และ – ข้าพเจ้าตอบโดยความคุ้นชิน – “ฉลอง”
เมื่อถามกลับ – “แล้วพี่ล่ะ?”
“พี่อยากปลีกวิเวก อยู่นิ่งๆ และทบทวนตัวเองในปีที่ผ่านมา”
เป็นครั้งแรกที่ปีใหม่เริ่มมีความหมายต่อข้าพเจ้ามากกว่าการสนุกเริงใจไปกับการฉลอง
ข้าพเจ้าเริ่มตั้งคำถาม - คนเราประเมินตัวเองอย่างไรได้บ้าง? และมักจะแลกเปลี่ยนสนทนากับมิตรรอบข้างในช่วงปีใหม่ด้วยคำถามข้างต้น โดยถือว่าการให้เวลาเพื่อตอบคำถามดังกล่าว คือ “ของขวัญปีใหม่” สำหรับตัวเองในแต่ละปี
ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินคำตอบในรูปแบบของคำถามที่น่าสนใจ “เรากล่าวคำขอโทษหรือขอบคุณกันกี่ครั้งในปีที่ผ่านมา?”
คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ “คนที่เรากล่าวคำขอโทษหรือขอบคุณด้วยนั้น มีฐานะสูงหรือต่ำกว่าเรา อายุมากหรือน้อยกว่าเรา?”
เพียงเท่านี้ เราก็ได้รับวิธีการประเมินตนเองอย่างง่ายๆ ผ่านถ้อยคำสำคัญสองคำ นั่นคือ “ขอโทษ” และ “ขอบคุณ”
- ๒ -
“ความสำเร็จในปีที่ผ่านมาคืออะไร?” – ข้าพเจ้าบ่นในใจท่ามกลางความเงียบช่วงรอยต่อระหว่างปี
ทุกวันนี้ สังคมมักจะประเมินคนจากภาพที่เห็น จาก “รูปแบบ” ชีวิตเท่าที่เห็น วัดความสำเร็จของชีวิตคนเพียงแค่ภายนอก อาจเริ่มตั้งแต่วุฒิการศึกษา หน้าที่การงาน ตำแหน่งบนนามบัตร แบรนด์พาหนะ เครื่องประดับกายและเสื้อผ้าที่สวมใส่ เรื่อยไปถึงทำเลบ้านพักอาศัย ฐานะการเงินที่มั่งคั่งและมั่นคง โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ตัวชี้วัด” มาตรฐานความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากเป็นสิ่งที่วัดค่าได้ มองเห็นได้ สัมผัสจับต้องได้
อารมณ์ความประทับใจในวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของใครสักคน หรือความรู้สึกอยากชื่นชมผู้มีน้ำใจสักราย เริ่มพร่องหายในความนึกคิดของเรา กระทั่งบางครั้งก็พลั้งเผลอคิดเห็นและพูดจาตามประสา ไม่ต่างไปจากรูปแบบชีวิตที่ว่ามา
หลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” (Charles Darwin) ได้รับการตีความจากนักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองสัญชาติเดียวกันอีกท่าน “เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์” (Herbert Spencer) ว่าเป็นเรื่องของผู้ที่ “เหมาะสมที่สุด” เท่านั้นที่สมควรมีชีวิตรอด (Survival of the Fittest)
แนวคิดดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างมากนับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 และหลายครั้งคำว่า “เหมาะสมที่สุด” ได้รับการตีความว่ามีนัยยะหรือเป็นสิ่งเดียวกันกับ “แข็งแรงที่สุด” หรือ “เก่งที่สุด” ซึ่งเป็นที่มาของโลกทัศน์ที่มนุษย์ต้องชิงชัย ห้ำหั่น แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเป็น “หมายเลขหนึ่ง”
ในวัยเด็ก แววตาทุกคู่เริ่มต้นจับจ้องไปที่รางวัลของ “ที่หนึ่ง” โตขึ้น เริ่มประชันสู่ตำแหน่งผู้นำหนึ่งเดียว บางรายยอมทำทุกวิถีทางเพื่อมุ่งไปสู่หัวขบวน หากใครขัดขวาง ทัดทาน วิพากษ์วิจารณ์ อาจเจ็บตัว ผู้เข้าแข่งขันบนถนนสายนี้ มักเพิกเฉยต่อชะตากรรมของผู้อื่น เมินความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสรรพสิ่งรอบตัว
พลันพิจารณาเฉพาะ “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” เรากลับรู้สึกดีกับผู้มีนิสัยใจคอเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณาต่อผู้อื่น ต่อบุคคลทั่วไป มากกว่าคนกล้ามใหญ่วางโต อารมณ์กราดเกรี้ยว ฉุนเฉียว ไม่ไว้หน้าใคร ด้วยเหตุนี้เอง คำว่า “เหมาะสมที่สุด” จึงไม่เท่ากับ “แข็งแรงที่สุด” ไม่ได้มีความหมายว่า “เก่งที่สุด” แต่ประการใด หากน่าจะหมายถึงผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง เปิดรับความแตกต่าง เอื้ออารีต่อผู้คนและสรรพสิ่ง เอาใจใส่และไม่ดูเบาต่อความรู้สึกคน
- ๓ -
“ชีวิตตนเองในปีที่ผ่านมา เป็นอย่างไร?” – คำถามสุดท้ายของปีใหม่นี้ ดังกึกก้องภายในหัว
หนังสือจิตวิทยาที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดหลายเล่ม เมื่อข้าพเจ้าอ่านแล้ว แทนที่จะทำความเข้าใจตนเอง กลับไผลไปเพ่งพินิจที่คนอื่น
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันน่าจะเป็นต้นเหตุประการหนึ่ง
คุณครูมักสอนนักเรียนให้เปิดหูเปิดตา เรียนรู้โลกผ่านหนังสือ การออกไปทัศนศึกษา และสื่อการสอนทันสมัย จนมองเลยข้ามออกไปไกลพ้นจากตัวตน ไม่มีที่ว่างให้กับการมองและเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณภายใน
อันที่จริง การเปิดโลกทัศน์สู่ภายนอกอาจทำให้เรารู้จักโลกสีฟ้าใบนี้มากขึ้น เห็นพื้นผิวบนดวงจันทร์ผ่านภาพบนหน้าจอโทรทัศน์ ไม่ก็บนจอคอมพิวเตอร์ในห้องทำงาน
เราอาจท่องจำชีวิตสัตว์โลกใต้ท้องทะเลได้พอใช้ เริ่มเห็นโลกของไวรัสผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เริ่มคุ้นเคยกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทุกวี่วัน อาจสนใจหุ่นสวยและความสูงของดาราภาพยนตร์บ้างเป็นความบันเทิง
ทั้งหมดนี้ ดูเหมือนเราจะรู้จักโลกมากขึ้นตามลำดับ ทว่าเรากลับไม่รู้จักตนเองมากขึ้นตามไปด้วยแต่อย่างใด
ช่วงปีที่ผ่านมา เราอาจใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบเร่งรัดเป็นปกติวิสัย ไม่เป็นไร ยังไม่สาย หากวันนี้ เรายังพอแบ่งเวลาเป็นของขวัญแก่ตัวเอง คิดทบทวน ใคร่ครวญ หรือตั้งคำถามดีๆ กับตนเอง เป็นต้นว่า เรายังยินดีกับเส้นทางเดิม บนเป้าหมายเดิมๆ อยู่หรือไม่
ถามตนเองเกี่ยวกับเป้าหมายของชีวิตว่าเป็นสิ่งเดียวกับความสุขหรือไม่
ความสุขของเราหมายรวมถึงความสุขของผู้อื่นมากน้อยเพียงใด ถามตนเองถึงความผิดพลาดที่เคยเอารัดเอาเปรียบ ข่มเหง เบียดเบียนผู้อื่น
สิ่งที่สำคัญกว่าการตอบคำถามเหล่านี้ก็คือ การได้พยายามรวบรวมพลังจากหัวและใจ และตั้งคำถามดีๆ ให้แก่ตนเอง
หากเราซื่อสัตย์และเป็นกัลยาณมิตรกับตนเองโดยแท้ เราย่อมตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก
ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์-แฮปปี้มีเดีย
1 ความคิดเห็น:
หวัดดีพรรคพวก
เขียนถึงทั้งจ๋าและอุ๊พร้อมกันละกัน
แฮปปี้นิวเยียร์ ช้ามากไปไหมนี่
ขอให้ happy media มีความสุขสำราญแบบแพร่กระจาย ปีใหม่นี้มาทำอะไรตามฝันกันเถอะ
harmony of life
แสดงความคิดเห็น