หลังจากที่ตั้งท่าอยู่หลายปี ในที่สุด ผู้เขียนก็ได้โอกาสเห็นพระราชวังโปตาลา และสัมผัสกับชีวิตของคนธิเบตในธิเบตอย่างที่หมายมั่นตั้งใจไว้
เกือบ 50 ปีแล้วที่องค์ดาไลลามะที่ 14 ยังคงวิงวอน ขอให้ชาวธิเบตได้ปกครองตนเอง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาธิเบต แม้จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ก็ตาม
ธิเบตวันนี้ ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ธิเบตภายใต้การปกครองของจีน ชวนให้หดหู่อย่างไร้คำใดมาอธิบาย
Free Tibet
บางคนที่เคยเห็นการเคลื่อนไหวหรือได้ยินคำรณรงค์ “Free Tibet” อาจสงสัยว่า ทำไมอิสรภาพของชาวธิเบตถึงเป็นเรื่องใหญ่ ทำไมธิเบตจึงต้องการดูแลตัวเอง มันเลวร้ายอะไรมากมายนักเมื่อรัฐบาลจีนก็ได้พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อนำความเจริญต่างๆ มายังธิเบต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่ หรือร้านค้าย่อย สาธารณูปโภค รวมทั้งเส้นทางรถไฟสายจีน-ธิเบตที่บรรลือโลกกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่อยู่สูงที่สุดในโลก ทำให้การเดินทางสู่ธิเบตสะดวกขึ้น เหล่านี้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของธิเบตดีขึ้น
หากแต่สิ่งก่อสร้างทันสมัยที่จัดสรรไว้อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามานั้น กลับทำให้กรุงลาซาดูเสื่อมโทรมอย่างน่าเศร้า ร้านรวงที่รายล้อมจนแน่นขนัดรอบพระราชวังโปตาลา อดีตที่พำนักขององค์ดาไลลามะ ได้บดบังความงามสง่าของสถาปัตยกรรมสัญลักษณ์แห่งธิเบต
คนที่ค้าขายเก่งและมีเงินทุนมากกว่า ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักเป็นชาวจีน ขณะที่ความเป็นอยู่ของคนธิเบตพื้นถิ่นกลับยากจน ซ้ำยังเป็นคนกลุ่มน้อย (ประมาณว่า ประชากรทุกๆ 10 คนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนราว 9 คน ที่เหลืออีก 1 คนคือชาวธิเบต)
ความลำบากด้านเศรษฐกิจนั้นเล็กน้อยมากหากเทียบกับการถูกลิดรอนทางจิตวิญญาณ
บางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่า ไม่ว่าใครในธิเบตก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีรูปองค์ดาไลลามะที่ 14 ไว้ในครอบครองได้ ใครที่มีรูปของพระองค์ต้องเก็บไว้ให้มิดชิด อีกทั้งจำนวนพระนักบวชผู้เป็นส่วนประกอบสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมก็ลดลงอย่างมาก ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานการคุกคามและการแทรกแซงจากรัฐบาลจีนอย่างโจ่งแจ้งก็ตามที
วัดเซราคือตัวอย่าง จากที่เคยมีพระจำวัดกว่า 5,000 รูป ปัจจุบัน เหลือเพียงไม่กี่ร้อยรูปเท่านั้น
อิสระจากความโกรธด้วยศรัทราและความรัก
แม้จะถูกครอบงำทางเศรษฐกิจและถูกลิดรอนสิทธิในการแสวงหาความสุขทางจิตวิญญาณสักแค่ไหน นั่นไม่ได้ทำให้ชาวธิเบตอ่อนแอลงแต่อย่างใด พวกเขายังคงมั่นในศรัทธาที่มีต่อพระพุทธองค์ พระโพธิสัตว์ และเพื่อนร่วมโลก ทั้งยังยืนหยัดที่จะไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่นัยน์ตาปรากฏร่องรอยแห่งความบอบช้ำ
ความปรารถนาที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความหมายและความดีงามของพวกเขาไม่เคยจืดจาง ผู้คนที่นั่นยังคงสวดภาวนา หมุนกระบอกมนต์ ให้มนต์ “โอม มะ นี ปัท เม หุม” ปกป้องและคุ้มครองทุกสรรพชีวิต
อิสระมีได้ แม้ไร้อิสระ
แม้ไร้อิสรภาพที่จะปกครองตนเอง แต่ฆราวาสชาวธิเบตกลับไม่ลืมอิสรภาพที่จะศรัทธา ที่จะรักทุกชีวิต พวกเขามีอิสรภาพมากพอที่จะเลือกการไม่เบียดเบียนใคร ไม่นิยมความรุนแรง เป็นอิสระจากความโกรธเคือง นี่เองมิใช่หรือคือ “อิสรภาพที่แท้”
อิสระทางใจนี่แหละที่ยิ่งใหญ่และสำคัญนัก
อิสระมีได้ แม้กายถูกจองจำ
หนังสือของพระอาจารย์ปสันโนชื่อ ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ รวมบทสัมภาษณ์ของท่านจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปอยู่ในคุกและสนทนากับ เจย์ -- จาตุรันต์ ศิริพงษ์ สามวันก่อนที่เขาจะถูกประหารในเรือนจำ ซาน เควนติน เมื่อปี 2542
เจย์ถูกจับในสหรัฐฯ ด้วยข้อหาปล้นฆ่าเจ้าของร้านและผู้ช่วย ชายหนุ่มผู้โชคร้ายสารภาพว่า ตนร่วมปล้นก็จริง แต่ไม่ได้ฆ่าใคร
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเขาไม่ยอมซัดทอดให้ผู้อื่น ศาลจึงมีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต
เจย์ใช้เวลาที่เหลือ 16 ปีสุดท้ายในเรือนจำด้วยการปล่อยวาง และหมดลมหายใจอย่างมีที่พึ่งทางจิตวิญญาณ
ในหนังสือเล่มนี้ พระอาจารย์ปสันโน ได้กล่าวถึงการปฏิบัติของเขาไว้ดังนี้
“ในแปดปีสุดท้ายของชีวิตเป็นช่วงที่การปฏิบัติของเจย์เริ่มปรากฏผลเป็นความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของเขาอย่างชัดเจน เจย์ได้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ และได้เรียนรู้ว่า หากรู้จักปฏิบัติอย่างถูกต้อง การติดคุกก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสียทีเดียว เจย์ยอมรับว่า ถ้าไม่ได้เผชิญความยากลำบากและความทุกข์แสนสาหัสอย่างที่ได้รับระหว่างต้องโทษในเรือนจำ เขาคงไม่อาจพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ถึงระดับนี้”
อิสระมีได้ แม้ถูกจองจำในกาย
หนังสืออีกเล่มที่ชื่อ The Diving Bell & The Butterfly หรือ ชุดประดาน้ำกับผีเสื้อ โดย ฌอง-โดมินิก โบบี้ (เป็นภาพยนตร์แล้ว) แต่งขึ้นหลังจากเป็นอัมพาตทั้งตัว ทำได้อย่างมากก็เพียงกะพริบตาข้างซ้ายเท่านั้น โดยให้ผู้ช่วยอ่านอักษรให้ฟังทีละตัว แล้วเลือกอักษรทีละตัวประกอบจนเป็นคำ ทีละคำๆ เรียงร้อยจนเป็นประโยคกระทั่งจบเล่ม
ฌอง-โดมินิก โบบี้ เปรียบร่ายกายที่เจ็บป่วยเคลือนไหวไม่ได้ของตนดั่งระฆังเหล็กที่นักดำน้ำใช้เพื่อป้องกันความดันน้ำใต้ท้องทะเล และจิตวิญญาณของตัวเองที่อิสระเหมือนผีเสื้อ แม้ต้องถูกจองจำในร่างกายที่นิ่งราวไร้ชีวิต โดยไม่ย่อท้อ
องค์ดาไลลามะที่ 14 ได้อรรถาธิบายในหนังสือ Generous Wisdom หรือ ปัญญาแห่งความเอื้อเฟื้อ ไว้อย่างน่าสนใจ จับใจความได้ว่า คนที่รวยและมีอำนาจนั้น ใช่ว่าจะมีความสุขเสมอไป ในขณะที่คนยากจนบางคนกลับใช้ชีวิตอย่างสงบ มีความสุขกับความพอเพียง
สภาวะจิตของเราทำให้เราเป็นสุขหรือทุกข์ การยึดติด ความโลภ ความโกรธ คือเหตุแห่งทุกข์ที่เราต้องรู้จักละ ตรงกันข้าม เราควรบ่มเพาะและรักษาจิตใจของเราให้เต็มเปี่ยมด้วยความรักความเมตตา อันนำความสงบ ความอิ่มเอิบ และความสุข มาสู่ใจเรา
ถ้าสังเกต เราจะเห็นตัวอย่างเช่นนี้ได้ไม่ยากในสังคม คนร่ำรวยที่ให้ใครไม่เป็น ยิ่งมี... ใจยิ่งจน ยิ่งอยาก... ยิ่งขาดมากขึ้น เขาเหล่านั้นกำลังถูกจองจำด้วยความโลภของตนเอง
ยังมีอีกหลายอย่างที่จองจำคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความยึดมั่นสำคัญในตัวตน
ไม่ว่าจะอยู่ไหนในสถานการณ์ใดก็มีอิสระได้เมื่อเรารู้เท่าทัน
เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติองค์ดาไลลามะที่ 14 ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2550
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ชีวิตรื่นรมย์ ฉบับอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2550
จิตร์ ตัณฑเสถียร
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 05, 2550
Be Free Wherever You Are
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ในฐานะที่ผมเป็งคนจีนที่นับถือพุทธ ผมรับไม่ได้ที่คนจีนอยากจะปกครองธิเบตไห้ได้เพราะต้องการอวดอำนวจตนเองโดยทำไห้ธิเบตเกรียดซังจีนมาก ในการเข้ายึดธิเบตครั่งนั้นทำไห้คนธิเบตเสียชีวิต 1ล้านก็คนในนั้นมีพระด้วย20% แล้ววัดโดนทหารปรดแอกของจีนทำลายไป6000กว่าแห่ง แล้วเป็นแห่งไห้องด์ดาไรลามะที่ 14 ออกจากพระราชวังหนี้ไปหลบภัยที่อีนเดีย
และในตอนนั้นผมก็ไดนเกณฑ์ไห้ไปรบด้วยผมเห็นจีนทำอย่างนี้ผมรับไม่ได้ออกมาจากประทศบ้านมาอยู่ที่เมืองไทย เห็นแล้วผมเกรียดที่จีนทำกับประเทศไม่มีทางสู้ ในตอนนั้นผมทราบว่า ทหารธิเบต มีปืนใหญ่ไม่ถึง 50 กระบอกด้วยซึ้ม ทหารบ่างคนยังแต่งชุดโบราณแล้วใช้ดาบและธนูเป็นอาวุธอยู่เลย ผมจบไว้แค่นี้ก้อนเพราะว่าความโกธรที่ผมมีต่อบ้านเกิดของผมมีมากจนอธิบายไม่ได้ ถวายความเครพแด่ องค์ดาไรลามะที่ 14 อวํ
แสดงความคิดเห็น