วันพุธ, สิงหาคม 27, 2551

เหตุที่คนเราทำเลาะกัน

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า คนเราทะเลาะและขัดแย้งกัน ด้วย 2 สาเหตุ คือ ตัณหา และ ทิฐิ กล่าวเป็นภาษาร่วมสมัยคือ เรื่องผลประโยชน์ และความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน


คำสอนแต่โบราณนี้ร่วมสมัยทีเดียว ช่วยให้ทบทวนตัวเองในสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเดือดปะทุไม่น้อย เราหันเข้ามาสำรวจใจตัวเองดู เห็นว่าเรานี้ก็ขัดแย้งกับเพื่อนกับคนอื่น เพราะยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตนไม่น้อยเลย มันต้องเป็นอย่างนี้ เขาควรจะเป็นอย่างนั้น หลักการมันคืออย่างนี้ ... ไม่ว่าจะคิด จะพูดอะไรออกมา ตัวของเราใหญ่คับโลก ไม่เหลือที่ให้ได้ยินความเห็นอื่น โลกทัศน์อื่น เสียงของเพื่อนอันอ่อนโยน


อย่างนี้แล้วไม่รู้ว่าปัญญา หลักการ เหตุผล จะมีประโยชน์อะไร หากทำให้เราต้องแตกแยกกัน ใส่ร้ายกัน เอาชนะกัน เกลียดกัน


หนวก บอด ใบ้ แต่มีหัวใจให้ผู้อื่น จะดีกว่าไหม


ความทุกข์ในห้วงเวลานี้ของเรา คือ ความมืดบอดทางปัญญาและความไร้หัวใจของหลายคนในสังคม การเอาตนเป็นใหญ่ ประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง มองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งไร้ชีวิต ไร้ค่าปราศจากความหมาย


ยังดีที่ความทุกข์นี้นำปัญญาอันยิ่งมาสู่หัวใจของเราด้วย

มันทำให้เราเห็นภารกิจและหน้าที่ของชีวิตอย่างคมชัดขึ้น


ชีวิตแสนสั้น นับวันเวลาหายใจลดน้อยลงทุกที ชีวิตของเรามีความหมายต่อเมื่อทำสิ่งที่พ้นไปจากตัวตนเท่านั้น เราตั้งใจจะอุทิศชีวิตเพื่อบ่มเพาะสติ ปัญญา ความกรุณา และ ขันติ ในใจตนและผู้คน เพื่อนๆคนไหนอยากร่วมปณิธานนี้กับเราบ้าง? เราช่วยกัน เกื้อกูลกัน เราไม่จำเป็นต้องทำงานเหมือนกัน หากแต่เดินไปในทิศทางเดียวกันแค่นั้นก็พอ และขอให้มีความมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหวบนหนทางนี้ เราก็ไม่เหงา ไม่อ้างว้างหากมีอุปสรรค


พุทธศาสนาสอนเรื่อง เหตุและปัจจัย ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ เหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงการระเบิดของฝีหนอง อันเกิดจากเชื้อโรค หรือ ความผิดปรกติบางอย่างในสังคม หากเราไม่สาวไปถึงเหตุเราจะไม่มีวันแก้ไข เปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากเรายังคงแก้ปัญหาในระดับปรากฏการณ์ เหตุการณ์คล้ายๆกัน อย่าง 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ และ สิงหานี้ ก็จะวนเข้ามาในสังคมอีกในอนาคต ดูpattern วงจรของมันสิ ราว 10-15 ปีเห็นจะได้


เราลองคิดเร็วๆ คร่าวๆ เห็นว่า ปัญหาที่แท้อย่างหนึ่ง คือ สภาวะจิตของคนในสังคม ความเห็น ความคิด รูปแบบนิสัยพฤติกรรม เช่นที่อยากยกมาแลกเปลี่ยนตอนนี้ คือ การเรียกร้องสิทธิมากกว่าการตั้งใจทำตามหน้าที่ของตน หลายคนในสังคมขาดความตระหนักเรื่องสาธารณะ คือ ไม่มีจิตสาธารณะนั่นเอง


สื่อสารมวลชนเองก็เช่นกัน เราเรียกร้องให้สังคม กฎหมายพิทักษ์สิทธิในการเสนอข้อมูลข่าวสารของเรา แต่เราเคยมานั่งใคร่ครวญตรวจสอบตัวเองไหมว่า เราได้ทำตามหน้าที่อย่างสุจริต เป็นธรรม และ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน


สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมาก แต่สื่อเองก็เป็นคน มีอคติ มีทิฐิ ตัณหา (ผลประโยชน์) เราจะรายงาน ทำข่าว วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องต่างๆด้วยความตระหนักรู้ในตน และผลที่จะเกิดจากการกระทำของเราได้มากน้อยแค่ไหน


เหตุอันนำไปสู่การบุก NBT มาจากอะไร เราเห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องในการทำหน้าที่สื่อ การขาดการตรวจสอบกันเองในวิชาชีพ และอำนาจเงิน บวกอำนาจรัฐที่กุมสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน

ความเร่งรีบในงานและวิถีชีวิต การทำงานอย่างหนูถีบจักร การขาดการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ขาดการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง ทำให้สื่อไม่สามารถตั้งคำถามใหม่ๆที่นำไปสู่มุมมองใหม่ๆ ทางออกทางแก้ให้แก่สังคม ไม่อาจนำเสนอมุมมองที่ยังมองไม่เห็น คิดไม่ถึง พวกเราทั้งหลายจึงต้องมีชีวิตวนเวียนในเรื่องเดิมๆ ความเห็นเดิมๆ การแก้ปัญหาเดิมๆ วิธีการพูดเดิมๆ ที่เคยได้ยินมาแต่โบราณ


นักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ ไม่ว่าจะอาชีพใด ก็เหมือนกัน มีตัณหาและทิฐิทั้งสิ้น ใครจะยึดมั่นมากน้อยกว่ากันก็เท่านั้น หากเราหันทวนกลับมาสำรวจตัวเองให้มาก อาจเห็นอะไรดีๆในตัวผู้อื่นมากขึ้น เห็นชั่วในตนมากขึ้นด้วย


ไม่อยากอ้างคำพูดของไอน์สไตน์ที่ใช้กันเกร่อเลย แต่คงต้องยอม เราไม่อาจใช้วิธีคิดเดิมๆแก้ปัญหาที่เกิดจากวิธีคิดนั้นได้


แล้วอะไรเล่าคือวิธีคิดใหม่ สำคัญกว่านั้น เราจะคิดใหม่ได้อย่างไร อะไรจะช่วยให้เราเกิดความคิดใหม่ได้ ที่สำคัญเราปรารถนาที่จะคิดใหม่ ทำใหม่หรือเปล่า บางทีความเก่า ความเคยชินมันก็ง่าย และปลอดภัยดี

การไม่ทำอะไร คือ การกระทำเช่นกัน


เราชอบที่เพื่อนอิสลามคนหนึ่งเคยพูดว่า หากเราปล่อยให้เกิดความอยุติธรรม เราก็คือคนหนึ่งที่ช่วยสร้างให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นด้วย


เราจะทำอะไรเพื่อยับยั้งความอยุติธรรม หรือ บ่มเพาะความยุติธรรมในสังคมอันนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้สติและปัญญาพิจารณา


ส่วนตัวแล้ว เราว่าทุกคนทำอะไรได้มากมายในวิถีทางของเรา หมอ พยาบาล สื่อ นักธุรกิจ ทำอะไรก็ทำไป ขอเพียงแต่มีความตระหนักรู้ในทิฐิของตน มีจิตสำนึกสาธารณะ มีความกรุณาต่อผู้อื่น คิดถึงตัวเองให้น้อยลง แค่นี้เราว่าสังคมจะน่าอยู่ขึ้นมาก คนไข้จะได้ไม่ฟ้องหมอมากขึ้นทุกวัน คนไม่เกลียดสื่อ นักธุรกิจไม่ทำลายธรรมชาติและจิตรักสันโดษของคน ครูไม่รังแกเด็ก และนักการเมืองเลิกพูดซ้ำซากว่า มาจากการเลือกตั้งและทำเพื่อประชาชนได้แล้ว หาวาทะกรรมใหม่เหอะ พูดจากใจอย่างสุจริต ไม่น่ายากนะ

1 ความคิดเห็น:

knoom กล่าวว่า...

โดนใจเต็มๆ เลยครับ
ขอบคุณครับที่เรายังมีเพื่อนสื่อที่เข้าใจและพยายามสร้างความเข้าใจในกันและกัน แม้จะมีจำนวนไม่มากก็ตาม