โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง
“เรากำลังอยู่ในกลียุคแห่งข้อมูลข่าวสาร” รสนา โตสิตระกูล
เมื่อสิ่งที่เห็นอาจไม่จริง และสิ่งที่จริงอาจยังมองไม่เห็น เราจะอยู่กันอย่างไรในโลกที่เสมือนจริงเช่นนี้
ผู้เขียนได้รับรู้จากแหล่งข่าวหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการรายงานข่าวของสื่อที่ให้ข้อมูลไม่เป็นจริง หรือบิดเบือนไป จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผลกระทบก็ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกล่าวถึง และผู้รับสารที่เชื่อความที่ได้อ่าน ได้ฟังไป เพิ่มพูนความชิงชัง แยกขั้วกันมากขึ้น
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงแบ่งขั้วในบ้านเมืองปัจจุบัน สื่อสารมวลชนได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างมาก บ้างก็ขอให้สื่อเลือกข้าง บ้างก็ว่าน้ำเสียงของสื่อเอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ผู้คนเรียกร้องความเป็นกลางและความรับผิดชอบจากสื่อ แต่ดูเหมือนว่าความเป็นกลางเป็นสิ่งที่เป็นและทำได้ยากยิ่งสำหรับปุถุชนที่เต็มไปด้วยอคติ
การนำเสนอข่าวทั้งสองด้าน ในปริมาณเท่าๆกัน ถือว่าเป็นกลางแล้วหรือไม่ ?
ความจริงมีเพียงสองด้านหรือ? ความเป็นกลางขึ้นอยู่กับปริมาณชิ้นข่าวที่รายงานหรือ?
ความเป็นกลางคือการไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ หรือ?
ไม่ว่าสื่อจะพยายามนำเสนอข่าวสารให้สมดุลทั้งสองข้าง เป็นกลางตามความเห็นของตนสักเพียงใด ก็อาจเป็นกลางได้ยากเพราะใจผู้รับสาร ถ้าเอนเอียงเสียแล้วก็อาจจะฟัง และอ่านสารนั้นด้วยอคติ
ความเป็นกลางในปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องความถูกใจ ความพอใจเสียมาก และหลายครั้งก็หมายถึงความไม่ออกความเห็น ไม่ข้องแวะยุ่งเกี่ยวไปเสียเลย
กฎหมาย และระบบโครงสร้างทางสังคมสมัยใหม่ ประกอบกับความเจริญทางเทคโนโลยีให้โอกาสและเสรีภาพในการสื่อสาร แต่จะมีเครื่องมืออะไรที่จะกำกับความรับผิดชอบให้การสื่อสารสร้างสรรค์ความเป็นธรรมและสันติภาพให้สังคม
“เรามีข้อมูลมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วบิดเบี้ยว เป็น ข่าวสารพิษ เราโกหกกันมากที่สุดในยุคที่เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารก้าวไกล” รสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพให้ความเห็น
ประเมินอย่างต่ำ ๆ ปัจจุบันเรามีโทรทัศน์ให้ดูมากกว่า 100 ช่อง
มีหนังสือพิมพ์ให้ได้อ่านทุกวัน กว่า 20 ฉบับ
มีนิตยสารรายสัปดาห์และรายเดือน รายปักษ์ รวมกันกว่า 100 หัว
มีเว็บไซด์ต่างๆ ให้ท่องไปหาข้อมูล ความเห็น ความบันเทิง กว่าหมื่นเวบ
มีช่องรายการวิทยุ ทั้ง FM AM กว่า 100 สถานี
“เรากำลังอยู่ในกลียุคแห่งข้อมูลข่าวสาร” รสนาสรุปและอธิบายความต่อถึงคติพราหมณ์ที่แบ่งยุคต่างๆ เป็น 4 ยุค
1. สัตยยุค เป็นยุคแห่งสัจธรรม เป็นยุคของคนดี ผู้คนต่างมีศีลมีธรรมมั่นคง ซื่อตรง มีจิตใจผ่องใส ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง ทุกคนจึงอยู่อย่างมีความสุขเต็มที่
2. ไตรดายุค เป็นยุคที่ความดีเหลือ 3 ส่วน มีความจริง 75 เปอร์เซ็นต์ เริ่มมีคนชั่วประมาณ ๑ ใน ๔ ส่วน มนุษย์จึงเริ่มมีความทุกข์
3. ทวาปรยุค เป็นยุคที่ความดีเหลือครึ่งเดียว เหลือความจริง 50 เปอร์เซ็นต์ คนชั่วเพิ่มมากขึ้นจนมีจำนวนเท่ากับคนดี เรียกว่า มีคนดีครึ่งหนึ่งคนชั่วครึ่งหนึ่ง
4. กลียุค คือ ยุคที่มีความจริงเหลือเพียงเสี้ยว คือ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในยุคนี้ คนชั่วมีถึง ๓ ใน ๔ ส่วน มีคนดีเพียงส่วนเดียว ชีวิตจึงมีความลำบากมาก โจรผู้ร้ายมีมาก มีการฆ่ากัน ทำร้ายกัน โกงกัน หลอกลวงเอารัดเอาเปรียบกัน
เนื่องจากตำราโบราณว่าพวกเรากำลังอยู่ในกลียุค ลองมาดูกันหน่อยว่าลักษณะของกลียุคเป็นอย่างไรบ้าง (อ้างอิงจาก wikipedia)
ผู้ปกครองบ้านเมืองในกลียุคจะเป็นผู้เหลวไหลไม่มีเหตุผล และจัดเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ปกครองจะไม่เห็นว่าการส่งเสริมทางด้านจิตวิญญาณเป็นหน้าที่อีกต่อไป ผู้ปกครองจะทำตัวเป็นอันตรายต่อโลก ผู้คนจะเริ่มค้นหาและอพยพไปยังประเทศที่มีข้าวสาลีและข้าวบาเล่ย์เป็นอาหารหลัก
ความโลภและความโกรธแค้นจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ผู้คนจะแสดงความเกลียดชังต่อผู้อื่นอย่างเปิดเผย
สำหรับสภาพอากาศและธรรมชาติ เมื่อดอกไม้ออกในดอกไม้ ผลไม้ออกในผลไม้ (จะหมายถึงการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือเปล่าไม่รู้---ผู้เขียน) เมื่อนั้นกลียุคมาถึงกาลอวสาน และเมื่อเมฆเทฝนลงมาอย่างไม่มีฤดูกาล เมื่อนั้นจุดจบของกลียุคมาใกล้แล้ว
ไม่ยึดถือสิ่งที่เห็นหรือได้ยิน
หากจะถือตามคติพราหมณ์ในแง่ที่ว่า โชคชะตากำหนดไว้แล้วโดยพระพรหมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราคงไม่ต้องทำอะไร นอกจาก “ทำใจ” ยอมรับชะตากรรมว่ากำลังอยู่ในโลกแห่งเศษเสี้ยวความจริง ก็มีแง่ดีเหมือนกัน เราอาจใช้เป็นมาตรฐานในการชั่งน้ำหนักสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน เช่น ใครบอกว่ารักเราเท่าชีวิต ก็ให้คิดไว้เลยว่า เขารักเราเพียงแค่เสี้ยวชีวิตเขาเท่านั้น อย่างนี้แล้วจะได้พิจารณาว่าจะให้ใจกันแค่ไหน
หรือเวลาที่เราได้ยิน ได้เห็น ได้อ่านอะไร ก็ตระหนักในใจไว้ว่า มีความจริงเพียงเสี้ยว 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก เราอาจต้องเปลี่ยนจากคำพูดที่ว่า “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง” มาเป็น “เชื่อเพียงเสี้ยว สงสัยเป็นส่วนใหญ่”
ศีลข้อ 4 และ 5 เพื่อการสื่อสารด้วยรักและสันติ
หากใครจะสมาทานความคิดแนวพุทธ ก็ให้มองเรื่องนี้ในแง่ความประพฤติของศีล อาจจะจริงที่เรากำลังอยู่ในกลียุค แต่เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ คนเราไม่ประพฤติศีล ดังนั้นหากเราเปลี่ยนเงื่อนไขปัจจัยเสีย โลกที่เราอยู่ก็จะเปลี่ยนไปด้วย อาจย้อนกลับไปเป็นสัตยุคก็ได้
ศีลที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโดยตรง คือ ศีลข้อที่ 4 และ ข้อที่ 5 ซึ่งการตีความนั้นครอบคลุม กว้างขวางมากกว่าการพูดปด ให้ทันสมัยก็อาจบอกได้ว่า ดูตามเจตนารมณ์ของศีลแล้ว หมายถึงการสื่อสารทั้งหมด รวมทั้งการเขียนด้วย
