วันพุธ, กรกฎาคม 18, 2550

โลกของวัฒนา


ช่วงเวลาที่ผมเข้ารับการผ่าตัดหัวใจครั้งใหญ่อันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ลืมไม่ลงนั้น เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผมใกล้จะเรียนจบชั้นประถมศึกษา เป็นรอยต่อแห่งวัยที่จดจำรายละเอียดได้ไม่มาก ตรงข้ามกับความรู้สึกที่ยากจะลืมเลือน
ด้วยฐานะของครอบครัว ผมไม่มีโอกาสพอจะอยู่ในห้องพักส่วนตัว ผมจึงต้องนำร่างกายผ่ายผอมของตัวเองเข้าไปจมปลักอยู่ในห้องผู้ป่วยรวม เพื่อรอการผ่าตัดเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ จนทำให้ผมได้เห็นภาพแห่งความจริงที่แสนจะเป็นจริง
ทุกแววตาอันเศร้าโศกของผู้ร่วมชะตากรรมในห้องผู้ป่วยรวม เป็นภาพคล้ายการจองจำราวกับถูกติดคุกติดตาราง แววตาของพวกเขาตกอยู่ในสถานะ ‘ผู้ป่วย’ ซึ่งกำลังตั้งคำถามว่าพวกเขาทำผิดอะไรที่ต้องมารับโทษทัณฑ์ในสถานที่ที่ไม่ควรอยู่ นอกเหนือเสียงร้องไห้คร่ำครวญจากอาการคิดถึงบ้าน ยังมีกลิ่นคาวเลือด กลิ่นยาฆ่าเชื้อ รวมถึงกลิ่นแห่งความตายที่เยี่ยมเยียนเวียนแวะใครบางคนที่เคยนอนอยู่เตียงข้างๆ
แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่น่าจะเป็นโลกมนุษย์ ผมกลับเห็นแววตาใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็กหญิงวัย 6 ขวบคนหนึ่ง ที่ยังร่าเริงเติบโตภายใต้ ‘โลกร้าย’ เพราะเธอคือหนึ่งในผู้ป่วยเด็กที่ต้องประสพพบกรรมอยู่ในโรงพยาบาลนับตั้งแต่เกิด
นับแต่แม่ของเธอให้กำเนิด พร้อมกับลาจากลูกสาวของตัวเอง
ผมเคยได้ยินคุณพยาบาลหลายคนพูดกันปากต่อปากว่า หลังจากคุณแม่ของเธอรับรู้ว่าลูกสาวจะไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ แม่ของเธอก็รีบหนีออกจากโรงพยาบาล ทิ้งขว้างก้อนเนื้อแบเบาะให้เป็นภาระกับคนที่นี่
แววตาร่าเริงของเธอคือภาพงดงามที่ผมขอยืนยัน แต่เมื่อคนอื่นๆ ได้ประสบพบเห็น ทุกคนต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอคือ ‘เด็กปัญญาอ่อน’
ไม่เพียงพิการด้านสติปัญญา ร่างกายของเธอก็ผิดเพี้ยนไปจากความพอดี หน้าท้องเธอยื่นยาวจากร่างกายด้วยโรคเบาหวานขั้นรุนแรง ราวกับเธอเป็นหญิงสาวตัวเล็กที่กำลังอุ้มท้องแก่ๆ กอปรกับใบหน้าและดวงตาที่ดูอย่างไรก็ไม่ครบบาท ผู้เคยพบเห็นเธอจึงอาจนึกขำในใจ
ช่วงเวลาที่ผมพักรักษาตัว ความเครียดของเด็กประถมเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนขี้โรคอย่างผม ด้วยสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล ไม่ว่ามันจะได้รับการทำความสะอาดจนเอี่ยมอ่อง ได้รับการปกป้องดูแลจากคณะแพทย์ แต่คนที่ถูกจองจำย่อมต้องการอิสรภาพจากโรคร้ายที่เป็นสาเหตุให้ต้องถูกกักขังตัวเอง ภาวะตึงเครียดของผมจึงยิ่งพุ่งสูงเมื่อเจ้าเด็กปัญญาอ่อนย่างกรายเข้าใกล้
ทุกห้วงเวลาที่ผมอยู่ในโรงพยาบาล ผมเดินเหินไปไหนมาไหนไม่สะดวกเพราะติดสายน้ำเกลือ ตรงข้ามกับเจ้าเด็กหญิงวัฒนาที่เป็นอิสระจากพันธนาการ เธอชอบทำมือทำไม้ล้อเลียนผมด้วยท่าทีกวนๆ ราวกับผมเป็นตุ๊กตาที่เธอจะกลั่นแกล้งผมอย่างไรก็ได้ ยิ่งหากคุณแม่ของผมมาเยี่ยมคราใด เจ้าวัฒนาก็จะเข้ามาออเซาะคุณแม่
จากความคิดแบบเด็กยังอ่านหนังสือไม่แตก ผมจึงหมั่นไส้เจ้าเด็กหญิงทุกครั้งเมื่อร่างเงาของเธอสะกิดความสนใจของแม่ ผมคิดว่าเธอคือเจ้าเด็กพุงโรไม่เจียมสังขาร สร้างความรำคาญให้คนอื่นไปทั่วเนื่องเพราะเธอก็ชอบทำทียียวนกับเพื่อนๆ ทั้งยังประจบผู้ปกครองของผู้ป่วยเด็กจนได้ผลลัพธ์เป็นขนมรสอร่อยสองสามชิ้น และเมื่อเธอได้ขนมจากผู้ผลักผู้ใหญ่ เธอจะค่อยๆ หยิบขนมใส่ปาก เคี้ยวเอื้องอย่างเชื่องช้าเพื่อให้คู่กรณีของเธอคอยหมั่นไส้
เด็กหญิงวัฒนาชอบเรียกคุณแม่ของผมว่า ‘ยาย’ เธอมีความสุขทุกครั้งเมื่อคนที่เธออุปโลกน์ว่าเป็นคุณยายของเธอมาหาผมที่โรงพยาบาลราวกับเธอเป็นหลานสาวคนโปรด เธอชอบเดินไปรับแม่ของผมที่ประตูทางเข้าในขณะที่ผมกลับต้องมาติดสายน้ำเกลืออยู่บนเตียงนอน แววตาเธอสุขล้นคล้ายชีวิตไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากคุณยายที่ชอบพูดคุยกับเธอ อยู่เคียงข้างเธอ เป็นมิตรกับเธอในทุกลมหายใจ
แต่เมื่อผมใช้วิธีคิดแบบคนอายุ 27 เช่นในปัจจุบัน ย้อนมองเด็กหญิงวัฒนาในครั้งกระนั้น ความเศร้าแสนสาหัสก็เริ่มสะกิดต่อมสำนึก
จะเป็นอย่างไรถ้าเด็กหญิงคนหนึ่ง อยู่ในโรงพยาบาลภายในห้องผู้ป่วยรวมนับตั้งแต่เกิด
จะเป็นอย่างไรถ้าเด็กหญิงคนหนึ่ง ไม่เคยพบหน้าพ่อแม่ ไร้ญาติขาดมิตร
จะเป็นอย่างไรถ้าเด็กหญิงคนหนึ่ง มีสภาพร่ายกายผิดปกติ เรียกความสนใจให้คนทั้งหลายจับจ้องราวกับเป็นตัวประหลาด
หากสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขในโลกใบน้อย คงเพราะอาการปัญญาอ่อนของเธอนี่เองที่ทำให้ความคิดของเธอไม่อาจตกอยู่ในหลุมหล่มแห่งห้วงกังวล ด้วยทุกแห่งหนในโรงพยาบาลอันเป็นที่พักถาวรของเธอ เธอคงวาดฝันว่าเป็นวิมานม่านฟ้า มีเพื่อนเล่นหน้าเก่าหน้าใหม่ให้เธอเดินไปทักทายตลอดเวลา แม้เพื่อนของเธอจะคร่ำเครียดกับบรรยากาศแห่งแดนสนธยา และพยายามผลักดันตัวเองออกไปให้พ้นๆ
แต่เธอก็ยังสนุกกับชีวิต ไม่คิดวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น
คุณแม่ของผมเคยพูดคุยกับคุณหมอเกี่ยวกับอนาคตของเด็กหญิงวัฒนาให้ผมได้ยิน คุณหมอกล่าวว่าเธอคงต้องได้รับการดูแลอยู่ในโรงพยาบาลไปอีกยาวไกล เพราะโรคเบาหวานขั้นรุนแรงที่ครอบครองตัวเธอยังตามราวีไม่ยอมเลิกง่ายๆ โอกาสที่เธอจะได้รับอุปการะจากผู้ใจบุญจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้
หลังจากผมเข้ารับการรักษา ก่อนจะออกมาร่ำเรียน เติบโต และใช้ชีวิตเฉกเช่นคนทั่วไป นับจากวันนั้นกาลเวลาก็ลุล่วงมาเกือบ 20 ปีแล้ว ภาพของการเข้ารับการรักษาเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำ เว้นเพียงความคิดที่ยังหวนระลึกถึงเด็กหญิงตัวน้อยคนนั้น ซึ่งปัจจุบันร่ายกายของเธอคงเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ผมไม่รู้ว่าในปัจจุบัน อาการโรคเบาหวานขั้นรุนแรงของเธอทุเลาลงบ้างหรือไม่ รู้เพียงกาลเวลาไม่อาจทำให้เธอเติบโตทางความคิดมากไปกว่าเด็ก 6 ขวบ และภายใต้ดวงตาแห่งความสุขเจือเศร้าหมองของ ‘นางสาววัฒนา’ ก็คงไม่หลงเหลือความทรงจำเก็บไว้มากมาย เธอคงจดจำผม คุณแม่ของผม เพื่อนที่เคยวิ่งเล่น หรือเพื่อนบางคนที่เคยถูกห่อหุ้มด้วยผ้าดิบแล้วนำไปเก็บไว้ในห้องหับมิดชิดไม่ได้ กระนั้นเรื่องราวของเธอก็ทำให้ผมพยายามเข้าใจโลกของคนปัญญาอ่อน โลกที่มีเหตุมีผลเป็นของตนเอง โลกที่หัวจิตหัวใจของเธอยังคงแบ่งปันเก็บไว้ให้คนอื่นๆ
ตรงข้ามกับโลกของคนสติปัญญาบริบูรณ์ที่ทอดทิ้งเธอนับตั้งแต่เกิด
ผมเชื่อว่าในโลกใบเล็กของเด็กหญิงวัฒนา รวมถึงเด็กปัญญาอ่อนที่ถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาล ยังมีความต้องการความห่วงหาอาทรจากผู้อื่น แม้เด็กเหล่านั้นอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองผิดปกติ และคนในสังคมอาจนึกไปเองว่าเด็กปัญญาอ่อนคงไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘กำลังใจ’ แต่ผมกลับเชื่อว่าหากเรายื่นดอกไม้ที่เต็มด้วยกลิ่นหอมของจิตใจที่ดีงาม เด็กๆ เหล่านั้นย่อม ‘เข้าถึง’ ความหมายของชีวิตและสังคมรอบข้าง
เพราะเด็กเหล่านั้นก็มีหัวใจที่เต้นระบำเริงร่า...เช่นเดียวกับหัวใจของพวกเราทุกคน

ชีวิตรื่นรมย์ ฉบับอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2550
โมน สวัสดิ์ศรี
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ไม่มีความคิดเห็น: