุษย์เราจะพูดคุย เจรจาธุรกิจ ประสานงาน ติดต่องาน สัมพันธ์กันด้วยความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ หรือเราขาดความสามารถในเรื่องนี้ไปแล้ว
บางครั้ง เมื่อรู้สึกว่ามีใครทำอะไรบางอย่างที่ขัดใจเรา แล้วเราเริ่มรู้สึกโกรธ คิดที่จะโต้ตอบด้วยวาจาและการกระทำที่แข็งกระด้าง วางท่าทีต่อกันอย่างเป็น “ทางการ” แบบเจ้านายกับลูกน้อง หรือ “อย่างมืออาชีพ” แบบนักธุรกิจกับลูกค้า หรือหากมีความขัดแย้งกันรุนแรง เราอาจเลือกใช้อำนาจเข้าข่มเหงกัน พูดดูถูกดูหมิ่นกันเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์หรือศักดิ์ศรีของอีกฝ่าย
การเลือกทำเช่นนั้นคือ เราเลือกที่จะตัดความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายและตัวเราเป็นเหมือนวัตถุสิ่งของที่ไม่มีคุณค่า ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่คือวิถีที่เราเลือก และชีวิตที่ตัดขาดก็เป็นผลจากสิ่งนี้
แต่หากเราหยุด พิจารณา และถามตัวเองว่า เราจะสร้างความสัมพันธ์กับคนต่างๆ อย่างไร ถ้าจะโต้แย้งกัน มนุษย์จะโต้แย้งกันอย่างไร โดยไม่ถอดถอนความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ท่านรัฐมนตรี จิ๊กมี ธินเลย์ แห่งภูฏาน ได้กล่าวในการพูดคุยกับสื่อเรี่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ที่บ้านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่า “หากเราหันมามองความหมายของชีวิตใหม่ ให้คุณค่ากับชีวิต เราอาจเห็นว่า ความสัมพันธ์ นั่นแหละคือชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้คน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ หากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งต่างๆ เราก็เป็นคนที่มีความสุขและร่ำรวย”
คนที่มีความสุขในครอบครัว มีเพื่อนดี ๆ ที่รักเรามากมาย การมีเพื่อนร่วมงานที่กลมเกลียวกัน นั่นอาจเป็นความรุ่มรวยที่แท้จริง สิ่งนี้ไม่อาจแลกได้ด้วยเงิน แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับมาจากใจ
การเริ่มต้นง่ายๆ คือการใส่ใจและตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า ความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่าง ๆ น่าจะเป็นอย่างไร
คำตอบจากหัวใจเราเท่านั้นที่จะนำทางให้แก่เรา
ชีวิตรื่นรมย์ // ฉบับ อังคาร 24 กค 50
กรรณจริยา สุขรุ่ง
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 26, 2550
คำตอบจากหัวใจ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น