“พูดแต่ความจริง ด้วยถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความมั่นใจ ความเบิกบานและความหวัง โดยไม่กระพือข่าวที่ตนเองไม่รู้แน่ชัด รวมทั้งไม่วิพากษ์หรือกล่าวโทษในสิ่งที่ตนเองไม่แน่ใจ ตลอดจนละเว้นจากการกล่าววาจาที่จะก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ปรองดองกัน หรือทำให้ครอบครัวและชุมชนต้องแตกแยกร้าวฉาน...” ---บางตอนของศีลข้อที่ 4 จาก ติช นัท ฮันห์
ส่วนศีลข้อที่ 5 เป็นเรื่องของการรู้จักบริโภคด้วยสติและปัญญา ซึ่งนับการบริโภคข่าวสารเข้าไปด้วย คือเราจะไม่บริโภคข่าวสารที่เป็นพิษ ที่ทำลายสติปัญญา ศีลธรรมอันดีในใจ
“ข้าพเจ้าตั้งจิตมั่นว่าจะไมใช้แอลกอฮอล์ สิ่งเสพติดอื่นใด หรือการรับอาหารและสิ่งให้โทษ อย่างเช่น รายการโทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือ ภาพยนตร์ และการสนทนาบางประเภท เพราะตระหนักรู้ว่าการทำร้ายร่างกายและวิญญาณของตนเองด้วยสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยเหล่านี้เท่ากับเป็นการทรยศต่อบรรพบุรุษ พ่อแม่ สังคม และลูกหลานของตนเอง
ข้าพเจ้าจะพยายามแปรเปลี่ยนความรุนแรง ความกลัว ความโกรธ รวมทั้งความสับสนในตนเองและสังคม โดยละเว้นจากการบริโภคสิ่งที่เป็นพิษภัย เพื่อตัวเองและสังคม ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่าการบริโภคอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม” ---บางตอนของศีลข้อที่ 5 จาก ติช นัท ฮันห์
หากเชื่อเรื่องกรรม คือผลของการกระทำแล้ว การกระทำผิดศีลขอที่ 4 และ 5 บ่อยๆ อาจมีผลทำให้สติฟั่นเฟือนได้ เพราะโกหกจนแยกไม่ออกว่าอย่างไหนจริงอย่างไหนลวง หรือ คนอื่นจับได้เสียชื่อเสียเครดิต เสียความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเพื่อน หรือแฟน ส่วนผลกรรมหลังการตายนั้น ไปดูกันเอาเองแล้วกัน ตัวใครตัวมัน
ยุคมิคสัญญี
ช่วงกลียุคของข้อมูลข่าวสารนั้นยังนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิด มิคสัญญี คือ การสำคัญมั่นหมายว่าคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ผู้ที่เราชิงชัง เป็นเหมือนเนื้อสมันที่เราสามารถฆ่าได้โดยไม่บาป ไม่เป็นไร ตัวอย่างเคยเกิดขึ้นแล้วจากคำพูดเล่าขานครั้ง 6 ตุลาที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
ครั้งนี้ ขออย่าให้เกิดคำพูดที่ว่า ฆ่าพันธมิตร ฆ่านปช. ฆ่ารัฐบาล หรือ ฆ่าคนชั่ว ไม่บาปเลย
หน้าที่ทางศีลธรรมของสื่อ
การทำหน้าที่ของสี่อมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสริมปัญญา รักษาสันติภาพในสังคม หากสื่อตระหนักในหน้าที่ คุณค่า และความสำคัญของสิ่งที่ทำ ระมัดระวังในการนำเสนอรายงานข้อมูล และสืบค้นเพื่อเข้าใกล้ความเป็นจริงให้มากขึ้น อาจช่วยลดคลายปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การเป็นกลาง มีความหมายลึกซึ้งไปกว่าการไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่คือความเป็นกลางภายใน
สิ่งที่สื่อต้องตระหนักให้มากไม่ใช่โลกภายนอก แต่เป็นโลกภายในใจตน คนทุกคนล้วนมีอคติ ความเชื่อ ความเห็น ทำอย่างไรให้ความเห็นของเราเป็นสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นตรง ความเห็นถูก ทำอย่างไรให้การทำงานมีความเป็นกลาง?
เราอาจใช้หลักอคติ 4 มาสำรวจตัวเองอยู่เนืองๆ
อคติ 4 คือ ฐานะอันไม่พึงถึงทางความประพฤติที่ผิด ความไม่เที่ยงธรรม ความลำเอียงเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ
1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
ลองสำรวจดูว่าเรากำลังทำข่าว หรือละเว้นการทำข่าว เพราะใจเอนเอียงชอบ รักใคร่ ต่อสิ่งๆนั้น คนๆ นั้นหรือความคิดนั้นๆ หรือไม่ เช่นการรายงานข่าวเพราะผู้นั้นเป็นเพื่อน เป็นผู้ให้ของกำนัล อาจทำให้ส่วนรวมสูญเสียประโยชน์บางอย่างที่ควรจะได้จากพื้นที่และเวลาในการนำเสนอข่าวสาร หรือหากคนที่เราชอบกระทำการไม่ดี เราละเว้นการรายงานนั้นเสีย
2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
ลองสำรวจดูว่าเรากำลังทำข่าว หรือละเว้นการทำข่าว เพราะใจรังเกียจ ชิงชัง ต่อสิ่งๆนั้น คนๆนั้นความเห็นนั้น ๆ หรือไม่ เช่น หากคนที่เราไม่ชอบ เราหาเรื่องแง่ไม่ดีมาพูดรายงานสม่ำเสมอ หากเวลาคนที่เราไม่ชอบทำดี เราก็ละเว้นการรายงานเรื่องของเขาเสีย
3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง หรือเขลา
ลองสำรวจดูว่าเรากำลังทำข่าวด้วยความไม่รู้หรือเปล่า หากไม่รู้ก็ทำให้รู้ขึ้นมาด้วยการค้นคว้า สอบค้น และตรวจสอบความจริงให้ถ้วนถี่
4. ภยคติ ลำเอียงเพราะกลัว
ลองสำรวจดูว่าเรากำลังทำข่าว หรือละเว้นการทำข่าว เพราะความกลัวต่อสิ่งต่างๆ คนต่างๆ ความเห็นต่างๆ หรือไม่ เช่น กลัวต่ออิทธิพลมืด อาจทำให้นักข่าวที่เห็นการกระทำผิด ละเว้นการรายงานนั้น เกิดผลกระทบต่อส่วนรวมได้ (แต่ก็เห็นใจนะกลัวตายนี่) หรือกลัวว่าโฆษณาไม่ลงสื่อของเรา จะขาดรายได้ ทำให้เราต้องรายงานข่าวบางข่าวที่อาจเอื้อประโยชน์แก่ภาคธุรกิจมากกว่าสังคมโดยรวม
หากเราสามารถตระหนักรู้ ก็อาจวางอคติลง และเข้าถึงความเป็นกลางได้ ซึ่งหมายถึงใจที่ไม่แบ่งแยก แบ่งขั้ว แบ่งข้าง ขาว-ดำ เลว-ดี ผิด-ถูก ชอบ-ชัง
แต่ใช่ว่าผู้ที่เป็นกลางจะไม่ยี่หระต่อความชอบธรรม สัจจะในโลก ตรงกันข้ามคนที่เป็นกลางโดยแท้ มีความกล้าหาญทางจริยธรรมสูงมาก
เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษ ท่านคานธีนำผู้ประท้วงเดินธรรมยาตราไปทะเลเพื่อต่อต้านภาษีเกลือและเรียกร้องสิทธิในการทำเกลือของชาวอินเดีย ผู้ประท้วงคนแล้วคนเล่าถูกทุบตีร่วงลงกับพื้น เสียงร้องครวญคราง แต่ไม่มีใครลุกขึ้นสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มาปราบปรามเลย
เนลสัน เมนเดลา ต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในสังคมของทั้งคนดำและคนขาว ท่านต่อสู้การเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ จนถูกจองจำในคุก 27 ปี หลังจากได้รับการปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1990 ท่านยังทำงานเรื่องนี้ต่อโดยใช้กระบวนการเจรจาและหันหน้าเข้าหากัน ทำให้แอฟริกใต้เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยบนพื้นฐานการเคารพความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ท่านทั้งหลายเหล่านี้ต่อสู้กับ ความไม่ชอบธรรมและฉ้อฉลในสังคมด้วยจิตที่ปราศจากความโกรธ และความเกลียดชังต่อทุกฝ่าย
เราทุกคนก็สามารถเป็นกลางได้อย่างท่านที่ทำให้เป็นตัวอย่างในอดีตแล้ว
ขึ้นกับว่า เราตั้งใจจะก้าวข้ามอคติในใจ และเข้าถึงความเป็นกลางหรือเปล่า
วันพฤหัสบดี, กันยายน 11, 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น