วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 19, 2549

สื่อ: สุนัขนั่งตัก หรือสุนัขเฝ้าบ้าน?



บทความดีๆใน Post Today




โอกาสที่สื่อจะกู้เกียรติภูมิกลับมา
ดร.วิลาสินี พิพิธกุล

ยังเหลือเวลาอีกหนึ่งสัปดาห์ที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์ และวิทยุ จะพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นว่า สื่อยืนอยู่ข้างประชาชน หรือ
ยืนอยู่ฟากเดียวกับกลุ่มทุนการเมือง ที่ใช้ทั้งอำนาจอุปถัมภ์ และอำนาจกรรมสิทธิ์ในการครอบครองสื่อ

ก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ยังมีอุดมการณ์เพื่อสาธารณะอยู่นั้น จึงน่าจะรีบใช้โอกาสนี้ กู้ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นแห่งการเป็นฐานันดรที่สี่กลับคืนมา หลังจากที่ความไม่เป็นกลางของสื่อจำนวนหนึ่ง
ได้ส่งผลให้สื่อทั้งมวลถูกระบายสีอย่างเปรอะเปื้อนไปทั่วกันหมด และถูกขนานนามจากกลุ่มวิพากษ์สังคมว่า สื่อมวลชนเป็นได้แค่ “สุนัขนั่งตัก” มิใช่สุนัขเฝ้าบ้าน

ห้าปีที่ผ่านมาของรัฐบาลทักษิณ น่าจะเพียงพอแล้ว สำหรับการทำให้โครงสร้างของระบบสื่อสารมวลชนไทยถูกสั่นคลอน และตกอยู่ในสภาพของ “วัฒนธรรมแห่งความเปราะบางและหวาดกลัว”จนผู้ที่เกี่ยวข้องกับสื่อในทุกระดับ เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการไม่นำเสนอข่าวของฝ่ายคัดค้านรัฐบาล หรือบิดประเด็นข่าวบางแง่มุม
เพื่อไม่ให้เกิดภาพลบกับรัฐบาล

สถานการณ์ที่จัดได้ว่าเป็นการสั่นคลอนระบบสื่อ และสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น เริ่มมาตั้งแต่ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศในต้นปี 2544

ซึ่งในช่วงต้นนั้น ยังเป็นลักษณะของการสั่งระงับรายการบางตอน หรือทำให้เสียงสัมภาษณ์สดบุคคลทางการเมืองบางคนขาดหายไป โดยอ้างเหตุขัดข้องทางเทคนิค หรือให้ยกเลิกรายการบางรายการ โดยอ้างเหตุผลว่าผู้ดำเนินรายการไม่มีใบอนุญาตผู้ประกาศข่าว

สถานการณ์การคุกคามสื่อในช่วงสองปีแรกของรัฐบาล ดูไม่อึกทึกครึกโครมหรือมีผลให้
ประชาชนทั่วไปรู้สึกเดือดร้อนมากนัก จะมีก็แต่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปสื่อเท่านั้น ที่เริ่มส่งสัญญาณบอกสังคมว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

แต่พอกลางปี 2546 เป็นต้นมา สถานการณ์ต่างๆ เริ่มชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ เพราะการที่รัฐบาลใช้ความได้เปรียบทางการเมืองและการบริหาร เข้าไปจัดวางโครงสร้างสื่อที่เป็นของรัฐ ให้เอื้อต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองของกลุ่มตน ได้ส่งผลให้เกิดการกวาดต้อนสื่อ เข้ามาเป็นพวกพ้องอย่างยกใหญ่ และในขณะเดียวกัน ก็เกิดยุทธการของการผลักดันสื่อที่ไม่ยอมเป็นพวกออกไปจากอาณาจักร

การแทรกแซงในระดับโครงสร้างขององค์กรสื่อนี้ มีตั้งแต่การใช้กลยุทธ์ของการให้ทุนสนับสนุนในรูปแบบของโฆษณา การใช้หน่วยงานราชการ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์สถานี มาสั่งการยกเลิกสัญญากับรายการข่าวบางบริษัท โดยอ้างเพียงเหตุผลของการปรับผังรายการ การชิงต่อสัญญาสัมปทานระยะยาวให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อสมท. การแก้ไขสัญญาของไอทีวี จนทำให้ทีวีเสรีเพื่อปวงชนพลิกโฉมกลายเป็นทีวีเชิงพาณิชย์ และได้รับการปรับลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐ
ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียผลประโยชน์อันควรจะเป็นของสาธารณะไปอย่างมหาศาล

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมอีกหลายสิบกรณีของการปลดนักข่าว การเปลี่ยนตัวผู้บริหารสถานีหรือบรรณาธิการข่าว การส่งคนเข้ามาแทรกซึมความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ
การเข้าไปจัดการกับเนื้อหาและสัดส่วนรายการของสื่อต่างๆ และล่าสุดคือ กรณีการปลดบุญยอด สุขถิ่นไทย ผู้จัดรายการ “ข่าววันใหม่” ทางช่อง3 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยไม่แจ้งล่วงหน้า และให้เหตุผลเพียงแค่ต้องการปรับปรุงรูปแบบรายการใหม่ ทั้งๆ ที่เข้าใจกันได้ไม่ยากว่า น่าจะมีเหตุผลอยู่เบื้องหลังการออกใบสั่งครั้งนี้

ยังมีการแทรกแซงในรูปแบบของการเพิกเฉยละเลยกลไกของรัฐธรรมนูญ เช่น การปล่อยให้เกิดความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของกระบวนการสรรหา กสช. การแปรสัญญาโทรคมนาคมที่ทำให้เกิดความได้เปรียบและผูกขาดของกลุ่มทุนในซีกรัฐบาล การกว้านซื้อหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนของกลุ่มธุรกิจการเมืองเครือญาติและเพื่อนฝูง

การรุกรานวิทยุชุมชนด้วยการหนุนให้วิทยุชุมชนมีโฆษณา จนทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองของวิทยุชุมชนแบบสองขั้ว และความพยายามที่จะแปรรูปกิจการสื่อสาธารณะอย่างช่อง 11 ให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น
อีกทั้งมีการใช้เครื่องมือทางกฎหมายฟ้องหมิ่นประมาทสื่อ และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่น กรณีการฟ้องคดีหมิ่นประมาทสุภิญญา กลางณรงค์ และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ถึง 400 ล้านบาท การพิพากษาคดีอาญาแก่เสถียร จันทร ตัวแทนวิทยุชุมชน อ่างทอง ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เป็นที่เข้าใจกันดีว่า เป็นการฟ้องร้องเพื่อปรามรายอื่นๆ แม้ทางฝ่ายทนายของบริษัทชินคอร์ปฯ จะยื่นข้อเสนอเมื่อกลางสัปดาห์นี้ เพื่อขอถอนฟ้องคดีของสุภิญญา แต่ก็เป็นที่น่าเคลือบแคลงใจว่าทำไมมาขอยอมความในช่วง
ที่นายกฯ กำลังอยู่ในภาวะขาลงเช่นนี้

กรณีการแทรกแซงสื่อดังที่กล่าวมานี้ ได้ส่งผลให้เกิดการผูกขาดทางความคิด ควบคุมเนื้อหา และกำหนดวาระข่าวสารที่สังคมควรจะรู้ ดังจะเห็นได้จากการครองพื้นที่สื่อทางวิทยุทุกเช้าวันเสาร์ของนายกฯ ที่เป็นการสื่อสารแบบทางเดียวมาโดยตลอด การจัดฉากเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะ เช่น เรียลลิตี้โชว์ที่อาจสามารถ หรือการปิดกั้นโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสาธารณะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและชีวิตของประชาชน เช่น การผูกขาดข่าวสารกรณีไข้หวัดนกเมื่อต้นปี 2547

ห้าปีแห่งแรงกดดันที่รัฐบาลกระทำกับสื่อ ทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นสถาบันที่ได้รับความน่าเชื่อถือเกือบต่ำสุดจากประชาชน
และทำให้สื่อถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง ความเป็นอิสระอย่างมากมาย จนกล่าวได้ว่าไม่มียุคสมัยใดที่เรื่องของจริยธรรม และความรับผิดชอบของสื่อ จะถูกท้าทายและวิพากษ์วิจารณ์หนักเท่ากับยุคสมัยนี้

การร้องเรียนของผู้สื่อข่าวทีวีบางช่องว่าถูกปฏิบัติจากกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์อย่างไม่เป็นธรรมนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อสื่อ แม้การใช้ความรุนแรงของคนเหล่านั้นเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ และนักข่าวเหล่านี้เป็นเพียงปลายเหตุของปัญหาก็ตาม

แต่สื่อต้องใช้โอกาสนี้ใคร่ครวญว่ากระแสความไม่พอใจเหล่านี้สืบเนื่องมาจากสาเหตุใด การติดตามตรวจสอบการรายงานข่าววันที่ 11 กุมภาพันธ์ของสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องโดยโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ (Media Monitor)
ยืนยันให้เห็นว่าสื่อขาดความเป็นธรรมทั้งในมิติของการให้พื้นที่

การเสนอภาพและเสียงของแหล่งข่าว คือ ให้น้ำหนักไปที่การถ่ายทอดสดภารกิจของนายกฯ ที่ภาคใต้ และกลุ่มของผู้สนับสนุนนายกฯ มากกว่าการถ่ายทอดเหตุการณ์และสาระจากการชุมนุม

ผลการศึกษาที่ทำอย่างเป็นระบบเช่นนี้ น่าจะกระตุ้นให้สื่อได้พิจารณาตัวเอง และร่วมกันวางแนวทางที่จะเสนอข่าว ของทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาล อย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง ระมัดระวังการชี้นำ และการใช้ภาษา ที่ตอกย้ำอคติ หรือสร้างความเกลียดชังระหว่างกัน

สื่อต้องหาทางที่จะฝ่าพ้นวิกฤติแห่งศรัทธาที่สั่งสมมากว่าห้าปีออกไปให้ได้ ด้วยการแสดงให้เห็นว่า การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ยังเป็นเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของสื่อ ถ้าไม่เช่นนั้น เกียรติภูมิของสถาบันแห่งนี้ก็คงไม่หลงเหลืออีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: