วันพฤหัสบดี, กันยายน 27, 2550

ชีวิตที่ ‘มีชีวิต’ อีกครั้ง *


ท้องฟ้าที่เคยมืดมิด
พลันสว่างสดใสขึ้นทันตา
เมื่อลมหายใจฉันกลับคืนมา
ปาฏิหารย์เกินฝันกลายเป็นจริง
= = = = = = = = =
ฉัน...ผู้ซึ่งความตายอยู่ชิดใกล้
บัดนี้ ได้รับชีวิตใหม่อีกครั้ง
พร้อมลมหายใจที่ยังดำรงอยู่
สู่ชีวิตที่ดำเนินต่ออย่างแท้จริง
= = = = = = = = =
มองดูฉัน มองดูฉันสิ
คนที่ยืนหยัดอย่างมั่นคง
คนที่ก้าวเดินอย่างมั่นใจ
สง่างามดุจอินทรีกลางเวหา
นำพาชีวิตตัวเองสู่ความปรีดา
สู่สายธาราความสุขของผู้คน


สิ่งที่ฉันอยากแบ่งปันในวันนี้คือ บทเพลงสะท้อนความรู้สึกและประสบการณ์ของคนอีกกลุ่มที่ไม่เคยได้รับความสนใจและความเข้าใจอย่างแท้จริง แต่คุณรู้ไหม บางครั้งชีวิตของพวกเขาเข้มแข็ง สง่างามและมีคุณค่ามากกว่าพวกเราหลายคนเสียอีก ขอแนะนำให้รู้จัก “ผู้เปลี่ยนอวัยวะ” ด้วยความยินดียิ่ง
ผู้เปลี่ยนอวัยวะคนแรกที่ฉันรู้จักคือ แด๊ด เพื่อนรักที่มิตรภาพของเรายาวนานกว่า 15 ปีแต่เขาเพิ่งมาเป็นผู้เปลี่ยนอวัยวะประมาณ 8 ปีที่แล้ว เริ่มจากอาการปวดหัวรุนแรง ความดันสูง กลายเป็นโรคไตวายโดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน หลังจากที่รับรู้อาการป่วย เรื่องที่เราสองคนคุยกันส่วนใหญ่คืออาการของผู้ท้อแท้ในชีวิต
ฉันได้ยินแต่เรื่องที่แด๊ดเล่าถึงการใช้ชีวิตอย่างทรมาน เบื่อหน่าย และท้อแท้ ตารางประจำวันเป็นเพียงการนั่งดูนาฬิกา ทำงานไม่ได้ เพราะต้องฟอกเลือดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ออกจากบ้านแต่เช้า เดินทางด้วยรถเมล์คนเดียวไปนั่งฟอกเลือดหนึ่งวันเต็มๆ และเฝ้าคอยรถเมล์ว่างๆ เพื่อจะได้นั่งกลับบ้านหลังจากอ่อนเพลียจากการบำบัด
สำหรับแด๊ด เงินทุกบาทหมายถึงค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดรักษาลมหายใจ วันไหนโชคดีมีเงินมากหน่อยถึงนั่งแท็กซี่ได้ ฉันทำได้เพียงพูดปลอบใจ นานวันเข้า ฉันก็ทอดทิ้งเพื่อนที่กลายเป็นผู้ป่วยทั้งกายที่ทรุดโทรมและใจที่เจ็บปวด บางครั้งฉันอดนึกไม่ได้ว่า โรคร้ายนี้ทำให้คนที่ฉันรักกลายเป็นคนอ่อนแอที่สุดและฉันก็กลายเป็นคนใจร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อต้องเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำให้เราค่อยๆ ห่างกันไป
สองปีต่อมา ฉันย้อนกลับมาหาแด๊ดอีกครั้ง เมื่อรู้ข่าวว่าแด๊ดกำลังผ่าตัดเปลี่ยนไตที่น้องชายเสียสละให้ ครั้งนี้ ฉันได้เห็นแววตาแห่งความหวังของเพื่อนรักกลับมาอีกครั้งก่อนเข้าห้องผ่าตัด และเมื่อฟื้นจากการผ่าตัดไม่นาน ฉันได้เห็นอาการช๊อคและดิ้นอย่างทุรนทุราย พร้อมเสียงร้องโหยหวนของเขา
ฉันไม่รู้ว่าแด๊ดได้มอร์ฟีนไปเท่าไหร่เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ฉันรู้เพียงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันร้องไห้ด้วยเห็นปฏิกิริยาทรมานทุรนทุรายของร่างกายที่ต่อต้านไตใหม่
ผู้เปลี่ยนอวัยวะจำเป็นต้องทานยาเพื่อกดภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ร่างกายตนปฏิเสธอวัยวะใหม่นั้น และพวกเขาต้องมีวินัยในการทานยาทุกวันตลอดไป
ตั้งแต่วันนั้น ทุกครั้งที่เราพบกัน ฉันเลี่ยงที่จะไม่ถามที่มาที่ไปของไตใหม่ของเขา ฉันกลัวว่าเพื่อนอาจจะอายหรืออาจเข้าใจผิดคิดว่าฉันรังเกียจ ทั้งๆ ที่ยังมีคำถามคาใจฉันมาตลอดว่า ทำไมต้องรอนานถึงสองปีเต็มกว่าที่น้องชายของเขาจะตัดสินใจสละไตข้างหนึ่งให้เขา เพราะชีวิตอาจจบลงก่อนที่เขาจะได้ผ่าตัดเปลี่ยนไตด้วยซ้ำ
เมื่อความกล้าและโอกาสถามมาถึง คำตอบจากเพื่อนรักคนนี้ก็คือ เพราะตอนนั้น ไม่มีใครในครอบครัวเข้าใจเรื่องการรักษาโรคไตวาย ไม่มั่นใจในวิธีการรักษาด้วยการเปลี่ยนอวัยวะ เขาเล่าว่ามีคนใกล้ชิดเสนอตัวจะบริจาคไตให้เมื่อรู้ข่าว แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธ ไม่ยอมแม้แต่จะตรวจเนื้อเยื่อว่าตรงกัน สามารถให้อวัยวะแก่กันได้หรือไม่
“เรากลัวว่า ถ้าเราเอาไตเขามา เราอาจหายป่วย แต่คนที่ให้จะมีร่างกายไม่สมบูรณ์ไปตลอด เราไม่อยากรบกวนชีวิตใครขนาดนั้น” ถ้อยคำของแด๊ดอาจเป็นคำตอบเดียวกับของผู้ป่วยโรคไตอีกหลายคน
หลังจากที่แด๊ดได้ไตจากน้องชาย เขาไม่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดอีกแล้ว และทุกวันนี้ เขามีร่างกายแข็งแรง ทำงานอยู่เบื้องหลังรายการโทรทัศน์อย่างที่ตัวเองใฝ่ฝัน ได้แต่งงาน มีครอบครัวที่อบอุ่นและลูกสาวที่น่ารัก ส่วนน้องชายก็มีสุขภาพดีและทำงานออกแบบในบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพี่น้องคู่นี้มีไตคนละข้าง ใครจะรู้ว่า ถ้าไม่มีไตของน้องชาย ชีวิตของแด๊ดวันนี้จะเป็นอย่างไร
แล้วชีวิตของผู้ป่วยคนอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องใช้วิธีรักษาด้วยการเปลี่ยนอวัยวะล่ะ
พวกเราทุกคนรู้ดีว่า วิธีรักษาโรคแตกต่างกันไปตามอาการ วงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ต่างค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ขึ้นเรื่อยๆ โรคที่ร้ายแรงหลายโรค เราป้องกันได้ด้วยวัคซีน โรคบางอย่าง ร่างกายของเรารักษาได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง บางอาการต้องทานยา ทายา ฉีดหรือฉายรังสี ส่วนโรคภัยที่รุนแรงอาจต้องตัดบางอวัยวะทิ้งเพื่อรักษาชีวิตที่เหลือ
คนไข้บางรายที่อวัยวะในร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำงานผิดปรกติอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด เราจะละเลยและบอกว่าพวกเขาโชคร้ายหรือ หากการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนอวัยวะคือคำตอบเดียวของพวกเขา
เมื่อฉันมีโอกาสร่วมงานในการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกที่ผ่านมา ฉันจึงรู้จักชีวิตของคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่นรู้ว่าโรคร้ายที่รักษาได้ด้วยการเปลี่ยนอวัยวะคือ โรคที่เกี่ยวข้องกับเยื่อแก้วตาทั้งสองข้าง ตับ หัวใจ ปอด ไต และไขกระดูก ซึ่งสองอย่างหลัง สามารถรับได้จากผู้ให้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จากญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เนื้อเยื่ออาจตรงกันมากที่สุด
ส่วนที่เหลือ ผู้ป่วยต้องลงชื่อรอรับบริจาคอวัยวะที่สภากาชาดไทย รอรับจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตอย่างกระทันหัน หรือจากเด็กและวัยรุ่นที่ประสบอุบัติเหตุจนสมองตายและผู้ปกครองยินดีบริจาคให้ ซึ่งแพทย์จะนำมาเปลี่ยนให้ผู้ป่วยในบัญชีที่มีเนื้อเยื่อตรงกันและร่างกายที่พร้อมรับโดยเร็วที่สุด
ด้วยขั้นตอนและเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรอนานแรมปี บางราย ร่างกายทนรอไม่ไหว เสียชีวิตไปก่อนก็มี เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้ มักไม่มีใครอยากพูดถึงหรือได้รับการเล่าขานในพื้นที่สาธารณะ หากเปรียบอวัยวะใหม่เป็นดั่งโอสถ ไตของน้องชายแด๊ดที่สละให้พี่ชาย คือยาขนานเดียวที่ใช้รักษาอีกชีวิตที่ต่อให้โลกแห่งเทคโนโลยีก้าวล้ำแค่ไหนก็ไม่อาจสร้างขึ้นแทนกันได้
“การให้” อวัยวะเท่านั้นคือคุณค่าอันยิ่งใหญ่สำหรับชีวิต
ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจเป็นสุข และเห็นคุณค่าที่งดงามของ “การให้” และ “การมีชีวิต”

* แปลจากเนื้อร้องภาษาอังกฤษโดยป้าเกรน เศรษฐพันธ์ ฝรั่งใจงาม เพื่อใช้ในระหว่างการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลก 2550 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่วนคำร้องและทำนอง แต่งโดยศิลปินชั้นเยี่ยมนาม ว.วัชญาน์ หรือพี่บ่วย หนึ่งในนักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะทีมชาติไทยที่ฉันเคารพรักในน้ำใจ
สนใจรับข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ กรุณาติดต่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
โทร.1666 หรือ สมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทย โทร.0–2411–3776


ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // 25 กันยายน 2550
วรภา เตชะสุริยวรกุล
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

http://acheter-cialis-pascher.net/ cialis http://prezzocialisgenerico.net/ cialis http://comprarcialissinreceta.net/ cialis