วันอาทิตย์, สิงหาคม 10, 2551

เทคโนโลยีเพื่อหัวใจสะอาด

เรามักได้ยินบ่อยๆว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น ไม่ว่าโทรศัพท์ที่ช่วยให้เราติดต่อพูดกันแม้ไม่เห็นหน้า โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต พัดลม ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีชั้นสูงเช่น นิวเคลียร์ การดัดแปลงทางพันธุกรรม

แต่นั่นเป็นประโยชน์ทางกายภาพของเทคโนโลยีเท่านั้น เทคโนโลยีที่ดูแข็ง ๆ เป็นกลไก ไร้ชีวิต อาจช่วยให้เราเข้าถึงความเป็นมนุษย์ เข้าถึงความรู้สึกอันสูงส่งที่เรียกว่าความกรุณาและปัญญาได้เช่นกัน

เมื่อเสาร์ที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา เราไปเที่ยวงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รู้สึกตื่นตาตื่นใจและกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเมื่อได้อยู่ท่ามกลางวัยรุ่นที่แห่แหนกันมาชมงาน (ตามคำสั่งของโรงเรียนมั้ง)

ในงานมีบูทการแสดงงานมากมายหลากหลายด้านในทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทดแทน ธรณีวิทยา กายวิภาค ปรมาณู ดาราศาสตร์ เป็นต้น นอกจากการให้ข้อมูลความรู้แบบแห้ง ๆ แล้ว มีความพยายามนำเสนองานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นแบบ interactive เพื่อที่ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (edutainment)

ในบูท 4 D animation มีการจำลองเหตุการณ์จริง 2 แบบ คือ พายุและแผ่นดินไหว โจทย์คือ “เมื่อพายุกระหน่ำ น้ำท่วม เราจะรับมืออย่างไร”

ผู้เข้าร่วมลองประสบการณ์ทั้งสองแบบบางคนพูดว่า “แปลกดี สนุก ตื่นเต้น เหมือนจริงจังเลย ตอนต้นไม้ทำท่าจะล้มนะ เรารีบกระโดดหนี มีeffect น้ำกระเด็นด้วย เราต้องรีบหนีเลยเพราะใส่กางเกงสีขาว กลัวเลอะ”

เราสงสัยว่า หากมีพายุระดับนากีสเกิดขึ้นจริงๆ หรือแผ่นดินไหวแบบเมืองจีน ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ หรือกลัวเสื้อผ้าเปรอะเปื้อนจะมีอยู่ในใจไหมนะ

นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้เช่นนี้ เป็นไปเพื่ออะไร ความสนุก เพื่อแสดงความสามารถทางการประดิษฐ์เทคโนโลยีการเรียนรู้หรือ
และหากเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ ผู้เข้าชมได้เรียนรู้อะไร

จิต ซึ่งเป็นเครื่องไทม์แมชีนประจำตัวของเรา พาเราย้อนกลับไปในอดีตครั้งยังเป็นสาวรุ่นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราไปเที่ยวที่ Universal Studio ที่เมือง Florida อเมริกา ได้ลองเครื่องเล่นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Earthquake ซึ่งเป็นฉากจำลองในหนังเรื่องเดียวกับชื่อ ฉากนี้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ อย่าง นิวยอร์ก

ผู้เข้าชมต้องนั่งในรถที่เป็นเหมือนตู้ขบวนรถไฟใต้ดิน เมื่อรถเคลื่อนไปสักครู่ก็หยุด แล้วเริ่มรู้สึกว่าทั้งตู้ขบวนสั่นอย่างรุนแรง ตัวเราเอนไปมา เพดานด้านบนของสถานีรถแยกออก เห็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่แล่นอยู่บนถนน ค่อยๆร่วงลงมา ไถลเรื่อยๆจะชนกับตู้ขบวนที่เรานั่ง แต่ก็กระแทกเข้ากับเสาคาน มีน้ำที่ดูเหมือนน้ำมันหยดติ๋งๆ แล้วเกิดประกายไฟระเบิด ยังไม่หมด ท่อน้ำประปาแตกน้ำทะลักไหลบ่าเข้ามาในสถานี เหมือนจะกลืนกินรถทั้งขบวนที่เรานั่ง

เสียงกรีดร้องสนั่นหวั่นไหว เหมือนจริงเอามากๆ ตอนนั้นจำได้ว่า ยืนตาโต มองทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น หัวใจสั่นระรัว รู้อย่างเดียวว่าไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น นอกจากรอความตาย

ทุกอย่างสิ้นสุดที่จุด climax นี้ แล้วค่อยๆย้อนกลับสุ่สภาพเดิมเหมือนกรอเทปกลับ เราเดินออกมาขาสั่น โชคดีเหลือเกินที่มันเป็นเพียงเครื่องเล่น แต่นั่นก็ทำให้เราสะท้อนใจว่า หากเราอยู่ในเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ผู้ที่เจอหายนะเช่นนี้เขาคงรู้สึกไม่ต่างจากเรา อาจมากกว่าหลายเท่านัก มันไม่ใช่ความตื้นเต้นเร้าใจ แต่กลัวสุดขีด ทุกข์ใจสุดๆ

การเข้าชมหรือเรียกว่าเข้าเล่น Earthquake ช่วยรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความเห็นอกเห็นใจ ความกรุณาในหัวใจเรา เราได้เห็นทุกข์โดยที่ทุกข์ยังไม่เกิด และเมื่อเห็นแล้วหากเราได้ทำอะไรต่อไป นั่นน่าจะถือได้ว่า เป็นปัญญา

เมื่อเราสามารถรับรู้ทุกข์ผู้อื่นเฉกเช่นทุกข์ตน เราก็เต็มที่กับการช่วยเหลือในยามทุกข์นั้นเกิด ไม่ว่าจะกับใคร ชาติไหน ศาสนาใด
และเมื่อเรารู้ว่าภัยพิบัตินั้นนำทุกข์เช่นใดมาให้เราได้บ้าง หนทางแห่งความกรุณาจะน้อมนำให้เราเดินไปบนเส้นทางแห่งปัญญาเพื่อหาทางออกว่า เราจะช่วยเหลือกันได้อย่างไรในเวลาวิกฤตเช่นนั้น และจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อป้องกันภัยเหล่านั้นให้ไม่เกิดหรือลดความรุนแรงลง

ที่สำคัญที่สุด คือ เราจำเป็นที่ต้องฝึกฝนอบรมจิตใจ เรียนรู้ที่จะเผชิญความตายอย่างสง่างามและสงบ และช่วยเกื้อกูลให้เพื่อนๆ ญาติพี่น้องที่ต้องตายกันสักวันให้เตรียมตัวกันไว้ด้วย

เห็นได้ว่า เทคโนโลยีทำได้มากกว่าอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตแบบโลกๆ เทคโนโลยีสามารถกล่อมเกลาจิตใจคนได้
แต่จะทำเช่นนั้นได้ ผู้ผลิตคงต้องใส่หัวใจของตนลงไปในเทคโนโลยีนั้น และผู้ใช้เทคโนโลยีเองก็เช่นกัน เราสามารถสร้างเทคโนโลยีเพื่อหัวใจสะอาดได้ เมื่อเรา “ใส่” ใจ

เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ราคาแพงเสมอไป เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ กระบวนการต่างๆ มาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ หรือแก้ปัญหา เราจะเห็นเทคโนโลยีของชาวบ้านที่ เอาไม้ไผ่มาปักลงทะเล เป็นแนวรั้วเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทำได้ผลดีและราคาถูกไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบมากมาย ระเบิดภูเขาเอาหินมาทำแนวทำนบ
นี่เป็นตัวอย่างเทคโนโลยีง่ายๆ หัวใจสะอาดที่นำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์

ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์นี้ เราก็ได้เห็นการใช้เทคโนโลยีแห่งหัวใจ ใช้ต้นทุนต่ำ นั่นคือ งานนิทรรศการ “สนทนาในความมืด” Dialogue in the Dark
งานนี้เป็นนิทรรศการ experiential installation ผู้เข้าร่วมจะได้เข้าไปเรียนรู้สัมผัสโลกแห่งความมืดประมาณ 20 นาที สัมผัสโลกธรรมชาติ โลกในเมือง โลกในร้านอาหาร เป็นต้น แล้วจะได้เรียนรู้อะไรต่างๆมากมาย เรารู้จักร่างกายตัวเองมากขึ้น รู้ถึงศักยภาพของประสาทสัมผัสต่างๆที่มี การทำงานและความสัมพันธ์ของการรับรู้ของประสาทสัมผัสต่างๆ รู้จักใจตัวเอง เห็นความกลัวในใจ และเห็นงดงามและความแกร่งของคนตาบอด รู้จักชื่นชมดวงตาที่ยังเห็นได้อยู่ซึ่งควรค่าแก่การรักษาไว้ด้วย เป็นต้น ที่สำคัญเราได้เห็นว่า สังคมของเราขาดความกรุณาต่อเพื่อนร่วมสังคมอย่างไรบ้าง เราคิดถึงผู้อื่นน้อยมากๆ

การเรียนรู้เช่นนี้ เหนือการบอกเล่า เหนือการอ่านวิจัย ค้นคว้า นี่เอง คือ ความงดงามของ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การทำจริง
ลองทำดู เปิดใจเรียนรู้ แล้วจะได้รู้

งานนิทรรศการนี้ไม่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แต่สามารถช่วยให้ผู้เข้าชมมีใจสูงขึ้นได้ เลยอยากชวนเพื่อนๆไปเข้าลองประสบการณ์ แต่ถ้าพลาดตอนนี้ไม่เป็นไร เพราะทาง อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติเข้าเช่าลิขสิทธิ์งานนิทรรศการนี้มาจัดถาวร เป็นเวลา 1 ปี ที่จามจุรีสแควร์ โดยเริ่มเปิดให้เข้าชมปีหน้า 2552 สำหรับนิทรรศการถาวร ผู้เข้างานจะได้ลองใช้ชีวิตในความมืดถึง หนึ่งชั่วโมง หรือกว่านั้น

งานนี้ทำให้เห็นเหมือนที่ อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี เขียนไว้ตอนหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกของโลก เจ้าชายน้อย ว่า "สิ่งที่งดงามที่สุดไม่อาจเห็นได้ด้วยตา"

งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์จะมีไปจนถึง 22 สิงหาคม ที่ ไบเทค บางนา

โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: