วันพุธ, กันยายน 05, 2550

เริ่มต้นจากโลกที่เราไม่คุ้นเคย



สุดสัปดาห์ของต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกเราชาวสื่อสร้างสรรค์ (Happy Media) ได้มีโอกาสเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการกับกระบวนกรหนุ่มใจใสที่พนาศรม แถวศาลายา จังหวัดนครปฐม “ณัฐฬส วังวิญญู” สมาชิกแห่งสถาบันขวัญเมือง จังหวัดเชียงราย บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนโรปะ สหรัฐฯ
ณัฐฬส วังวิญญู ผู้นี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม HOST (Human Oasis Spiritual Transformation) ที่แตกแขนงมาจากสถาบันขวัญเมืองอีกทอดหนึ่งด้วย
การอบรมครั้งนี้เริ่มต้นด้วยลีลาของบัณฑิตหนุ่มที่ชวนพวกเราสนทนาด้วยหัวใจที่เรียกว่า “สุนทรียสนทนา” (dialogue) จากนั้น จึงเริ่มร่ายความกระบวนการทำงานของสมองและการเรียนรู้ของคนเราว่าเป็นอย่างไร
คำแรกที่เราเรียนรู้คือ “โหมด” (MODE) ที่อธิบายถึง “พลังชีวิต” ของเราที่มีความไหลลื่นอยู่ตลอดเวลา หากพูดด้วยภาษาและไวยกรณ์ของวิชาชีวฟิสิกส์จะหมายถึง “การรับรู้” หรือ “การมองโลก” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สภาวะ ได้แก่ สภาวะปรกติ (normal mode) และสภาวะของการปกป้อง (defensive mode)
ณัฐฬส บอกกับเราว่า สภาวะแรก เป็นคุณลักษณะปรกติธรรมดาที่เราๆ ท่านๆ ปรารถนา นั่นคือ มีความปลอดภัย เติบโตและเรียนรู้ไปตามกาลเวลา หากเจ็บปวด ร่างกายและจิตใจก็จะทำการซ่อมแซม ฟื้นพลังด้วยตัวเองตามธรรมชาติ
ขณะที่อีกสภาวะ เซลล์จะทำหน้าที่ในการปกป้องตัวเองอย่างสร้างสรรค์ ไม่กังวลหรือหวงความรู้ เป็นสภาวะของการแบ่งปันข้อมูลตลอดเวลา ยิ่งเราคิดเร็วเท่าไหร่ เร่งรีบเท่าใด เซลล์นี้ก็ยิ่งระแวดระวังเพื่อปกป้องตัวเองเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
นั่นหมายความว่า หากเราคิดและตีความเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเร็วเกินไป สำนึกแห่งการปกป้องที่ว่านี้ก็จะยิ่งรวดเร็วตามไปด้วย ทั้งนี้ อาจเพื่อต้องการเอาตัวรอด ซึ่งหากหวาดระแวงมากเกินไป บางทีก็อาจกลายเป็นอาการคิดมาก เป็นสภาวะแห่งการ “ปกป้องเก๊” ที่ติดแน่นกับกับดักทางความคิดในจินตนาการของตัวเราเอง
กระดานถัดมา เป็นเรื่องของ “สมองสามชั้น” ได้แก่ สมองชั้นในสุด (ฐานกาย) ซึ่งเป็นส่วนของสัญชาตญาณการเอาตัวรอดในสัตว์เลื้อยคลานที่หลงเหลือตกทอดมาสู่มนุษย์เรา คงเป็นเพราะเหตุนี้ “ลิ้น” จึงเป็นประสาทสัมผัสแห่งความสุขที่สุด กระตุ้นให้เราเกิดความอยาก เช่น ความสุขที่ได้ทานอาหาร ลิ้มรสความหวาน ความเอร็ดอร่อย
สมองชั้นนี้ กระบวนกรเล่าว่า แทนตำแหน่งของ “ตัวกู” ที่กำหนดพฤติกรรมเด่นชัดตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบ ของคนเรา ซึ่งเป็นช่วงอายุของการสร้างวินัย เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบพฤติกรรม และทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัยติดตัวเรา
สมองชั้นในสุดยังมีความละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยสังเกตจาก ปกติ หากเราเหนื่อย เราก็จะยิ่งเอาจริงเอาจัง แต่ทว่ากลับคิดอะไรไม่ค่อยออก เพราะอารมณ์ความรู้สึกติดลบ ซ้ำยังควานหาข้ออ้างสารพัดเข้าข้างตัวเองว่าเป็นความจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่างๆ นานา
สมองชั้นต่อมา คือสมองส่วนกลาง (ฐานอารมณ์) ที่เริ่มพัฒนาในช่วงอายุ 7-14 ปี มนุษย์วัยนี้จะเริ่มเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ในมิติของอารมณ์เป็นพิเศษ ณัฐฬสว่า นี่คือคุณสมบัติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยคนเราจะสนใจศิลปะ ความงาม เห็นและเล่าเรื่องเป็นภาษาภาพ รู้จักแยกแยะว่าใครเป็นพวกใคร ทั้งรักชอบและเกลียดชัง นั่นคือ เริ่มมีสำนึกในพวกพ้อง หรือการ “อยู่ร่วม” เริ่มอ่อนไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึก การมีสำนึกเรื่อง “คุณธรรม” ก็อยู่ในสมองชั้นนี้ สัตว์เลี้ยงอย่างเช่น สุนัข และแมว ก็มีความจำจากอารมณ์ความรู้สึกด้วยเช่นกัน
ดังนั้น สิ่งหล่อเลี้ยงสมองซีกนี้คือ ความรัก ความชื่นชม และการให้อภัย หากใครตกอยู่ในสภาวะปกป้องก็จะสร้างวังวนหรือ “ร่องอารมณ์” เชิงลบ เช่น อาการรังเกียจ และความอิจฉาริษยา ซึ่งลึกๆ แล้วก็อยากสัมพันธ์กับผู้คน แต่ไม่กล้า ส่วนสัมผัสที่ทำงานกับสมองส่วนนี้คือ “จมูก” ที่รับรู้กลิ่น และ “หู” ที่ได้ยินเสียง
สมองชั้นสุดท้ายนอกสุด (ฐานความคิด) จะทำงานในเรื่องของ “ความคิด” และ “ตัวรู้” (ซึ่งเป็นคนละตัวกัน) ตัวรู้คือ “ตาที่สาม” ในคติพุทธ-วัชรยานที่คอยสังเกตหรือเฝ้าติดตามความคิดอีกทอดหนึ่ง ตัวรู้จะประมวลผลข้อมูลที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา ในทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่าอยู่บริเวณสมองส่วนหน้าผาก (Pre-frontal) ถ้าหากจิตของเราว้าวุ่น เราก็จะไม่ได้ยินเสียงญาณทัศน์ของเราในส่วนนี้
คำสำคัญของสมองชั้นนอกคือการ “อยู่อย่างมีความหมาย” การรับรู้สัมผัสผ่านสายตาคือจักษุทรรศน์ที่คอยเก็บรายละเอียดและแสดงความคิดเห็น การจับโกหกจึงสังเกตได้ทางสายตา เช่น หากเหลือบมองขึ้นด้านบนซ้ายคือกำลังโกหก มองขึ้นด้านขวาคือการดึงความจำออกมา
สภาวะปรกติ เมื่อร่างกายผ่อนคลาย ได้พักผ่อน ความสุขก็จะสดชื่น ความคิดจะแจ่มใส ปัญญาก็จะปรากฏ บางคน มักมีอารมณ์แจ่มใสเป็นประจำทุกๆ เช้า บางคนจะกลับรู้สึกสบายใจในยามเย็น ต่างกันไป
เราๆ ท่านๆ เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า ในแต่ละวัน ต้องเริ่มต้นด้วยการกระทำอะไร ผมเอง หากไม่ได้ดื่มกาแฟสักถ้วยก่อนเริ่มงาน วันนั้นทั้งวันก็จะอึดอัด หัวสมองไม่แล่น อ้างสารพัดเหตุผล
ณัฐฬสเสริมด้วยว่า การเดินของ กฤษณะ มูรติ วันละครึ่งชั่งโมงเป็นประจำทุกวันของเขา คือตัวอย่างของวินัยมนุษย์ผู้หนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเจตจำนง (will) หรือจิตที่รับรู้ ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล
บทเรียนสุดท้ายสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ว่าด้วย “กระบวนการเรียนรู้” ของคนเราที่ณัฐฬสขยายความเพิ่มเติมว่า อาจเปรียบได้กับรูปตัวยู (U) ที่ขาลงหมายถึง การเริ่มจากภาวะปกติที่เต็มไปด้วยความปลอดภัย ปฏิบัติตนตามความคุ้นเคย ใช้ความรู้เดิมๆ ในการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่มีอะไรใหม่ วิทยากรเรียกลักษณะนี้ว่าเป็นการ download ข้อมูลจากอดีต ภาษาเฉพาะของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์บางกลุ่มอาจเรียกว่า “กินของเก่า”
หากใครปรารถนาที่จะเรียนรู้เพื่อ “การเปลี่ยนแปลง” จำเป็นต้องละทิ้งความคุ้นเคย รวมทั้งความรู้เดิมๆ เพื่อเตรียมเข้าสู่สภาวะของ “ความไม่รู้” จากจังหวะการดำเนินชีวิตที่รวดเร็ว ก็ต้องเริ่มช้าลงๆ ควบคู่ไปกับการ “เปิดใจ” เปิดรับโลกที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เป็นต้น
เมื่อถึงจุดหนึ่ง จุดที่อยู่ ณ ก้นบึ้งของรูปตัวยู อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ความมุ่งมั่นหรือเจตจำนงภายในก็จะปรากฏให้เห็น เราจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงคุณลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการภาวนา ต้องเขย่าหัวใจเราเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระบวนกรหนุ่มเน้นเช่นนั้น
ทำได้ดั่งนี้ หนทางต่อไปคือ “การโอบกอด” รับญาณทัศนะใหม่อย่างพินิจ ซึ่งจะไม่ปรากฏ หากเรายังยึดมั่นถือมั่น ไม่ปล่อยกรอบคิดเก่าๆ ให้เป็นอิสระ ทั้งนี้ ญาณทัศนะดังกล่าวอาจมาในรูปของ “โคตรแบบ” (prototype) ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นวิถีการดำเนินชีวิตใหม่หรือวัฒนธรรม (culture) ในอนาคต
โอกาสหน้า พวกเรากลุ่มสื่อสร้างสรรค์ หรือ Happy Media จะนำบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจตัวเองดีๆ มาแลกเปลี่ยน เล่าสู่กันฟังเช่นนี้อีกนะครับ





ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // 4 กันยายน 2550
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์

ไม่มีความคิดเห็น: