วันพุธ, กันยายน 05, 2550

แอนน์ วรภา “อาชีพไหนก็อาสาได้”



แอนน์ เป็นสาวร่างเล็ก หัวกลม ยิ้มหวาน ร่าเริง ตาเป็นประกาย และมีมนุษย์สัมพันธ์ระดับยอด เธอเป็นสาวนักประชาสัมพันธ์ นักบริหารภาพลักษณ์องค์กรที่เติบโตในสายงานมากว่า 7 ปี งานลักษณะนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ เงินและงานเวียนเข้ามาไม่ให้หยุด จนเธอเปรียบว่าทำงานอย่างกับ “แมลงวัน” (แมลงวันหัวเขียวหรือเปล่า ฮาๆ)

ทว่าความกระตือรือร้นกลับเปล่งประกายแห่งความสุขมากขึ้น เมื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครสื่อมวลชนสัมพันธ์ให้กับงานภาวนา “สู่ศานติสมานฉันท์” การมาถึงของ ท่านติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัมซึ่งมาเยือนไทยช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันเธอเป็นนักประชาสัมพันธ์อิสระ ทำงานให้กับโครงการ GNH และ การแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

ชีวิตคนทำงานอิสระ เธอบอกว่าทำให้เธออิสระจาก “เงินตรา การโกหก และงานที่รัดตัว”

สิ่งที่เธอได้ คือ “เวลา ความสุข และมิตรภาพ”

ลองมาฟังเสียงคุณค่าของคนๆ หนึ่งเสียหน่อยเป็นไร อาสาสมัครผู้สร้างสัมพันธภาพ แอนน์ วรภา เตชะสุริยวรกุล

เส้นทางของเด็กไฮเปอร์

พี่แอนน์เป็นสาวตัวเล็กแต่ไฮเปอร์ยิ่ง เสียงเล็กๆ ของเธอเล่ารัวยาว ตั้งแต่ครั้งเธอเป็นเด็ก เธอชอบการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ชื่อ “ตากล้องที่รัก” เป็นเรื่องราวของเด็ก ชื่อ “มิยะ” ที่ชอบถ่ายภาพและได้ทำงานนบริษัทโฆษณา มักได้คิด สร้างสรรค์และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เสมอ จนสุดท้ายที่งานโฆษณาที่ออกมาได้กลายเป็นสิ่งภาคภูมิใจ อีกทั้งมีน้าชายที่ทำงานบริษัทโฆษณา ทำให้เธอบอกกับตัวเองว่า “นี่แหละอาชีพของฉัน” เล่าย้อนจากวันนั้นถึงวันนี้ พี่แอนน์ยังแอบขำในความแบ๊วบ๊องของตัวเอง

“ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นที่เห็นผลงานของสมาชิกในครอบครัวได้ออกทีวี เห็นทีไรมีเรื่องหัวเราะกันตลอด”

พอเริ่มเรียนชั้นประถมตอนปลาย ได้อ่านหนังสือของกลุ่มดินสอสี รู้สึกชอบ จึงเข้าไปหาพี่ๆ พร้อมหิ้วน้องชายตัวน้อยไปด้วย กลายเป็นน้องเล็กของสำนักงาน นอกจากกลุ่มดินสอสี เธอพบพี่ๆ กลุ่มเบญจรงค์ ซึ่งทำสื่อวาดการ์ตูน “ตาวิเศษ” กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจวัยเด็กเกี่ยวกับงานสื่อสารมวลชน

พอจบมัธยมปลาย เธอกลับสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะผิด เนื่องจากเข้าใจว่า คณะศิลปศาสตร์ เรียนเหมือน คณะนิเทศศาสตร์ ขึ้นปีที่สองเธอจึงตัดสินใจย่องไปเรียนคณะนิเทศศาสตร์ในฝัน แอบเรียนไปๆ มาๆจนอาจารย์ประจำวิชาจับได้และถูกเชิญออกจากห้อง แต่จนแล้วจนรอด ไฟในตัวก็ไม่เคยมอด ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเธอทำกิจกรรมสารพัด อีกทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์อาสาให้กลุ่มเบญจรงค์ ทำงานสัมภาษณ์ให้นิตยสาร “บ้านเด็ก” ได้เรียนรู้จากการสัมภาษณ์มากมาย จนหนังสือปิดตัวไปนะแหละเธอจึงหยุด

เมื่ออยู่ปี 3 เพื่อนคนอื่นยังไม่ทันได้ฝึกงาน พี่แอนน์กลับไปอ้อนวอนขอเข้าฝึกงานกับบริษัทโฆษณา JWT พร้อมเรียนรู้งานทุกอย่าง ทุกฝ่าย ทุกรูปแบบ โดยไม่มีเกี่ยงงอน แต่นานวันเข้า เธอก็พบว่าชีวิตนักโฆษณาซึ่งเต็มไปด้วยแฟชั่น ของหรู และความโก๋เก๋ ไม่ใช่แนวเลยสิให้ตาย

“รู้นิสัยตัวเองว่าชอบลุยงาน มอมแมม คงไม่เหมาะใช้ชีวิตแบบสาวสวย ตอนนี้รู้ตัวแล้วว่าชอบงานสื่อสารมวลชนแล้วล่ะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร ถ้าไม่ใช่งานโฆษณา”

เมื่อเรียนจบ เธอกรอกใบสมัครกับ บริษัทตรีเพชรอีซูซุ และเริ่มทำงานนักประชาสัมพันธ์ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้เธอสนุกและรักงานนี้อย่างมาก แม้ว่าจะเปลี่ยนหมุนเวียนงานไปหลายที่ก็ตามที

จุดเริ่มอยู่ที่ครอบครัว

ทว่าในทุกๆ วันที่ทำงานอย่างสนุกสนาน พี่แอนน์กลับพบว่านับวันยิ่งห่างเหินครอบครัว วันหนึ่งขณะหยุดพักอยู่บ้าน นั่งมองหน้าพ่อและแม่ เธอสะกิดในใจว่า “ทำไมพ่อแม่ถึงได้แก่อย่างนี้??”

แรงคิดนี้เองทำให้เธอตระหนักได้ว่า ชีวิตมันสั้นจริงๆ

“มัวแต่กลุ้มใจเรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน ปัญหาร้อยแปด แต่เราไม่เคยหยุดทำงานและใช้เวลาร่วมกับคนในบ้านเลย”

เธอจึงตัดสินใจลาออก หยุดทำงานแบบแมลงวันวิ่งไปนู้นมานี่อย่างไม่รู้ทิศทาง ออกมาช่วยรุ่นพี่ที่ตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ แต่ก็ยังเจอนายจ้างที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อลูกจ้าง ต่อลูกค้า จนไม่สามารถยอมรับได้

“เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางเราแล้ว แม้ว่าจะเห็นว่ามีเงิน เราก็ไม่สนใจแล้ว นาทีนี้ เรารู้สึกอึดอัด เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราภาคภูมิใจมาที่สุดช่วงไหนในชีวิต มีความสุขกับการทำงานแบบไหน รู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเวลาทำงานอะไร เราไม่อยากเปลืองตัว เสียเครดิตและเครือข่ายด้านบวกที่เราได้รับความเมตตาที่ผ่านมา วิชาชีพที่เราได้เรียนรู้จากอาจารย์ คนรอบข้างที่เอื้อเฟื้อเรา กลับถูกเราเอามาใช้ประโยชน์แบบเห็นแก่ได้”

ตั้งแต่นั้น เธอก็พยายามหาเลี้ยงชีพอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น เลือกงานที่เป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น แม้จะมีรายได้น้อยลง แต่ก็มีความสุขมากกว่าเดิม

“อันนี้เงินเป็นล้านก็ซื้อไม่ได้นะ เศรษฐีเขาอาจซื้อนาฬิการาคาหลายล้านบาท ถูกชื่นชม มีความสุข มีคนอิจฉา แต่เขาก็ซื้อเวลาไม่ได้ และโชคดีด้วยที่พี่ไม่มีภาระทางบ้านอะไรมาก เลยสามารถทำได้” พี่แอนน์เล่ายิ้ม

ด้วยความที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ เธอจึงมีเพื่อนมากมาย หนึ่งในเพื่อนของเธอนั้นอยู่ในกลุ่ม Happy Media ซึ่งกำลังหาคนช่วยงานประชาสัมพันธ์งานภาวนาหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ จึงทำให้เธอพบเจอที่ทางการทำดี

“พี่บอกว่าแต่แรกเลยว่า พี่ไม่รู้เรื่องอะไรของหลวงปู่เลยนะ พี่เคยได้ยินชื่ออย่างเดียว แต่พี่อยากช่วย เพราะเป็นสิ่งที่ดี และอยู่ในวัยที่สนใจเรื่องปฏิบัติธรรมด้วย ส่วนเรื่องค่าตอบแทน พี่ที่ดูแลบอกตั้งแต่แรกเลย ไม่มีงบให้นะ พี่โอเค ยินดีทำ”

พี่แอนน์บอกว่าเมื่อทำงานนี้ เธอมีความสุข ได้ทำงานที่รัก ได้ช่วยสื่อสารสิ่งที่ดีงาม ได้เรียนรู้ธรรมะ อีกทั้งยังได้พาเพื่อนสื่อมวลชนมาสัมผัสประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน

สิ่งที่เธอได้คือ “เวลา ความสุขและมิตรภาพ” ซึ่งมากมายเกินพอความคาดหวังใดๆ


อาชีพไหนก็อาสาได้

ทุกวันนี้ความสุขของพี่แอนน์ คือ การทำงานที่สามารถช่วยคนอื่น ช่วยทีมงาน ช่วยเลี้ยงดูพ่อแม่ ให้มีกินมีใช้ มีของอร่อยกินบ้าง มีของใช้ตามอัตภาพ มีความสุขกับการใช้เวลาร่วมกัน

สำหรับคนที่อยากนำความสามารถของตัวเองออกมาช่วยเหลือผู้อื่นบ้างอย่างพี่แอนน์ เธอแนะนำว่า


อันดับแรก คือ รู้ตัวเองก่อนว่าความถนัดและความสามารถอะไร, สอง คือ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เรามีความสุขใจ เมื่อทำงานอะไร ภาคภูมิใจกับงานชิ้นไหน และคำตอบนี้จะช่วยบอกเราเองว่า เราจะเอาอาชีพของเรามาสร้างสรรค์อะไรต่อไป ซึ่งไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องออกจากงานเพื่อมาทำงานอาสา ในเมื่อการอาสาสามารถทำได้ตลอดเวลา ในที่ทำงาน ในครอบครัวของเราเอง

“ถ้าเราทำงานดี ขยันขันแข็ง ช่วยงานพี่ๆ น้องๆ ในที่ทำงาน สร้างสรรค์งานที่ดีในขอบเขตความรับผิดชอบของเรา บรรยากาศการทำงานที่ดี ก็ช่วยสังคมได้ คนทำงานร่วมกันก็จะมีความสุข ถ้าสนิทกันมากๆ มีอะไรปัญหาที่บ้านมาแชร์กัน เราช่วยสังคมกลุ่มย่อยตลอด แบบนี้พี่ตีว่าแบบนี้เราได้ทำงานอาสาแล้วนะ พี่ว่าเราอาสากันได้ตลอดเวลา อาชีพไหนก็อาสาได้ แถมยังทำงานเต็มเวลามากกว่าฟรีแลนซ์อย่างพี่เสียอีก”

หากมีเวลาเหลือ นัดกันไปทำบุญ สร้างบ้าน เลี้ยงน้อง อ่านหนังสือ ฯลฯ ก็ได้ หรือเห็นงานที่องค์กรเพื่อสังคมที่ไหนมี และสิ่งที่เรามีอยู่ช่วยงานได้ก็เข้าไปเลย แต่ต้องบอกก่อนว่าเราเข้าไปทำงานอาสา อย่าลืมงานที่เราต้องดูแลตัวเราเองด้วย ถ้าลาออกไปทำงานอาสาแล้วอยู่ไม่ได้ เบียดเบียนคนที่บ้าน อันนี้พี่ว่าอาสาช่วยคนอื่นจนลืมช่วยตัวเอง แต่ถ้าคุณพร้อมที่จะทุ่มเท มาเลยลงเต็มตัว คุณไม่ลำบากครอบครัวสบาย ที่เหลือมาช่วยสังคมกัน”

ถึงตรงนี้ หากแม้คุณเป็นนักบัญชี แม่บ้าน หรือ อาชีพใดก็ตามในสากลโลกใบนี้ โปรดรู้ งานอาสาอยู่ตรงหน้าคุณแล้ว ทุกลมหายใจจริงเชียว ขอให้คุณสัมผัสมัน

พรรัตน์ วชิราชัย
เครือข่ายจิตอาสา
Website : http://www.volunteerspirit.org
Email : volunteersipirit@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: