โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง
เร็ว ๆ นี้ได้มีโอกาสกลับไปดูภาพยนตร์เรื่อง Amistad ซึ่งกำกับโดย สตีเฟน สปิลเบิร์ก เมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษที่แล้ว รู้สึกประหลาดใจว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอเมริกาในยุคก่อนสงครามกลางเมืองเมื่อราว ค.ศ. 1839 คล้ายคลึงกับไทยในยุคดิจิตอล 2008 ทีเดียว เรื่องราวชวนติดตาม และคำพูดเด็ด ๆ ของตัวละครในเรื่อง สะท้อนให้เห็นหลายประเด็นที่อาจนำมาใคร่ครวญและเรียนรู้ได้ กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา
Amistad พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณของชาติ การเมืองและการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม บรรยากาศความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคมระหว่างคนเหนือกับคนใต้ของสหรัฐอเมริกา
ชนวนของเรื่องเริ่มจากเรือเดินสมุทรสัญชาติสเปนชื่อ La Amistad ซึ่งแปลว่า มิตรภาพไร้พรมแดน Friendships without borders
ชื่อเรือช่างเย้ยหยันความจริงที่เกิดขึ้นเสียเหลือเกิน เนื่องด้วยเรือลำนี้บรรทุกชาวแอฟริกันที่ถูกลักลอบจับมาเพื่อไปขายต่อนายทาส ระหว่างทางที่รอนแรมในทะเล ทาสหลายคนถูกเฆี่ยนตีจนตาย ทาสสาวถูกล่วงละเมิดทางเพศ และทาสกว่า 50 ชีวิตถูกทิ้งถ่วงน้ำเพื่อลดภาระน้ำหนักของเรือและเพื่อคลายภาวะอาหารขาดแคลานบนเรือ
คืนฝนตกวันหนึ่ง ทาส ชื่อ ซินเค ใช้นิ้วแคะเอาตะปูจากแผ่นไม้ของเรือออกมาและใช้ตะปูไขทำลายโซ่ตรวนที่ล่ามอิสรภาพเขาไว้ เขาและพวก ฆ่าลูกเรือคนขาวเกือบหมดลำ เหลือเพียงผู้ที่สามารถเดินเรือได้ เพื่อให้นำเขากับพวกกลับกาฬทวีป
แต่เรือกลับไปขึ้นฝั่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทาสทุกคนบนเรือถูกจับในข้อหาฆ่าคน (ขาว) และรัฐบาลภายใต้การนำของพระราชินียิสซาเบลที่ 2 ของสเปนเรียกร้องให้สหรัฐส่งเรือพร้อมสินค้าทั้งหมดกลับสเปน ซึ่งสินค้าที่ว่านี้ก็ คือ มนุษย์ที่เรียกว่าทาส
ในช่วงปี ค.ศ. 1839 หลายประเทศยังมองทาสเป็น มนุษย์ชั้นสอง ไม่มีสิทธิอะไรนอกจากเป็นสินค้า และแรงงาน
ประเทศอเมริกาก็เช่นกัน รัฐทางใต้ของอเมริกามีฐานทางเศรษฐกิจทางเกษตรกรรม คือ ไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ซึ่ง “จำเป็นต้อง” ใช้แรงงานทาสจำนวนมาก ส่วนรัฐทางเหนือเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรเป็นหลัก
ทาสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แบ่งความคิดและวิถีชีวิตที่แตกต่างระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ของอเมริกา
ดังนั้น ความรอดหรือความตายของคนที่ถูกทำให้เป็นทาส กลายเป็นเรื่องชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงมีความพยายามจากฝ่ายต่างๆ ที่จะทำให้ตนได้รับชัยชนะ บ้างอ้างความชอบธรรมจริยธรรม บ้างอ้างวิถีชีวิตตามครรลองของพื้นถิ่น บ้างอ้างศาสนาและไบเบิลที่ว่าแม้อดัมส์และอีฟยังมีศักดิ์ไม่เท่ากันเลย คือฝ่ายหญิงอยู่ในฐานะต่ำกว่า และบ้างก็อ้างว่าทำเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง
ความพยายามที่ว่านี้ยังหมายถึงการพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ด้วยหวังว่าผู้พิพากษาหนุ่มผู้มีอนาคตอีกยาวไกลจะตัดสินคดีนี้โดยให้โทษแก่ชาวแอฟริกันในข้อหาฆ่าคนขาว และ/หรือส่งเรือสินค้าทาสนี้กลับสเปน
การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้พิพากษาหนุ่มเห็นความทุกข์ที่ทาสเหล่านี้เผชิญและตัดสินความให้ทาสได้รับอิสระ ส่วนผู้ค้าทาสถูกคุมขังรับโทษ
คำตัดสินนี้ทำให้การเมืองขั้วใต้ไม่พอใจอย่างยิ่ง และอุทธรณ์เรื่องนี้สู่ศาลสูงสุดของอเมริกา มี นักการเมือง วุฒิสมาชิก ทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ผู้ที่กำลังรับสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และอดีตประธานาธิบดีเข้ามาเกี่ยวข้อง
อดีตประธานาธิบดีคนที่ 6 ของอเมริกา คือ นาย John Quincy Adams (ดำรงตำแหน่งปี 1825-1829) เข้ามาช่วยว่าความให้จำเลย ท่านเป็นลูกชายของอดีตประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐอเมริกา John Adams ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบิดาผู้วางรากฐานจิตวิญญาณของอเมริกันชน และมีส่วนร่วมในการเขียนคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา Declaration of Independence เมื่อวันที่ 4 July ค.ศ. 1776 ร่วมกับ เบนจามิน แฟรงคลิน โรเบิร์ต ลิฟวิงสตัน โทมัส เจฟเฟอสัน และอีกกว่า 50 congressmen ที่ร่วมลงชื่อ
จอห์น ควินซี อดัมส์ ไม่เห็นด้วยกับการมีทาสอยู่แล้ว ท่านเคยให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจในการทำสงครามเพื่อหยุดยั้งการค้าและใช้แรงงานทาส (ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ผู้รับใช้ประเทศระหว่างปี 1861-1865)
ในภาพยนตร์ มีบทสนทนาสะกิดใจ กระตุกความคิดหลายตอน ซึ่งตอนที่จะยกมาคือ ตอนที่ท่านประธานาธิบดี อดัมส์พูดกับชายผิวดำชื่อ ซินเค
“เราจะไม่ได้ขึ้นศาลโดยลำพังหรอก” ซินเคพูด
อดีตประธานาธิบดีอดัมส์ ส่ายหัวพร้อมกล่าวว่า “ไม่หรอก เรามีสิทธิ และความถูกต้องอยู่ด้วยกับเรา”
“เปล่า ผมไม่ได้หมายความอย่างนั้น” ซินเคตอบ “ในยามวิกฤตคับขัน พวกเราชาวเมนเดจะเรียกหาวิญญาณเหล่าบรรพบุรุษให้มาช่วย ให้นำปัญญาญาณจากอดีตมากอบกู้สถานการณ์ในปัจจุบันอันมืดมน บรรพบุรุษต้องมาตามเสียงเรียกของผม เพราะว่า ในเวลาเช่นนี้ ผมคือเหตุผลทั้งหมดที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกท่านทั้งหลายเคยมีอยู่จริง”
คำพูดง่าย ๆ เช่นนี้ ทำให้อดัมส์เห็นทางที่จะพูดในศาลก่อนคำตัดสิน “ถ้าทาสเหล่านี้สมควรตาย เราจะทำอย่างไรกับเอกสารคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่บรรพชนร่วมกันร่างขึ้น ที่ว่า “All men are created equal...”
“ข้อเสนอแนะของผม ก็คือ" อดัมส์ฉีกกระดาษที่อยู่ในมือ หากเราทำลายจิตวิญญาณของบรรพชนที่ให้กำเนิดประเทศนี้ไปแล้ว นั่นก็เท่ากับพวกท่านไม่เคยดำรงอยู่เลย จิตวิญญาณที่สร้างชาติและความเป็นอเมริกันนั้นได้ถูกทำลายและไม่มีอยู่จริง
คำประกาศอิสรภาพของบิดาผู้วางรากฐานจิตวิญญาณประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกามีเนื้อความน่าสนใจ โดยขอยกตัวอย่างที่ประทับใจมากตอนหนึ่ง คือ
" ทุกคนเกิดมา เท่าเทียมกัน ต่างได้รับสิทธิ บางอย่าง ที่จะโอนให้แก่กันมิได้ สิทธิเหล่านี้ ได้แก่ สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข และเพื่อที่จะให้ได้มา ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้ มนุษย์ จึงได้ตั้งรัฐบาลขึ้น และรัฐบาลนี้ ได้รับมอบอำนาจ จากความยินยอม ของผู้ที่อยู่ในปกครอง ของรัฐบาลนั้น
และเมื่อใด รูปการปกครองใด มุ่งทำลายหลักการสำคัญเหล่านี้แล้ว ประชาชน ก็มีสิทธิ ที่จะเปลี่ยนรัฐบาลนั้น หรือยุบเลิก รัฐบาลนั้นเสีย แล้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นแทน ซึ่งวางรากฐาน อยู่บนหลักการ และจัดระเบียบ การใช้อำนาจ ตามรูปดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เกิดผล ในการพิทักษ์ ความปลอดภัย และความผาสุก ของประชาชน"
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ย้อนกลับมามองสภาพบ้านเมืองของเรา เรื่องที่เราถกเถียงกันในปัจจุบัน คือ อะไร รูปแบบการปกครอง หรือ จิตวิญญาณที่เป็นหัวใจในการปกครองบ้านเมือง
จิตวิญญาณอเมริกาคือสิทธิ เสรีภาพของทุกคน ซึ่งไม่ว่ากฎหมาย กฎระเบียบ วิถีชีวิต แม้แต่รัฐบาล ก็จะทำลายหรือละเมิดมิได้
จิตวิญญาณไม่ใช่บุคคล ระบบ โครงสร้าง แม้แต่รูปแบบใดๆ ของสังคม ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตวิญญาณ เป็นความจริงสากลที่มนุษย์โดยทั่วไปน่าจะปรารถนาและปฏิบัติได้ร่วมกัน
ประเทศอังกฤษยึดหลักจารีต ประเพณี สามัญสำนึกแบบอังกฤษ ๆ (conscience)
ประเทศเยอรมนีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยึดหลักศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์
แล้วจิตวิญญาณของเมืองไทย สยามประเทศ คืออะไร?
เพื่อนที่อยู่ในแดนอีสานคนหนึ่งแลกเปลี่ยนว่า “สมัยก่อนคนรุ่นปู่ย่าตาทวดอยู่ร่วมกันหลากเชื้อชาติ เมื่อมีคนจากต่างถิ่น เช่น ญวน ลาว เขมร มาในพื้นที่ เราก็แบ่งกันอยู่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นเพื่อนกัน ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย”
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี หรือเปล่าที่เป็นหัวใจของชนแถบนี้ หากจะลองใช้ศัพท์แสงแบบตะวันตก จะพอพูดได้ไหมว่า บรรพบุรุษของเราเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยวิธีคิดและวิถีปฏิบัติ?
การไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สยามทำให้เห็นว่า อาณาจักรสยามนี้เปิดประตูรับคนต่างเชื้อชาติมากมาย จนกระทั่งความเป็นไทย หมายถึง ความหลากหลาย (melting pot)
คนสยามค่อนข้างใจกว้าง ยอมรับผู้อื่นได้ พร้อมเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ เล่นแร่แปรธาตุได้เสมอ มีความสามารถอย่างยิ่งในการหลอมรวม ผสมผสาน และประยุกต์ดัดแปลงสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับจริต ความคุ้นเคยของตน เห็นได้ชัดจากการดัดแปลงอาหารต่างๆให้มีเอกลักษณ์เป็นแบบฉบับของตน
จิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้อยู่ได้จนปัจจุบัน ยังมีอยู่หรือไม่
ในภาพยนตร์ อดีตประธานาธิบดี อดัมส์ ยังกล่าวต่อไปว่า บางทีการที่คนเราไม่หวนกลับไปรื้อฟื้นภูมิปัญญาในอดีต ไม่กลับไปสู่รากเหง้าของตนอาจเป็นเพราะความกลัวที่จะเผชิญกับความจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว เราไม่ได้เก่งกาจอะไร แท้จริงแล้วเราคือผลสืบเนื่องของอดีต แท้จริงแล้วเราไม่ได้เป็นปัจเจกชนอย่างที่เราคิดและหวงแหน
“เราถูกทำให้เข้าใจ และยอมที่จะโอบกอกความเข้าใจนั้นว่า สิ่งที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ คือสิ่งที่เราเป็นมาแต่อดีต เราต้องการความเข้มแข็งจากบรรพชน ปัญญาที่จะช่วยเราก้าวข้ามความกลัวและอคติของตัวเอง โปรดให้พลังแก่เราที่จะกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และถ้าหากสิ่งนั้นหมายถึง สงครามกลางเมืองแล้วละก็ ขอให้มันมา และเมื่อสงครามกลางเมืองมาถึง ก็ขอให้มันเป็นการปฏิรูปครั้งสุดท้ายของอเมริกาเทิด” อดัมส์กล่าวถึง
ในที่สุด องค์คณะของศาลสูง 8 ใน 9 ก็ตัดสินให้ ส่งเรือสินค้าคืนสเปน หากแต่ชาวแอฟริกันมีศักด์ สิทธิ เสรีภาพความเป็นมนุษย์เต็มเปี่ยม และเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง ว่า จะกลับบ้านที่แอฟริกาหรือไม่
ความขัดแย้งทางความคิดเรื่องทาส รวมกับเรื่องอื่น ๆ ระหว่างชาวเหนือและชาวใต้ก็ทวีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งในปี 1861 สงครามกลางเมืองก็ระเบิดขึ้น ในช่วงสมัยประธานาธิบดี ลินคอล์น
สงครามกลางเมืองระหว่างเหนือและใต้จบลงเมื่อปี 1865 ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศอิสรภาพของทาส และ สถาปนาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในดินแดนอเมริกา แต่สงครามกลางเมืองนี้ก็ได้คร่าชีวิตทหารอเมริกันไปกว่า 620,000 นาย และ พลเรือนได้รับบาดเจ็บอีกมาก ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การลอบสังหารประธานาธิบดี ลินคอล์น ในปีเดียวกันนั่นเอง
หวังว่าประวัติศาสตร์ของชาติหนึ่ง จะไม่เป็นอนาคตของอีกชาติหนึ่งที่อยู่ไกลกว่าครึ่งโลก แต่ก็นั่นแหละกิเลสที่ครองใจคนเหมือนกันทุกชาติ ดำรงอยู่ทุกสมัย เหตุการณ์เดิม ๆ ในประวัติศาสตร์สามารถซ้ำรอย ซ้ำซากได้เสมอ จนกว่าเราจะเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจ
บางทีหนึ่งในหนทางที่เราจะเปลี่ยนจิตใจได้ คือ การกลับไปมองอดีต เรียนรู้จากความผิดพลาด ค้นหารากเหง้าของตน เรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลายอย่างที่บรรพบุรุษเราอยู่กันมา
บางทีหากเรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่า เราเป็นใคร แก่นแกนคุณค่าความเป็นเราอยู่ที่ตรงไหน เราอาจจะเห็นความจริงมากขึ้น เห็นทางเดินของชีวิตได้ดีขึ้น
บรรพบุรุษฟากหนึ่งของผู้เขียนเป็นคนจีนล่องเรือมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ อีกฟากเป็นแขกอินเดียอิสลามที่อาศัยในอยุธยา อีกส่วนถือได้ว่าเป็นคนสยาม และชาวเล นี่เพียงแค่สาวบรรพบุรุษในรุ่นรัตนโกสินทร์ตอนต้นค่อนกลาง จะมีเชื้อชาติอื่นที่อยู่ในยีนอีกไหมไม่รู้ อาจด้วยเหตุนี้กระมัง คำเชิงดูหมิ่นว่า “เจ๊ก” หรือวลี “ตีแขกก่อนตีงู” จึงไม่เคยหลุดจากปากเราเลย
จริง ๆ แล้วเราใกล้กันกว่าที่คิด เป็นมิตรกันมากกว่าศัตรู
What is your story? Who are you? Let’s talk about it and share.
หมายเหตุ หากใครสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังมีจำหน่ายทั่วไป น่าประทับใจมาก ส่วนถ้าไม่มีเวลามากพอ สามารถเลือกฟังคำพูดน่าประทับใจของ ประธานาธิบดี ควินซี อดัมส์ได้จาก www.youtube.com โดยพิมพ์คำว่า Amistad
วันพฤหัสบดี, กันยายน 11, 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น