วันจันทร์, สิงหาคม 25, 2551

ผิดเพื่อรู้ อยู่เพื่อเยียวยา


ภาพและเรื่องโดย กรรณจริยา สุขรุ่ง

ได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งและรู้ว่าเพื่อนกำลังมีความทุกข์ เรารู้สึกเป็นทุกข์เช่นกัน และอยากจะเรียนรู้จากทุกข์นี้ด้วยว่าเราจะมีทางออกหรือเยียวยามันได้อย่างไร

ความทุกข์ที่ว่านั้นคือ ความรู้สึกผิด แน่ใจว่าคงมีหลายคนที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตคงรู้สึกผิด ได้ทำความผิด พลาด พลั้ง เผลอกับใครหรือในเรื่องบางเรื่อง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง

เราเลยลองค้นคว้าว่าในมุมมองของพุทธศาสนาและการปฏิบัติ พูดถึงเรื่องนี้อย่างไร ที่จะเขียนนี้ไม่ได้มาจากตัวเองนะ จำเขามาบอกต่ออีกที

ความรู้สึกผิดเป็นความรู้สึก ความคิดในแง่ลบ และที่สำคัญในทางพุทธศาสนามันมีรากมาจากความสำคัญมั่นหมายว่า มีเรา มีเขา คืออัตตานั่นเอง ความรู้สึกผิดยึดมั่นเอาตัวเราเป็นผู้กระทำการบางอย่างที่เราเห็นว่าผิด พลาดไป และเราก็รู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง ขาดความมั่นใจ ถึงขั้นเกลียดชังตัวเองได้เลยในบางกรณี

การรับรู้ ตระหนักรู้ว่าเรากำลังรู้สึกผิดนั้น ถือเป็นต้นทางได้เหมือนกัน แต่ต้องเป็นการรับรู้แบบรับทราบ สังเกต อย่าได้จมแช่อยู่ในความรู้สึกนั้น เพราะมันไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการเรียนรู้ หมายความว่า มนุษย์ย่อมทำพลาดกันได้ สิ่งสำคัญคือความสามารถที่จะเรียนรู้ แก้ไขและยกระดับจิตใจ ความรู้สึกผิดนั้นถือได้ว่าเป็นประตูที่เปิดช่องให้เราเห็นทางที่จะเรียนรู้และแก้ไขตัวเอง

พุทธศาสนายกย่องการรู้สึกสำนึกผิดอย่างจริงใจ จริงแท้ ดังมีตัวอย่างคลาสสิก เช่น องคุลีมาลเป็นต้น
ขอให้ตั้งใจขออภัยกับผู้ที่เรากระทำความผิดหรือพลาดไปจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ขอให้นึกขออภัยอย่างจริงจัง และลึกซึ้ง จะต่อหน้าก็ได้หรือทำในใจก็ได้ ทำได้ตลอดกาลแม้ผู้นั้นจะไม่อยู่หรืออยู่ไกลก็ได้ การขอขมาไม่มีกาละและเทศะ ทำได้ทุกครั้งที่รู้สึก เมื่อทำเช่นนี้จะทำให้การสำนึกผิดและการขอโทษมีความหมายอย่างมากในระดับจิต ทั้งจากผู้ที่ขอโทษและผู้ที่เราส่งใจไปขอโทษ

ที่สำคัญในการขอโทษนั้นคือ ความตั้งใจอธิษฐานที่จะตั้งต้นใหม่ในการแก้ความผิดนั้น จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำ แก้ไขใหม่ในทางใดทางหนึ่ง

หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ เคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งมีชายสูงวัยกลางคนคนหนึ่งมาร่วมการภาวนา เขาร้องไห้ รู้สึกผิดที่เคยเอาระเบิดไปใส่ในอาหารและทำให้เด็กที่ไม่รู้เรื่องกินเข้าไปและเสียชีวิต เขาทนทุกข์กับเรื่องนี้อยู่ตลอดชีวิตของเขา ไม่อาจลืมหรือให้อภัยตัวเองได้เลย

หลวงปู่บอกว่าเด็กเหล่านั้นได้ตายไปแล้ว แต่เขายังมีโอกาสช่วยชีวิตเด็กอีกตั้งมากมายในโลกที่กำลังลำบาก อดตาย ถูกทำร้าย ทำไมไม่เอาพลังชีวิต ความคิด และจิตใจไปช่วยเหลือเด็กที่ยังมีชีวิตอยู่และรอคอยความช่วยเหลือ

ชายคนนั้นได้คิดและคิดได้ เขาเริ่มตั้งต้นใหม่ ช่วยเหลือเด็กมากมาย นี่คือวิธีการที่ประเสริฐในการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป

เราไม่สามารถย้อนเวลาเพื่อแก้ไขอดีต และเราไม่อาจล่วงรู้อนาคตล่วงหน้าเพื่อที่จะป้องกันสิ่งที่เราไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่สุด คงเป็น การดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท และหากพลั้งพลาดไปแล้ว ขอเพื่อนจงรีบลุกขึ้นมาแปรเปลี่ยนความทุกข์ในใจให้เป็นพลังสร้างสรรค์

เรายังมีโอกาสอยู่ทุกลมหายใจ คนอื่นก็เช่นกัน หาโอกาสที่จะทำดีในปัจจุบันกันเถอะ ขอให้อดีตเป็นครูและบทเรียน

ไม่มีความคิดเห็น: