วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 16, 2549

ญาณทัศนะ และการบ่มเพาะ







เคยหรือไม่ ที่อยู่ๆ ความคิดดีๆ ก็แว้บผ่านเข้ามาในสมอง เป็นความคิดดีๆ ที่ช่วยตอบคำถาม ปัญหาบางอย่างในใจเรา โดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือเวลาในการขบคิด ใคร่ครวญแต่อย่างใด เช่น นิวตันเองก็ปิ๊งทฤษฏีแรงโน้มถ่วงเมื่อลูกแอปเปิ้ลตกใส่หัว

ญาณทัศนะ (Intuition) คือปัญญาหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นเองโดยปราศจากการคิดไตร่ตรอง หรือเป็นลักษณะที่เรียกว่า ปิ๊งแว็บ ญาณทัศนะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์บางคนบางประเภท เช่น คนที่เราเห็นว่าเป็นอัจฉริยะ แต่ญาณทัศนะเป็นสภาวะธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถ้าหากสร้างเหตุปัจจัย คือสภาวะจิตที่เอื้อต่อการเกิดญาณทัศนะ

โดยปรกติแล้ว มนุษย์ใช้สมอง หรือ จิตสำนึกในการขบคิด วิเคราะห์ เรื่องราว ข้อมูล และ ปัญหาต่างๆ ปัญญาที่เกิดในขั้นนี้เราอาจเรียกได้ว่า ไอคิว แต่หลายครั้ง การขบคิดในลักษณะนี้ก็ไปถึงทางตัน คือเราคิดไม่ออก รู้สึกเครียด อึดอัดคับข้องใจ ยิ่งพยายามคิดเท่าไร ก็คิดไม่ออก ถ้าหากเราไม่ฝืนที่จะคิดให้ได้จนเกินไปนัก แล้วลองหย่อนใจให้คลายจากความตึงเครียดลงบ้าง ไม่ต้องวนเวียนคิดคำนึงเพื่อหาคำตอบให้ได้ เราอาจจะประหลาดใจว่า บางครั้งคำตอบก็สามารถผุดขึ้นมาในใจเราได้เองโดยที่เราไม่ได้คิด ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า ปัญหาที่เราขบคิดอยู่นั้นมันยังฝังอยู่ในใจ ได้รับการบ่มเพาะในจิตใต้สำนึกที่ยังคงทำงานต่อไปกับคำถามและปัญหานั้นๆ จนเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เราจะพบอาการที่เรียกว่า ปิ๊งแว๊บ คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นเองโดยปราศจากการขบคิด ปัญญาที่แว๊บเข้ามาจะเกิดอย่างรวดเร็ว เป็นความรู้ที่สมบูรณ์ในตัวเอง และเราจะรู้ว่าจะต้องทำอะไร เมื่อไร

หลังจากเกิดเสี้ยววินาทีแห่งปัญญาแล้ว เราต้องแปลงความรู้นั้นออกมาอีกทีเป็นภาษา กิจกรรม หรือรูปธรรมอื่นๆภายหลัง

ภาวะที่จะส่งเสริมให้เกิดญาณทัศนะ คือในเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย หรือ อาจจะเทียบเป็นภาวะแห่งสติสมาธิก็ได้ ในทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า ใจอยู่ในคลื่นอัลฟา คือ คลื่นสมองค่อนข้างราบเรียบ

เราสามารถสร้างปัจจัยที่จะบ่มเพาะญาณทัศนะได้ โดยการวางใจให้ผ่อนคลาย สบาย และสงบ แล้วปัญญาที่ปราศจากการคิดลักษณะนี้ ก็จะเกิดบ่อยขึ้น อีกอย่างเราต้องบ่มเพาะความไว้ใจในญาณทัศนะด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: